ถอน “ค่าเหยียบแผ่นดิน” หน้าห้องครม. ท่องเที่ยวขอดูใหม่อีก 2 เดือน

07 มิ.ย. 2565 | 11:00 น.
อัปเดตล่าสุด :07 มิ.ย. 2565 | 22:42 น.

กระทรวงการท่องเที่ยวและกีฬา ขอถอน “ค่าเหยียบแผ่นดิน” ด่วนหน้าห้องครม. ไม่ขอดันสุดซอย “พิพัฒน์ รัชกิจประการ” รับจังหวะยังไม่เหมาะ แม้บรรจุเป็นวาระเพื่อพิจารณาแล้ว ขอเอากลับไปดูให้ครบทั้งบก น้ำ อากาศ ขอเวลา 2 เดือน ค่อยเสนอมาใหม่

นายพิพัฒน์ รัชกิจประการ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการท่องเที่ยวและกีฬา เปิดเผยว่า กระทรวงการท่องเที่ยวฯ ได้ขอถอนร่างประกาศคณะกรรมการนโยบายการท่องเที่ยวแห่งชาติ เรื่อง การจัดเก็บค่าธรรมเนียมการท่องเที่ยวภายในประเทศของนักท่องเที่ยวชาวต่างชาติที่เดินทางโดยอากาศยาน (ค่าเหยียบแผ่นดิน) ออกไปก่อน

 

ทั้งนี้เหตุผลของการขอถอนเรื่องดังกล่าวออกจากวาระครม. แม้ว่าเรื่องนี้จะถูกบรรจุไว้ในเอกสารครม.เป็นที่เรียบร้อยเป็นวาระเพื่อพิจารณาลำดับที่ 2 เสนอเป็นผลประชุมคณะกรรมการนโยบายท่องเที่ยวแห่งชาติ (ท.ท.ช.)

 

หลังจากกระทรวงการท่องเที่ยวฯ มองว่า อยากให้ดูรอบด้านมากกว่านี้ เพราะเรื่องนี้เป็นเรื่องที่ละเอียดอ่อนหากเสนอเข้ามาให้ครม.เห็นชอบ โดยเฉพาะในช่วงที่ประเทศไทยกำลังฟื้นฟู และกระตุ้นการท่องเที่ยว 

 

“เรื่องค่าเหยียบแผ่นดินเป็นเรื่องที่ละเอียดอ่อน ต้องคุยให้รอบด้าน ทุกมิติ เพื่อนำเรื่องการเหยียบแผ่นดินของนักท่องเที่ยวต่างชาติโดยจะไปดูให้ครบทุกช่องทาง จากมติเดิมที่กำหนดไว้เฉพาะทางเครื่องบิน คือให้ครอบคลุมทั้งทางเรือ และทางบกเข้าพิจารณาร่วมกัน คาดว่าจะนำเข้าพิจารณาในครม.อีกครั้งประมาณ 2 เดือนจากนี้” นายพิพัฒน์ กล่าว

สำหรับการเก็บจัดเก็บค่าธรรมเนียมการท่องเที่ยวประเทศไทยจากนักท่องเที่ยวต่างชาติ หรือที่เรียกกันติดปากว่า “ค่าเหยียบแผ่นดิน” นั่น ที่ประชุม ท.ท.ช. ได้เคาะตัวเลขออกมาว่าจะจัดเก็บในอัตรา 300 บาทต่อคนต่อครั้ง 

 

ทั้งนี้ ค่าธรรมเนียมที่จัดเก็บ 300 บาท ตามแนวทางเดิม จะแบ่งเงินออกเป็น 2 ก้อน ก้อนแรก 50 บาท จะนำไปจัดซื้อประกันภัยให้กับนักท่องเที่ยว กรณีเกิดอุบัติเหตุ จะครอบคลุมค่ารักษาพยาบาล ในวงเงินไม่เกิน 500,000 บาท และกรณีเสียชีวิต จะได้รับชดเชย 1 ล้านบาท มีระยะเวลาคุ้มครอง 45 วัน

 

ขณะเดียวกันวิธีการนี้้จะช่วยลดภาระงบประมาณด้านสาธารณสุข ที่มีหนี้สูญจากการสงเคราะห์ค่ารักษาพยาบาลให้แก่ชาวต่างชาติ เช่น 

  • ปี 2559 จำนวน 380 ล้านบาท 
  • ปี2560 จำนวน 346 ล้านบาท 
  • ปี 2561 จำนวน 305 ล้านบาท 

ส่วนเงินอีกก้อนที่เหลือ 250 บาท จะนำเข้ามาเก็บไว้ในกองทุนนโยบายท่องเที่ยวแห่งชาติ ที่มีปลัดกระทรวงท่องเที่ยวและกีฬา เป็นประธาน และมีคณะกรรมการจากหน่วยงานต่างๆ เช่น กระทรวงการคลัง สภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ สำนักงบประมาณ และภาคเอกชน ร่วมกันพิจารณาว่าจะนำเงินไปใช้อะไรได้บ้าง โดยเฉพาะการพัฒนาแหล่งท่องเที่ยว เช่น สร้างห้องน้ำระดับมาตรฐานตามแหล่งท่องเที่ยว

 

ส่วนขั้นตอนการดำเนินการหากผ่านการเห็นชอบจากที่ประชุม ครม. แล้ว และต้องประกาศในราชกิจจานุเบกษา ซึ่งจะมีผลหลังจากนั้น 90 วัน โดยการจัดเก็บค่าธรรมเนียมดังกล่าวเป็นไปตามพระราชบัญญัติ (พ.ร.บ.) นโยบายท่องเที่ยวแห่งชาติ พ.ศ.2562 เพื่อนำเงินมาพัฒนาแหล่งท่องเที่ยวและดูแลสวัสดิการนักท่องเที่ยวต่างชาติ

 

ปัจจุบันประเทศต่าง ๆ ทั่วโลกมีการเรียกเก็บค่าเหยียมแผ่นดินกว่า 40 เมือง/ประเทศ ใช้ชื่อเรียกแตกต่างกัน ไม่ว่าจะเป็น Tourist Tax (ภาษีนักท่องเที่ยว) Sayonara Tax (ภาษีซาโยนาระ) Occupancy Tax (ภาษีการเข้าพัก) ส่วนใหญ่นำเงินไปพัฒนาและปรับปรุงแหล่งท่องเที่ยว อนุรักษ์ทรัพยากรธรรมชาติ รักษาแหล่งโบราณสถาน ดังนี้

  • ภูฏาน เรียกเก็บ 200-250 เหรียญสหรัฐฯต่อคนต่อคืน 
  • ญี่ปุ่น 9.25 เหรียญต่อคน 
  • มาเลเซีย 2.45 เหรียญต่อคืน 
  • อินโดนีเซีย (บาหลี) 10 เหรียญต่อคน 
  • นิวซีแลนด์ 23.94 เหรีญต่อคน 
  • ฝรั่งเศส 5.71 เหรียญต่อคนต่อคืน 
  • เยอรมัน 5.71 เหรียญต่อคนต่อคืน หรือ 5%ของค่าโรงแรม 
  • สเปน 2.85 เหรียญต่อคนต่อคืน ไม่เกิน 7 คืนต่อคน 
  • สวิสเซอร์แลนด์ 2.85 เหรียญต่อคนต่อคืน และเรียกเก็บแตกต่างไปตามประเภทของที่พัก 
  • กรีซ 4.75 เหรียญต่อคนต่อคืน 
  • สหรัฐอเมริกา 16.25% ของค่าโรงแรมและที่พัก ซึ่งแตกต่างกันในแต่ละมลรัฐ
  • ไทยเรียกเก็บ 10 เหรียญต่อคนต่อครั้ง