การประชุมคณะกรรมการยุทธศาสตร์ด้านการพัฒนาจังหวัดชายแดนภาคใต้ (กพต.) นอกสถานที่ครั้งแรก ที่อ.หาดใหญ่ จ.สงขลา โดยมีพล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ รองนายกรัฐมนตรี เป็นประธาน ในวันที่ 8 มิ.ย. 2565 โดยหลังการประชุม จะพบปะกับตัวแทนภาคเอกชนจังหวัดสงขลา เรื่องแผนการฟื้นฟูเศรษฐกิจอำเภอหาดใหญ่ ทำให้บรรยากาศการฟื้นเมืองกลับมาคึกคัก
ผู้สื่อข่าวรายงานว่า วันที่ 1 มิถุนายน 2565 ศูนย์อำนวย การบริหารจังหวัดชายแดนภาคใต้ (ศอ.บต.) ได้ประชุมร่วมกับสถาบันภาคเอกชน โดยมี นายชนธัญ แสงพุ่ม รองเลขาธิการ ศอ.บต. เป็นประธานฯ อาทิ หอการค้าจังหวัดสงขลา สภาอุตสาหกรรมจังหวัดสงขลา สภาอุตสาหกรรมการท่องเที่ยวจังหวัดสงขลา สมาพันธ์เอสเอ็มอีไทยภาคใต้ สมาพันธ์เอสเอ็มอีไทยจังหวัดสงขลา
สมาคมการค้าธุรกิจยานยนต์จังหวัดสงขลา สมาคมโรงแรมหาดใหญ่-สงขลา สมาคมไทย-จีน จังหวัดสงขลา สมาคมอสังหาริมทรัพย์ จังหวัดสงขลา สมาคมมัคคุเทศก์อาชีพ จังหวัดสงขลา, สมาคมธุรกิจการท่องเที่ยวจังหวัดสงขลา, ชมรมร้านทองหาดใหญ่ ชมรมธนาคารพาณิชย์ จังหวัดสงขลา และสมาคมนํ้ายางข้นไทย
มีข้อสรุปเตรียมเสนอที่ประชุมกต.ในวันที่ 8 มิถุนายน 2565 นี้ เพื่อพิจารณาอนุมัติ 3 โครงการ คือ
1. เงินกู้ดอกเบี้ยตํ่า (Soft Loan) 25,000 ล้านบาท ในพื้นที่ 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้ และ 4 อำเภอจังหวัดสงขลา และจังหวัดสตูล เสนอให้ขยายพื้นที่ถึงอำเภอหาดใหญ่และอำเภอเมืองสงขลา พร้อมกับเพิ่มวงเงินเป็น 30,000 ล้านบาท เพื่อช่วยเหลือธุรกิจที่ได้รับผลกระทบจากโควิด-19 เช่น ธุรกิจโรงแรม บริการด้านการท่องเที่ยว โดยจะหมดอายุ 31 ธ.ค.2565 ซึ่งศอ.บต.จะขอขยายเวลารอบต่อไปอีก 3 ปี
2. โครงการเมืองท่องเที่ยวปลอดอากร เทศบาลนครหาดใหญ่ ซึ่งปัจจุบันมีการศึกษาโครงการ ฟรีเทรดโซน เพื่อเป็นต้นแบบ 3 เมือง คือ อำเภอเบตง จังหวัดยะลา อำเภอสุไหงโก-ลก จังหวัดนราธิวาส และอำเภอหนองจิก จังหวัดปัตตานี ต่อมามีประกาศฉบับที่ 2 ที่เพิ่งออกมาเพิ่มเติมอำเภอจะนะ จังหวัดสงขลา
“วันที่ 8 มิถุนายน 2565 นี้ จึงจะนำเสนอต่อที่ประชุมคือ ขอขยายขอบเขตมาศึกษาที่อำเภอหาดใหญ่ ให้เป็นเขตปลอดอากร (ฟรีเทรดโซน) ด้วย ซึ่งไม่น่าจะมีปัญหา”
แหล่งข่าวกล่าวอีกว่า ข้อ 3. คือ ขอเปิดสถานบริการ หรือเอ็นเตอร์เทนเมนต์ คอมเพล็กซ์ 24 ชั่วโมง ข้อนี้จะเสนอเข้าที่ประชุม แต่อาจยังไม่ได้ข้อสรุป ให้ดำเนินการได้เลยทันทีเหมือน 2 ข้อแรก เนื่องจากเป็นเรื่องที่กฎหมายควบคุม
“แต่สิ่งที่เราจะให้ข้อมูลต่อ กพต.ก็คือ การกำหนดเป็นโซนนิ่ง เพื่อให้สถานบริการเปิดได้ 24 ชั่วโมง ซึ่งหาดใหญ่มีโซนนิ่งที่จะรองรับอยู่แล้ว ซึ่งกลุ่มเป้าหมายที่เดินทางเข้ามาท่องเที่ยว ส่วนใหญ่เป็นนักท่องเที่ยวมาเลเซีย ที่ต้องการเที่ยวมากกว่าแค่เที่ยงคืน”
ที่ประชุมกพต. อาจมอบหมายกรมการปกครอง และสำนักงานตำรวจแห่งชาติ ไปศึกษาออกแบบ อาจออกมาในแบบนำ ร่องเพื่อรองรับการท่องเที่ยวหลังโควิด-19 เพื่อให้เป็น 3 โครงการหลัก ในการนำเสนอต่อที่ประชุม กพต. ตามแผนการฟื้นฟูเศรษฐกิจอำเภอหาดใหญ่
ในขณะที่ นายเจษฎา จิตรัตน์ ผู้ว่าราชการจังหวัดสงขลา เปิดเผยว่า ตอนนี้กำลังเตรียมทำแผนเสนอแนวคิดเรื่อง 3 เมือง “สมาร์ทซิตี้” คือ สงขลา หาดใหญ่ และสะเดา โดยรูปแบบของเมืองจะให้ทางองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นเป็นผู้ออกแบบ และกำหนดลักษณะของแต่ละพื้นที่ เพราะประชาชนในท้องถิ่นนั้นๆ จะต้องเป็น ผู้ดูแล โดยจะนำเสนอแผนก่อน
“โดยโครงการนี้ยังอยู่ในขั้นตอนวางแผนเพื่อให้ 3 เมืองเป็นเมืองสมาร์ทซิตี้ โดยงบประมาณที่ประเมินไว้เบื้องต้นราว 1,000 ล้านบาท” นายเจษฎา จิตรัตน์ กล่าว
นายสุรพล กำพลานนท์วัฒน์ กรรมการที่ปรึกษาการบริหารและการพัฒนาจังหวัดชายแดนภาคใต้ (ด้านเศรษฐกิจ) กล่าวว่า ศอ.บต.ได้จัดเวทีประชุมฟังความคิดเห็นและข้อเสนอแนะตัวแทนภาคธุรกิจ ภาครัฐ และผู้บริหารองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น (อปท.) ก่อนหน้านี้ ถึงการจัดทำแผนการฟื้นฟูเศรษฐกิจอำเภอหาดใหญ่ จังหวัดสงขลา โดยมีทั้งโครงการที่เคยเสนอไว้เดิม แต่ยังไม่ได้รับการจัดสรรงบประมาณ ทำให้ยังไม่สามารถดำเนินการได้ และโครงการใหม่ ที่จะมีผลต่อการฟื้นฟูเศรษฐกิจของเมืองหาดใหญ่ ซึ่งฝ่ายเลขาฯจะสรุปข้อเสนอต่างๆ เพื่อเสนอที่ประชุม กพต.สัญจรที่หาดใหญ่ 8 มิ.ย. 2565
สมชาย สามารถ/รายงาน
หน้า 10 หนังสือพิมพ์ฐานเศรษฐกิจ ปีที่ 42 ฉบับที่ 3,790 วันที่ 9-11 มิถุนายน พ.ศ.2565