คณะกรรมการยุทธศาสตร์ด้านการพัฒนาจังหวัดชายแดนภาคใต้ (กพต.) ซึ่งมีพล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ รองนายกฯ เป็นประธาน นัดประชุมนอกสถานที่เป็นครั้งแรก ที่อำเภอหาดใหญ่ ในวันที่ 8 มิถุนายน 2565 ศูนย์อำนวยการบริหารจังหวัดชายแดนภาคใต้(ศอ.บต.)จัดเวทีระดมสมองภาคเอกชน ผู้นำหน่วยงานภาครัฐ และผู้บริหารองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น(อปท.) ในพื้นที่ เพื่อสรุปข้อเสนอแผนฟื้นฟูเศรษฐกิจอำเภอหาดใหญ่อย่างต่อเนื่องคึกคัก
ผู้สื่อข่าวรายงานว่า เมื่อวันที่ 25-26 พฤษภาคม 2565 ที่ผ่านมา ณ ห้องคอนเวนชั่น เซ็นเตอร์ โรงแรมบุรีศรีภู อ.หาดใหญ่ จ.สงขลา ศอ.บต. จัดการประชุมรับฟังความคิดเห็นในการจัดทำแผนการฟื้นฟูเศรษฐกิจอำเภอหาดใหญ่ จังหวัดสงขลา นำโดยนาวาเอก จักรพงษ์ อภิมหาธรรม ผู้อำนวยการกองส่งเสริมและสนับสนุนงานพัฒนาฝ่ายพลเรือน ศูนย์อำนวยการบริหารจังหวัดชายแดนภาคใต้ (ศอ.บต.) ซึ่งการรับฟังจะแบ่งออกเป็น 2 ส่วน ประกอบด้วยตัวแทนภาคเอกชน และตัวแทนภาครัฐและองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นในอ.หาดใหญ่และใกล้เคียง
ซึ่งการจัดรับฟังความคิดเห็นในครั้งนี้ เนื่องจากสภาพเศรษฐกิจของเมืองหาดใหญ่อยู่ในสภาพที่ย่ำแย่ ทางศอ.บต.ก็เล็งเห็นว่า อำเภอหาดใหญ่เป็นพื้นที่สำคัญทางเศรษฐกิจ ซึ่งจำเป็นที่จะต้องแก้ไขและช่วยกันฟื้นฟูอย่างเร่งด่วน เนื่องจากจะมีผลกระทบต่อพื้นที่ข้างเคียง รวมถึงจังหวัดชายแดนภาคใต้ด้วย
นายสุรพล กำพลานนท์วัฒน์ กรรมการที่ปรึกษาการบริหารและการพัฒนาจังหวัดชายแดนภาคใต้ (ด้านเศรษฐกิจ) ซึ่งทำหน้าที่ประธานที่ประชุมวันที่ 26 พฤกษาคม 2565 กล่าวว่า ก่อนหน้าหนึ่งวัน ได้ร่วมประชุมกับองค์กรภาคธุรกิจ ในฐานะภาคเอกชน ซึ่งได้ข้อมูลจากภาคเอกชนสำหรับการจัดทำแผนฟื้นฟูเศรษฐกิจอำเภอหาดใหญ่
ซึ่งเป็นการนำเสนอทั้งโครงการที่เคยมี แต่ยังไม่ได้รับการจัดสรรงบประมาณ ทำให้ยังไม่สามารถดำเนินการได้ ส่วนโครงการใหม่ที่ยังไม่ได้นำเสนอ แต่มีผลต่อการฟื้นฟูเศรษฐกิจของเมืองหาดใหญ่ ก็จะสามารถนำเสนอได้
ข้อเสนอทั้งหมดทางฝ่ายเลขาฯการประชุมจะทำบันทึกสรุป เพื่อนำเสนอต่อคณะกรรมการยุทธศาสตร์ด้านการพัฒนาจังหวัดชายแดนภาคใต้ (กพต.)ที่มีรองนายกรัฐมนตรี พลเอก ประวิตร วงษ์สุวรรณ เป็นประธานในวันที่ 8 มิถุนายน 2565 นี้ ซึ่งจะจัดให้มีการประชุมกพต.กันที่อำเภอหาดใหญ่ จังหวัดสงขลา
นางสาวนิโสรยา แวหะยี นักวิเคราะห์นโยบายและแผนชำนาญการ ศอ.บต. กล่าวว่า แผนการฟื้นฟูเศรษฐกิจอำเภอหาดใหญ่ที่ได้จากที่ประชุมวันที่ 25-26 พฤษภาคม จะมีการประมวลผลและนำเสนอต่อคณะกรรมการยุทธศาสตร์ด้านการพัฒนาจังหวัดชายแดนภาคใต้ (กพต.) ซึ่งเป็นกลไกตามกฎหมายตามของพรบ.การบริหารราชการจังหวัดชายแดนภาคใต้ ซึ่งการประชุมคณะกรรมการยุทธศาสตร์ด้านการพัฒนาจังหวัดชายแดนภาคใต้ (กพต.)
ครั้งแรกของรัฐบาลจะประชุมครั้งแรกในพื้นที่จังหวัดชายแดนภาคใต้ ก็คือที่อำเภอหาดใหญ่ ในวันที่ 8 มิถุนายน 2565 ที่จะถึงนี้ ซึ่งหลังจากที่มีการประชุมเสร็จก็จะมีการพบปะนักธุรกิจ
“ท่านรองนายกรัฐมนตรี พลเอก ประวิตร วงษ์สุวรรณ ท่านจะพบปะกับนักธุรกิจในพื้นที่ด้วย ซึ่งที่ผ่านมา กพต.ส่วนใหญ่จะประชุมที่ทำเนียบรัฐบาล เพราะได้ให้ความสำคัญ และอยากจะพบปะกับพี่น้องประชาชนในพื้นที่ โดยเฉพาะภาคธุรกิจ เนื่องจากทราบมาว่าสภาพเศรษฐกิจหาดใหญ่ไม่ดี จึงอยากจะฟื้นฟูเศรษฐกิจอำเภอหาดใหญ่โดยเร็ว"
สำหรับแนวทางการฟื้นเศรษฐกิจอำเภอหาดใหญ่ จังหวัดสงขลา ที่นำเสนอโดยภาคเอกชนในพื้นที่ก็คือ การกระตุ้นเศรษฐกิจโดยการพัฒนาการท่องเที่ยวและบริการ การยกระดับโครงสร้างพื้นฐานและสนับสนุนกระบวนการผลิตที่เกี่ยวข้อง โดยมีแนวทางการฟื้นฟูเศรษฐกิจอำเภอหาดใหญ่ จังหวัดสงขลาและจังหวัดใกล้เคียง การสร้างจุดที่เป็นสัญลักษณ์การท่องเที่ยวแห่งใหม่ การฟื้นฟูเศรษฐกิจตามแนวคิดเศรษฐกิจสร้างสรรค์ การกำหนดให้อำเภอหาดใหญ่เป็นเขตปลอดอากร
โดยการดำเนินการใน 3 แผนงาน ประกอบด้วย
1.แผนงานส่งเสริมการท่องเที่ยวและอุตสาหกรรมบริการ คือ การขอขยายเวลาเปิดสถานบันเทิงเป็น 24 ชั่วโมง การเยียวยาผู้ประกอบกิจการท่องเที่ยว ให้มีเทศกาล งานแสดง ในระดับสากล การพัฒนาแหล่งท่องเที่ยวใหม่ การประชุมนานาชาติ
2.แผนงานการขับเคลื่อนการพัฒนาเมืองอัจฉริยะ (Smart City) และ
3.แผนงานส่งเสริมการค้าและการลงทุนในพื้นที่ เช่นขอให้พิจารณากำหนดพื้นที่โครงการให้ความช่วยเหลือทางการเงินแก่ผู้ประกอบกิจการอำเภอหาดใหญ่
ขณะที่ ดร.สิทธิพงษ์ สิทธิภัทรประภา นายกสมาคมโรงแรมหาดใหญ่-สงขลา กล่าวว่า ได้นำเสนอมาตรการต่อ ศอ.บต. เพื่อฟื้นฟูเศรษฐกิจการท่องเที่ยวของสงขลา ออกเป็น 2 ระยะ คือ
1.ระยะเร่งด่วน เพื่อเร่งตัวเลขนักท่องเที่ยวต่างชาติกลับมา ดังนี้
1.1 ยกเลิก Thailandpass และประกันโควิดสำหรับนักท่องเที่ยวมาเลเซีย
1.2 ปรับปรุงบริเวณหน้าด่าน ทั้งระบบสาธารณูปโภคและงานบริการ 1.3 สร้างศูนย์แก้ไขปัญหาหลอกลวงและช่วยเหลือนักท่องเที่ยว (Tourist Assistance Center (TAC) ที่ด่านสะเดา
2.ระยะยาว เพื่อสร้างตลาดกลุ่มคนไทยและมาเลเซีย
2.1 ผลักดันและสร้างการท่องเที่ยวใน 14 อำเภอสงขลา 14 อำเภอเกิด ส่งผลขับเคลื่อนเศรษฐกิจในหาดใหญ่
2.2 การกำหนดเขต Duty Free Zone ที่ด่านสะเดา เพื่อสร้างจุดขายใหม่
2.3 การกำหนดโซนทำ Entertainment Complex
ส่วนมาตรการช่วยเหลืออื่นๆ ได้แก่ 1.เงินกู้ดอกเบี้ยต่ำ (Softloan) เพื่อช่วยผู้ประกอบการกลับมาเปิดกิจการ 2.ลดการจัดเก็บภาษีที่ดินและสิ่งปลูกสร้างปี 2565 จาก 100 % ให้เหลือ 10 % เท่ากับปี 2564
โดยทางภาคเอกชนหวังเป็นอย่างยิ่งว่า ด้วยบทบาทพิเศษของ ศอ.บต. ในการกำกับดูแล 5 จังหวัดชายแดนใต้ และขึ้นตรงต่อนายกรัฐมนตรี จะช่วยขับเคลื่อนแผนฟื้นเศรษฐกิจพื้นที่ภาคใต้ตอนล่างให้กลับมาคึกคักได้อีกครั้ง