สำนักงานคณะกรรมการกิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ (กสทช.) เปิดรับฟังความคิดเห็นสาธารณะในวงจำกัด (Focus Group) ต่อกรณีการรวมธุรกิจระหว่างบมจ.ทรู คอร์ปอเรชั่น (TRUE) และบมจ.โทเทิ่ล แอ็คเซ็ส คอมมูนิเคชัน (DTAC) ผู้ประกอบการจะเหลือ 2 รายใหญ่ แม้จะมีการแข่งขันกัน แต่จะมีผลกระทบเกิดขึ้น โดยเน้นผลทางเศรษฐศาสตร์ที่เกิดจากการรวมกิจการ
นายประถมพงศ์ ศรีนวล เศรษฐกรเชี่ยวชาญ กสทช. ระบุว่า การวิเคราะห์ผลกระทบการควบรวมที่มีต่อเศรษฐกิจโดยรวม ผลการศึกษาพบว่า ในภาพรวมอัตราค่าบริการมีแนวโน้มเพิ่มขึ้นทั้งหมด ทั้งส่วนบริการพรีเพด และโพสเพด โดยพรีเพดมีอัตราเพิ่มขึ้นที่สูงกว่า
ส่วนการประมาณการผลกระทบของการรวมธุรกิจ มีแนวโน้มที่การรวมกิจการจะมีผลต่อราคา โดยอัตราค่าบริการมีแนวโน้มเพิ่มน้อยที่สุดในกรณีไม่มีการรวมมือกันกำหนดราคาและมีประสิทธิภาพเชิงต้นทุนที่ 10% แต่อัตราค่าบริการจะเพิ่มขึ้นมากที่สุดในกรณีที่มีการรวมมือกันระดับสูง
กรณีไม่มีการร่วมมือกัน ราคาเพิ่มขึ้นในช่วง 2.03-19.53% กรณีร่วมมือกันในระดับต่ำ ราคาเพิ่มขึ้นในช่วง 12.57-39.81% กรณีร่วมมือกันระดับสูง ราคาเพิ่มขึ้นในช่วง 49.30-244.50%
ส่วนการศึกษาผลกระทบของการรวมกิจการต่อการเติบโตของ GDP กล่าวได้ว่า มีผลต่อการเติบโตของเศรษฐกิจ ระดับความรุนแรงของผลกระทบจะขึ้นกับ ระดับการร่วมมือของผู้ประกอบการหลังควบรวมเป็นอย่างมาก กรณีที่ร่วมมือกันในระดับสูง GDP ลดลงในช่วง 94,427 - 322,892 ล้านบาท กรณีร่วมมือกันในระดับต่ำ GDP ลดลงในช่วง 27,148 - 53,147 ล้านบาท กรณีไม่มีการร่วมมือกัน GDP ลดลงในช่วง 8,244 - 18,055 ล้านบาท
สรุปผลการศึกษา: อัตราเงินเฟ้อสูงขึ้น กรณีที่ร่วมมือกันในระดับสูง อัตราเงินเฟ้อสูงขึ้นในช่วง 0.60% - 2.07% กรณีร่วมมือกันในระดับต่ำ อัตราเงินเฟ้อสูงขึ้นในช่วง 0.17% - 0.34% กรณีไม่มีการร่วมมือกัน อัตราเงินเฟ้อสูงขึ้นในช่วง 0.05% - 0.12%