บอร์ด กสทช.มีมติ 3-2 มีอำนาจ “อนุญาต-ไม่อนุญาต” ควบรวมทรู-ดีแทค

03 มิ.ย. 2565 | 00:30 น.

บอร์ด กสทช. มีลงมติ 3 ต่อ 2 สั่งสำนักงานฯ เพิ่มข้อความอำนาจตามประกาศ ปี 49 หาก ควบรวมทรู-ดีแทค เข้าข่ายผูกขาดตลาดสามารถสั่งไม่อนุญาตได้ หลังจากที่ซูเปอร์บอร์ดยื่นฟ้องและศาลปกครองนัดไต่สวนเพิ่ม 6 มิ.ย.นี้

แหล่งข่าวจากสำนักงานคณะกรรมการกิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ (กสทช.) กล่าวว่า เมื่อวันที่ 1 มิ.ย.ที่ผ่านมา คณะกรรมการ (บอร์ด) กสทช. ได้มีการประชุมร่วมกันโดยมีวาระกรณีที่นายณภัทร วินิจฉัยกุล หนึ่งในกรรมการติดตามและประเมินผลการปฏิบัติงาน ของคณะกรรมการกิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ (กสทช.) หรือ ซูเปอร์บอร์ด ได้ยื่นศาลปกครองกลางเมื่อ 5 พ.ค.2565 ที่ผ่านมา เรื่องการแก้ไขประกาศ กสทช. เกี่ยวกับการควบรวมกิจการทรู- ดีแทค

บอร์ด กสทช.มีมติ 3-2 มีอำนาจ “อนุญาต-ไม่อนุญาต” ควบรวมทรู-ดีแทค

โดยขอให้ศาลมีคำสั่งคุ้มครองฉุกเฉินไม่นำการแก้ไขประกาศของ กสทช. ปี 2561 มาบังคับใช้ เนื่องจากมีความไม่ชอบด้วยกฎหมายหลายประการ เช่น ประกาศในปี 2561 ขัดกับกฎหมายที่มีระดับใหญ่กว่าอย่าง พ.ร.บ. และยังขัดกับประกาศกสทช. ปี 2549 ที่ออกแบบเอาไว้ว่าการควบรวมจะต้องได้รับการอนุญาตไม่ใช่แจ้งเพื่อทราบต่อเลขาธิการกสทช.ภายใน 60 วันเท่านั้น

 

ทั้งนี้ในวันที่ 5 มิ.ย.นี้ ศาลปกครองจะถึงกำหนดเรียกตัวแทนจากสำนักงาน กสทช.เข้าชี้แจงคำร้องดังกล่าว ดังนั้น ที่ประชุมบอร์ดกสทช.จึงได้ลงมติว่าจะเกี่ยวกับเรื่องดังกล่าว โดยผลออกมาที่มติ 3 ต่อ 2 โดยสรุปคือ ลงคะแนนให้สำนักงาน กสทช.เพิ่มถ้อยคำลงไปในคำชี้แจงต่อศาลปกครองเพิ่มเติมว่า "กสทช. มีหน้าที่ในการนำหลักเกณฑ์ของประกาศป้องกันการผูกขาด ปี 2549 และประกาศควบรวมธุรกิจ 2561 มาใช้ควบคู่กัน

เพื่อเป็นการกำหนดมาตรการเพื่อป้องกันมิให้มีการกระทำอันเป็นการผูดขาดหรือก่อให้เกิดความไม่เป็นธรรมในการแข่งขันในกิจการโทรคมนาคมดังที่กล่าวไว้ในข้อ 1.1 ข้างต้น กสทช. (เดิมคือ คณะกรรมการกิจโทรคมนาคมแห่งชาติ หรือ “กทช.”) ได้ออกประกาศคณะกรรมการกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ เรื่อง มาตรการเพื่อป้องกันมิให้มีซึ่งกำหนด ห้ามมิให้มีการถือครองธุรกิจในบริการประเภทเดียวกัน ไม่ว่าจะทำโดยทางตรงหรือทางอ้อม เว้นแต่จะได้รับอนุญาตจาก กสทช. จากเดิมที่สำนักงานกสทช.ในคำชี้แจงเบื้องต้นไปเพียงว่า กสทช.ไม่มีอำนาจ "อนุญาต หรือ ไม่อนุญาต" กรณีการควบรวม เพราะยึดตามประกาศกสทช.ปี 2561 ที่ทำได้เพียงรับทราบรายงานเท่านั้น

 

นอกจากนี้ บอร์ด กสทช.ก็ยังมีความกังวล ตามที่นายณภัทร ยังระบุในคำฟ้องอีกว่า ประเด็นที่มีนัยสำคัญในการควบรวมทรู-ดีแทคพบว่าจะขัดต่อบทบัญญัติกฏหมายที่เกี่ยวข้องโดยชัดเจน ได้แก่ พระราชบัญญัติ (พ.ร.บ.) องค์กรจัดสรรคลื่นความถี่ พ.ศ.2553 และ พ.ร.บ.ประกอบกิจการโทรคมนาคม พ.ศ.2544

 

รวมทั้งประกาศที่เกี่ยวข้องในเรื่องนี้ด้วย รวมไปถึงบทบัญญัติรัฐธรรมนูญ ฉบับปัจจุบัน มีหลักการชัดเจนเขียนไว้ในมาตรา 60 ที่ระบุว่า คลื่นเป็นสมบัติของชาติ เพราะฉะนั้นในการนำคลื่นมาใช้ประกอบกิจการวิทยุกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคม จะต้องทำเพื่อประโยชน์สูงสุดของประชาชน ประโยชน์สาธารณะ และความมั่นคงของรัฐ

ดังนั้นการดำเนินการใดๆ ที่ส่งผลกระทบต่อ 3 สิ่งนี้ เป็นสิ่งที่ขัดต่อหลักการ ซึ่งสิ่งที่ กสทช.พยายามทำและไม่กำกับดูแลในเรื่องดังกล่าว มีความสุ่มเสี่ยงว่าจะเป็นการดำเนินการที่ขัดต่อกฏหมาย ในมาตรา 157 เรื่องของละเว้นการปฏิบัติหน้าที่ของหน่วยงานรัฐในการทำงานเพื่อรักษาผลประโยชน์ของประชาชนและประเทศเป็นที่ตั้ง ตามพันธกิจในการกำกับดูแลกิจการโทรคมนาคมอย่างมีประสิทธิภาพ และโปร่งใส

 

แหล่งข่าวจาก กสทช. กล่าวต่อไปว่า ในวันที่ 7 มิ.ย.นี้ สำนักงานกสทช.จะจัดการรับฟังความคิดเห็นสาธารณะในวงจำกัด (โฟกัส กรุ๊ป) รอบนักวิชาการ ซึ่งจะเป็นโฟกัส กรุ๊ปครั้งสุดท้าย หลังจากที่ก่อนหน้านี้จัดโฟกัส กรุ๊ปรอบภาคธุรกิจ และอุตสาหกรรมที่เกี่ยวข้องไปเมื่อวันที่ 9 พ.ค. 2565 จากนั้น ครั้งที่สองเมื่อวันที่ 26 พ.ค. 2565 จัดโฟกัส กรุ๊ปในรอบผู้บริโภคไปแล้ว โดยหลังจากจบโฟกัส กรุ๊ปทั้ง 3 รอบแล้ว สำนักงานกสทช.มีหน้าที่รวบรวมรายงาน ความคิดเห็นจากทุกฝ่ายที่ส่งมา และจากการรับฟังความเห็นโฟกัส กรุ๊ป จากนั้นจะต้องสรุปรายงานทั้งหมดส่งมาให้บอร์ดตัดสินใจว่าจะมีมติออกมาเกี่ยวกับดีลควบรวมดังกล่าวอย่างไร

 

ทั้งนี้ บอร์ดกสทช.ได้กำหนดกรอบเวลาให้สำนักงาน กสทช.เร่งดำเนินการดังกล่าวนี้ให้เสร็จภายใน 60 วัน หลังจากที่มีมติไปเมื่อวันที่ 10 พ.ค.ที่ผ่านมา ดังนั้น ภายในวันที่ 10 ก.ค.นี้ มีความเป็นไปได้ว่า จะได้เห็นความชัดเจนจากบอร์ด กสทช.อย่างเป็นทางการว่าจะ อนุญาต หรือ ไม่อนุญาตให้ผู้ขอควบรวมสามารถดำเนินการร่วมธุรกิจกันได้หรือไม่ ซึ่งบอร์ดกสทช.ได้สั่งให้สำนักงานกสทช.เตรียมคำชี้แจงต่อศาลปกครองไว้ด้วยใน 2 ด้าน คือ หากอนุญาตให้ควบรวม ก็มีความเป็นได้ว่าจะถูกฟ้องจาก บมจ.แอดวานซ์ อินโฟร์ เซอร์วิส (เอไอเอส) ที่ออกมาคัดค้านการควบรวมมาตลอด ส่วนหากมีมติออกมาว่า ไม่อนุญาตให้ควบรวม ก็แน่นอนว่าผู้ขอควบรวม คือ ทรู และ ดีแทค จะยื่นฟ้องต่อบอร์ดกสทช.แน่นอน

 

สำหรับประกาศคณะกรรมการกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ (กทช.เดิม) เรื่อง มาตรการเพื่อป้องกันมิให้มีการกระทำอันเป็นการผูกขาดหรือก่อให้เกิดความไม่เป็นธรรมในการแข่งขันในกิจการโทรคมนาคม พ.ศ. 2549 (“ประกาศป้องกันการผูกขาด 2549”) ซึ่งกำหนด ห้ามมิให้มีการถือครองธุรกิจในบริการประเภทเดียวกัน ไม่ว่าจะทำโดยทางตรงหรือทางอ้อม เว้นแต่จะได้รับอนุญาตจาก กสทช. ตามนัยข้อ 3 ประกอบข้อ 8 ของประกาศป้องกันการผูกขาด 2549 ฉบับดังกล่าว

 

โดยต่อมาเมื่อ กสทช. พิจารณารายละเอียดของประกาศป้องกันการผูกขาด 2549 แล้ว เห็นว่าประกาศดังกล่าวยังมิได้ครอบคลุมการควบรวมกิจการไว้ได้ทั้งหมด เพื่อเป็นการป้องกันในเบื้องต้นมิให้ผู้รับใบอนุญาตใช้ช่องทางการหลบเลี่ยงจำนวนหุ้นที่ถือครองผ่านบุคคลอื่น หรือหลบเลี่ยงผ่านโครงสร้างการถือหุ้นที่ซับซ้อน ซึ่งอาจเป็นสาเหตุให้มีการกระทำที่เกิดการผูกขาดในตลาดโทรคมนาคมในประเทศไทย รวมถึงส่งเสริมการบังคับใช้ พ.ร.บ. กิจการโทรคมนาคม และประกาศป้องกันการผูกขาด ปี 2549 ให้มีประสิทธิภาพมากยิ่งขึ้น กสทช. จึงได้ออกประกาศ กทช. เรื่อง หลักเกณฑ์และวิธีการการควบรวมและการถือหุ้นไขว้ในกิจการโทรคมนาคม พ.ศ. 2553 (“ประกาศควบรวมธุรกิจ 2553”)

 

ทั้งนี้ ข้อ 8 และข้อ 9 แห่งประกาศควบรวมธุรกิจ 2553 ดังกล่าว กำหนดห้ามมิให้ผู้รับใบอนุญาตหรือผู้มีอำนาจควบคุมของผู้รับใบอนุญาตกระทำการควบรวมกิจการอันส่งผลให้เกิดการครอบงำตลาดที่เกี่ยวข้อง โดยพิจารณาจากค่าดัชนี HHI ที่วัดจากส่วนแบ่งตลาดของผู้รับใบอนุญาตแต่ละรายในตลาด ก่อนและหลังการควบรวม กรณีที่ก่อนการควบรวมมีค่าดัชนี HHIมากกว่า 1800 จุด และหลังควบรวมแล้ว ทำให้ค่าดัชนี HHI เปลี่ยนแปลงเพิ่มขึ้นมากกว่า 100 จุด แสดงว่าการควบรวมกิจการดังกล่าว ทำให้ตลาดที่เกี่ยวข้องมีการกระจุกตัวสูง และส่งผลด้านลบต่อการแข่งขัน อันถือว่าเป็นการครอบงำตลาดที่เกี่ยวข้อง และกสทช. ต้องสั่งห้ามควบรวมกิจการดังกล่าว

 

โดยก่อนหน้านี้ มีนักวิชาการสำนัก ออกมาระบุว่า กรณีการควบรวมทรู-ดีแทคที่มีผลทำให้ค่าดัชนี HHI เพิ่มขึ้นจากเดิมที่ 3,575 จุด เป็น 4,734 จุด หรือเพิ่มขึ้นถึง 1,159 จุด หรือเกือบ 12 เท่า นั้น จะไม่อยู่ในลักษณะที่ กสทช. จะอนุญาตให้มีการควบรวมกิจการกันได้ หากประกาศควบรวมธุรกิจ 2553 ยังคงมีผลใช้บังคับอยู่ในปัจจุบัน ซึ่งประกาศควบรวมธุรกิจ 2553 ถูกยกเลิกไปในปี 2561 ที่ กสทช. ได้ออกประกาศควบรวม ปี 2561 เดิม ระบุในประกาศควบรวม ปี 2561 นั้น กำหนดให้ กสทช. มีหน้าที่ต้องพิจารณาว่าจะอนุมัติการควบรวมกิจการโทรคมนาคมได้หรือไม่ ตาม ข้อ 9 ซึ่งกำหนดว่า “การรายงานตามข้อ 5 ข้อ 6 ข้อ 7 หรือข้อ 8 ให้ถือเป็นการขออนุญาตจาก กสทช. ตามข้อ 8 ของประกาศคณะกรรมการกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ เรื่อง มาตรการป้องกันมิให้มีการกระทำอันผูกขาดหรือก่อให้เกิดความไม่เป็นธรรมในการแข่งขันในกิจการโทรคมนาคม พ.ศ. 2549” แต่ในท้ายที่สุดมีการปรับแก้ข้อความในประกาศให้เปลี่ยนจากการขออนุญาตเป็นรับทราบรายงาน