"กุลิศ"เร่งแผน4Dยกเครื่องกิจการไฟฟ้าสู่พลังงานสะอาด

08 มิ.ย. 2565 | 10:57 น.
อัปเดตล่าสุด :08 มิ.ย. 2565 | 19:07 น.

"กุลิศ"เปิดแผนพลังงานชาติ เปลี่ยนผ่านกิจการไฟฟ้าสู่พลังงานสะอาด ภายใต้แนวทางสี่สหายตัว D ลดคาร์บอน เติมเทคโนโลยีดิจิทัลเพิ่มประสิทธิภาพ กระจายหน่วยผลิต และปรับรื้อกติกาพลังงานใหม่ ร่างระเบียบ"กรีน ทารีฟ" ปลดล็อกระบบไฟฟ้า เปิดทางผู้ผลิต-ผู้ใช้ซื้อขายกันเอง

นายกุลิศ สมบัติศิริ ปลัดกระทรวงพลังงาน บรรยายพิเศษ หัวข้อ “แผนพลังงานชาติ สู่เป้าหมายการลด GHG” ในการสัมนาออนไลน์ TEA FORUM 2022 “Mission Possible: Energy Transition to the Next 2050” โดยกระทรวงพลังงาน และสถาบันวิทยาการพลังงาน ชี้ถึงแผนพลังงานชาติ เพื่อมุ่งสู่เป้าหมาย Net Zero  ว่า  ได้มีการจัดทำแผนพลังงานชาติ วางกรอบนโยบาย"4D" เพื่อแปลงแผนสู่ภาคปฎิบัติให้กิจการไฟฟ้าไทยเป็นพลังงานสะอาด 

 

โลกปล่อยก๊าซเรือนกระจกถึง 51,000 ล้านตันต่อปี แม้ในช่วงโควิด-19 ก็ลดลงเพียงเล็กน้อย การลดและงดปล่อยคาร์บอนไดออกไซด์สู่บรรยากาศ เป็นเป้าหมายที่ท้าทายทั่วโลกรวมทั้งประเทศไทย ที่ปล่อยปีละ 244.4 ล้านตัน โดยภาคไฟฟ้าและขนส่งมีสัดส่วนมากสุด 64 % หรือ 157 ล้านตัน

แม้ที่ผ่านมาสัดส่วนการผลิตไฟฟ้าจากพลังงานหมุนเวียนจะเติบโตขึ้นเป็นลำดับ แต่หากปล่อยให้โตตามธรรมชาติ โดยไม่มีนโยบายส่งเสริมเพิ่มเติมอื่น ๆ แล้ว เราจะไม่สามารถบรรลุเป้าหมายความเป็นกลางทางคาร์บอนในปี 2050 และงดปล่อยคาร์บอนสู่บรรยากาศในปี 2065 ตามที่ประกาศไว้ 

 

เพื่อไปสู่เป้าหมายดังกล่าว  กระทรวงพลังงานได้จัดทำแผนยุทธศาสตร์ 20 ปี เพื่อลงทุนเทคโนโลยีและนวัตกรรมพลังงานสะอาด ลดการปล่อยคาร์บอนไดออกไซด์ขึ้น โดยแนวนโยบายแผนพลังงานชาติ มีเป้าหมาย 4 ประการ คือ

\"กุลิศ\"เร่งแผน4Dยกเครื่องกิจการไฟฟ้าสู่พลังงานสะอาด

1.เพิ่มสัดส่วนการผลิตไฟฟ้าใหม่จากพลังงานหมุนเวียนเป็นไม่น้อยกว่า 50 % จากเดิมที่ตั้งไว้ 23 %

 

2.เพิ่มสัดส่วนการใช้รถยนต์ไฟฟ้า(อีวี)ในภาคขนส่งเป็น 30 % ของการผลิตรถยนต์ในปี 2030 (พ.ศ.2573) หรือนโยบาย 30@30 ซึ่งมีทั้งมาตรการภาษีและการอุดหนุนราคาเพื่อส่งเสริมการใช้รถอีวี และจะต่อด้วยการส่งเสริมติดตั้งสถานีชาร์จอีวี ที่ปัจจุบันมี 1,000 แห่ง ให้เป็น 20,000 แห่งใน 8 ปีข้างหน้า 

 

3.เป้าหมายการปรับเพิ่มประสิทธิภาพการใช้พลังงานมากกว่า 30 % พัฒนาเทคโนโลยีและนวัตกรรมการบริหารจัดการสมัยใหม่ ให้มีประสิทธิภาพเพิ่ม ลดการใช้พลังงานลง ซึ่งเท่ากับลดการปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ลง   และ

 

4. ปรับโครงสร้างกิจการพลังงานในช่วงเปลี่ยนผ่าน ตามแนวทาง 4 D  หรือ 4 สหายตัว"D"  เพราะแม้จะใช้พลังงานไฟฟ้าเพิ่มขึ้น แต่ถ้าการผลิตกระแสไฟฟ้ายังใช้ฟอสซิลก็ยังปล่อยคาร์บอน จึงต้องเปลี่ยนผ่านสู่พลังงานสะอาด  

 

แนวทาง 4 D เพื่อปรับโครงสร้างกิจการพลังงานนั้น ประกอบด้วย

 

4.1 Decarbonization ลดการปล่อยคาร์บอนในกิจการพลังงาน โดยปลดโรงไฟฟ้าเก่าที่ใช้ฟอสซิล เปลี่ยนเป็นโรงไฟฟ้าพลังงานสะอาด(Green Energy) ใช้พลังงานทดแทน ให้มีสัดส่วนสูงขึ้นเป็นลำดับ ไปจนถึงการใช้พลังงานจากไฮโดรเจน ซึ่งแผน PDP 2022 ใหม่ ได้ปรับเพิ่มการผลิตไฟฟ้าจากพลังงานสะอาดให้มีสัดส่วนเพิ่มขึ้น เช่น จากโซลาร์ฟาร์มหรือโซลาร์ลอยน้ำ เป็น 4,500 MW จากโซลาร์รูฟ 200 MW โรงไฟฟ้าขยะชุมชน 400 MW รับซื้อไฟฟ้าพลังน้ำจากลาวเพิ่ม เป็นต้น

 

4.2 ด้าน Digitalization หรือการใช้เทคโนโลยีดิจิทัล หรือ IoT มาเพิ่มประสิทธิภาพกิจการพลังงาน ที่เรียกว่า IoE โดยได้ดำเนินการทั้งประมวลผลข้อมูล พัฒนาแพลตฟอร์มเพื่อให้สามารถป้อนไฟฟ้าจากพลังานทดแทนส่วนเหลือ ให้สามารถส่งขายเข้าระบบได้ เป็นแบบ 2 ทาง จากการพัฒนาระบบ Grid Modernization และSmart Meter  ให้เป็นระบบสายส่งอัจฉริยะ สามารถคำนวณหักกลบปริมาณไฟฟ้าที่ใช้กับที่ผลิตได้ หากมีส่วนเหลือสามารถขายเข้าระบบได้

 

4.3 ด้าน Decentralization เปลี่ยนระบบจากลงทุนโรงไฟฟ้าขนาดใหญ่ ให้เล็กลงจนถึงระดับ IPS หรือผู้ผลิตไฟฟ้าใช้เอง ตั้งเป็นหย่อม ๆ กระจายอยู่ทั่วประเทศ พร้อมพัฒนาโครงข่าย Micro Grid ผลิตและป้อนไฟฟ้าใช้กันเองในกลุ่ม หากมีส่วนเหลือสามารถขายเข้าระบบได้ทางออนไลน์ให้ประชาชนใช้ในราคาถูกได้ ซึ่งเวลานี้มีเอกชนหลายรายสนใจเตรียมลงทุนแล้ว มีกรณีตัวอย่างของอะเบอร์ดีนในอังกฤษ รวบรวมไฟฟ้าจากแผงโซลาร์รูฟในเมืองมารวมศูนย์กัน ผลิตไฟฟ้าเป็นเครือข่าย สามารถเอาส่วนเหลือส่งขายทางออนไลน์ให้อีกเมือง เป็นต้น

 

4.4 ด้าน Deregulation การแก้ไขกฎระเบียบหลักเกณฑ์ที่ใช้มานาน 30-40 ปี ให้สอดคล้องและรองรับความเปลี่ยนแปลงของปัจจุบัน เพื่อให้ส่วนประกอบต่าง ๆ ของอีโคซิสเต็มพลังงานใหม่ สามารถดำเนินการและพัฒนาต่อไปได้ 

 

นายกุลิศชี้ด้วยว่า สิ่งสำคัญที่ต้องทำต่อไป คือการแปลงแผนไปสู่ภาคปฏิบัติ ซึ่งองค์กรด้านพลังงานขนาดใหญ่ของประเทศ ต่างมีแผนปฎิบัติการของหน่วยงานเพื่อสอดรับเป้าหมายดังกล่าว อาทิ ปตท.มีกลยุทธ์ 3P   กฟผ.มี 3S และมีความร่วมมือระหว่างกัน โดยเร่งพัฒนาทั้งด้านเทคโนโลยีดักจับและกักเก็บคาร์บอน ศึกษานวัตกรรมพลังงานไฮโดรเจนเพื่อใช้เป็นโรงไฟฟ้าพลังงานสะอาด เทคโนโลยีSmart Grid Smart Meter สู่ระบบ 2 ทาง ให้ผู้ผลิตไฟฟ้าพลังงานสะอาดที่เหลือใช้สามารถขายเข้าระบบ หรือขายกันเองในเครือข่าย เป็นต้น 

 

 ด้านการปรับปรุงระเบียบข้อกำหนดต่างๆ  นั้น ขณะนี้อยู่ระหว่างการร่างหลักเกณฑ์ Green Tariff ขึ้น จากที่ประเทศคู่ค้าใหญ่มีข้อกำหนดสินค้าที่จะส่งเข้าไปขายต้องไม่ปลดปล่อยคาร์บอนตลอดห่วงโซ่การผลิต ดังนั้น ผู้ผลิตจำเป็นต้องใช้ไฟฟ้าจากพลังงานสะอาดเท่านั้น หรือที่เรียกว่า RE100 ไม่สามารถใช้ไฟฟ้าจากโรงไฟฟ้าฟอสซิลได้ จึงต้องออกระเบียบให้ผู้ผลิตไฟฟ้าสะอาด สามารถซื้อขายโดยตรงกับผู้ใช้ได้โดยตรง(Direct Power Purchasing Agreement) จากปัจจุบันที่ต้องผ่านโครงข่ายไฟฟ้าของการไฟฟ้าฯ เพื่อให้ผู้ประกอบการไทยรักษาขีดความสามารถการแข่งขันในตลาดโลก 

 

รวมถึงการสนับสนุนการลงทุนในบริษัท สตาร์ทอัพ คิดโมเดลธุรกิจด้านกิจการพลังงานสะอาดในแง่มุมต่าง  ๆ ซึ่งรายใหญ่ที่แข็งแรงแล้ว ต้องร่วมมือสนับสนุนและผลักดันให้แนวคิดของสตาร์ทอัพ สามารถเกิดขึ้นได้จริงในทางธุรกิจต่อไป   ซึ่งจะเป็นโอกาสของผู้ประกอบการรายใหม่ไทยสู่เวทีโลกต่อไป 

 

"การแปลงแผนพลังงานชาติสู่การปฎิบัติเพื่อให้เกิดผล ขับเคลื่อนประเทศสู่สังคมคาร์บอนต่ำ บรรลุเป้าหมายที่ตั้งไว้ได้นั้น จะสำเร็จไม่ได้ถ้าไม่มีการวางแผนร่วมกัน ทำงานร่วมกัน"นายกุลิศกล่าวย้ำ