นายนิรุฒ มณีพันธ์ ผู้ว่าการการรถไฟแห่งประเทศไทย (รฟท.) เปิดเผยภายหลังพิธีเปิดเดินขบวนรถสินค้าคอนเทนเนอร์บรรทุกเกลือ ระหว่างสถานีมาบตาพุด – ชุมทางบัวใหญ่ ระหว่าง รฟท. กับ บริษัท เอ็น. อี. (1992) จำกัดว่า นับเป็นอีกหนึ่งความร่วมมือสำคัญที่ รฟท. ให้การสนับสนุนการขนส่งสินค้าทางรถไฟจากแหล่งวัตถุดิบในพื้นที่ จ.นครราชสีมา ส่งต่อไปยังโรงงานนิคมอุตสาหกรรมมาบตาพุด ซึ่งเป็นการเพิ่มขีดความสามารถในการขนส่งสินค้าภายในประเทศ โดยมีกรอบระยะเวลา 1 ปี ตั้งแต่เดือน มี.ค.65-มี.ค.66 ขนส่งสินค้าจากศูนย์กองเก็บตู้คอนเทนเนอร์ (Container Yard) ที่สถานีชุมทางบัวใหญ่ จ.นครราชสีมา ไปยังสถานีรถไฟมาบตาพุด จ.ระยอง ด้วยตู้คอนเทนเนอร์วางบนแคร่ 25 แคร่ ความยาว 50 ตู้ บรรทุกน้ำหนัก 62 ตัน/เที่ยว
สำหรับอัตราค่าขนส่งแบบเหมาขบวนรถไป-กลับ เที่ยวละ 2.5 แสนบาท ปริมาณการขนส่งแต่ละเดือนประมาณ 15 ขบวน รวมประมาณ 180 ขบวนต่อปี คิดเป็นมูลค่าการขนส่งรวม 36 ล้านบาท ทั้งนี้บริษัทฯ วางแผนพัฒนาความร่วมมือกับ รฟท. ในระยะยาว โดยการลงทุนจัดหาตู้สินค้า เพื่อใช้ขนส่งสินค้าทางรถไฟโดยเฉพาะ เนื่องจากการขนส่งทางรถไฟช่วยอำนวยความสะดวกในด้านปริมาณการขนส่ง และลดระยะเวลาการเดินทาง รวมทั้งช่วยประหยัดต้นทุนการขนส่งได้อย่างดี อย่างไรก็ตามปัจจุบัน รฟท. มีโบกี้รถบรรทุกตู้สินค้า (บทต.) หรือแคร่ขนสินค้าประมาณ 1,000 คัน โดยใช้เพื่อการขนสินค้าแบบเหมาขบวนประมาณ 60% และแบบรายย่อยประมาณ 40%
นายนิรุฒ กล่าวต่อว่า ขณะนี้การใช้แคร่ขนสินค้าค่อนข้างตึงตัวแล้ว รฟท. จึงมีแผนจัดหาโบกี้รถบรรทุกตู้สินค้า 965 คัน วงเงินประมาณ 2 พันล้านบาท เพื่อรองรับการเติบโตของการขนส่งสินค้าทางรางที่จะเพิ่มขึ้นในอนาคต ปัจจุบันอยู่ระหว่างการพิจารณาของกระทรวงคมนาคม สำหรับการเปิดเดินขบวนรถสินค้าฯ ครั้งนี้ หากทำสำเร็จ และทำได้ต่อเนื่องในระยะยาว จะเป็นต้นแบบสำคัญของการขนส่งทางรางให้กับอุตสาหกรรมกรรมอื่นๆ ด้วย เพราะเชื่อว่าไม่มีโหมดการขนส่งใดจะดีไปกว่าการขนส่งทางราง โดยเฉพาะเส้นทางสายตะวันออกเฉียงเหนือ เพราะสามารถขนสินค้าเชื่อมต่อไปยัง สปป.ลาว และจีนได้อย่างสะดวก ทั้งนี้ รฟท. ยังคงมุ่งมั่นพัฒนาโครงข่ายและเพิ่มประสิทธิภาพการขนส่งทางราง ให้สามารถแข่งขันทัดเทียมกับนานาประเทศ และก้าวไปสู่การเป็นศูนย์กลางโลจิสติกส์ของอาเซียนต่อไป
นายณรงค์ศักดิ์ พุทธพรมงคล ประธานกรรมการบริหาร บริษัท เอ็น.อี. (1992) จำกัด กล่าวว่า บริษัทฯ ขนส่งเกลือเป็นล้านตันต่อปี โดยในส่วนของโรงงานนิคมอุตสาหกรรมมาบตาพุด ขณะนี้มีการขนส่งทั้งผ่านทางรถบรรทุก และรถไฟ ในสัดส่วน 50:50 วันละประมาณ 2 พันตัน หรือประมาณ 6-7 แสนตันต่อปี ซึ่งการที่ปรับมาขนส่งสินค้าผ่านทางรถไฟในช่วง 2 เดือนที่ผ่านมา ช่วยลดต้นทุนในการขนส่งสินค้าได้มาก โดยช่วยลดการว่าจ้างคนขับรถลงไปได้ถึง 70 คน ประหยัดค่าน้ำมัน และลดความเสี่ยงในการเกิดอุบัติเหตุบนท้องถนนด้วย ในเร็วๆ นี้มีแผนจะเพิ่มการขนส่งสินค้าเกลือผ่านทางรถไฟเพิ่มมากขึ้นจากประมาณเดือนละ 15 ขบวน เป็นเดือนละ 30 ขบวน.