ดร.จตุรงค์ บุนนาค ประธานสภาธุรกิจไทย-ลาว กล่าวว่า ไทยค้าขายกับลาวมาช้านานเป็นการค้านอกระบบตามแนวชายแดน แม้ปัจจุบันยังมีมูลค่าสูงกว่าในระบบ ที่เริ่มเมื่อปี 2531 จากนโยบายเปลี่ยนสนามรบเป็นสนามการค้า โดยสินค้าไทยได้รับความนิยมสูงในประเทศเพื่อนบ้าน
แต่ในอนาคตต้องระวัง เนื่องจากทางการลาวมีนโยบายพึ่งตนเอง เพิ่มการผลิตภายใน ลดการนำเข้า ส่งเสริมการตั้งเขตเศรษฐกิจพิเศษขึ้นถึง 13 แห่งในแขวงต่างๆ ให้สิทธิพิเศษนักลงทุนและแรงงานลาวที่เคยมาทำงานในไทย ให้กลับไปทำงานในเขตเศรษฐกิจพิเศษต่างๆ ปัจจุบันมีจีนเป็นนักลงทุนรายใหญ่สุดกว่า 800 ราย ในอนาคตเมื่อโรงงานต่างๆ เดินเครื่องผลิตสินค้าเพิ่มมากขึ้น ย่อมกระทบสินค้าส่งออกไทยไปตลาดเพื่อนบ้าน
ผู้ประกอบการไทยทั้งนักลงทุนหรือพ่อค้าชายแดนต้องปรับตัว หันไปผลิตสินค้าที่คุณภาพสูงขึ้น มีบรรจุภัณฑ์ที่น่าจับต้อง เพิ่มประสิทธิภาพการผลิตให้ลดต้นทุน นำเทคโนโลยีใหม่มาใช้ อาทิ ดิจิทัล หรือ ไอทีต่างๆ มาช่วยการผลิต มาชดเชยแรงงานคน ควบคู่กับหาตลาดใหม่เพิ่ม
ประธานสภาธุรกิจไทย- ลาว กล่าวอีกว่า ขณะเดียวกันต้องติดตามแผนพัฒนาของสปป.ลาว ที่มีนโยบายเปลี่ยนจากประเทศแลนด์ล็อกเป็นแลนด์ลิ้งก์ ซึ่งได้ทุ่มงบพัฒนาโครงข่ายโลจิสติกส์หลายโครง การ อาทิเช่น
โครงการรถไฟจีน-ลาวซึ่งช่วงคุนหมิง-เวียงจันทน์เปิดใช้แล้ว ยังเหลือในช่วงของประเทศ ไทยที่อยู่ระหว่างก่อสร้างและที่จะต่อลงไปถึงมาเลเซีย-สิงคโปร์ในอนาคต
ล่าสุดทางการสปป.ลาวตั้งงบประมาณก้อนใหญ่ ในการขึ้นโครงการเส้นทางรถไฟจากเวียงจันทน์-คำม่วน ไปออกท่าเรือนํ้าลึกหวุงอ๋าง ในประเทศเวียดนาม ที่รัฐบาลลาวและเวียดนามจับมือพัฒนาให้สามารถรองรับเรือบรรทุกสินค้าขนาดใหญ่ได้ เพื่อเป็นทางออกทะเลของลาว
ทางใต้มีแผนงานโครง การก่อสร้างทางรถไฟ จากเวียงจันทน์-แขวงสะหวันเขต- แขวงสาละวัน ไปสิ้นสุดที่ชายแดนกัมพูชา เพื่อเตรียมเชื่อมรถไฟของกัมพูชาไปถึงท่าเรือเมืองสีหนุวิลล์ ที่จีนได้ไปลงทุนพัฒนาท่าเรือไว้แล้ว เป็นอีกเส้นทางออกสู่ทะเลได้ รวมทั้งเปิดให้เอกชนสัมปทานสร้างเส้นทางรถไฟ จากเขตเศรษฐกิจพิเศษสะหวันเซโนไปออกท่าเรือดานังทางตอนกลางของเวียดนาม แต่ขณะนี้ยังไม่มีการก่อสร้าง
ทางถนนลาวยังมีแผนการก่อสร้างทางด่วนพิเศษ คู่ขนานไปกับการก่อสร้างทางรถไฟด้วยเส้นแรกจากเวียงจันทน์-กัมพูชา- ท่าเรือสีหนุวิลล์ ทางด้านทิศเหนือจากเวียงจันทน์-เมืองบ่อเต็นชายแดนประเทศจีน และมีการก่อสร้างแล้วเป็นบางส่วนจากเวียงจันทน์ หรือการให้บริษัทเอกชนของลาวสัมปทานพื้นที่ทำ ท่าเรือบกเวียงจันทน์ เป็นศูนย์ โลจิสติกส์พาร์ค สำหรับการขนถ่ายสินค้าไปกับขบวนรถไฟสำหรับขนส่งสินค้าจีน-ลาว-จีน
ดร.จตุรงค์ ยํ้าว่า โครงข่ายโลจิสติกส์ใหม่ๆ ที่เกิดขึ้นในประเทศเพื่อนบ้าน เป็นประโยชน์กับไทยด้วย ตัวอย่างเช่นการขนส่งสินค้าจากภาคอีสานไปกับขบวนรถไฟจีน-ลาวต้องให้มีประสิทธิภาพเกิดประโยชน์สูงสุด โดยไทยขนส่งสินค้าไปจีนปีละ 55,000 ตู้ ค่าใช้จ่ายเฉลี่ยปีละ 11,000 ล้านบาท ถ้าขนทางรถไฟจะเสียเพียง 3,000-4,000 ล้านบาท เท่านั้น
“แต่เวลานี้ยังมาถึงแค่เวียงจันทน์ โดยในส่วนโครงการรถไฟความเร็วสูงกรุงเทพฯ-หนองคายนั้น กำหนดแล้วเสร็จทั้งโครงการ โดยเฉพาะช่วงหนองคายไปเชื่อมต่อที่เวียงจันทน์ในปี 2571-2572 ซึ่งจะเป็นรถไฟความ เร็วสูงขนส่งผู้โดยสาร ในระยะที่โครงการยังไม่เชื่อมต่อกันนี้ ทำให้มีปัญหาในเรื่องของการขนถ่ายตู้คอนเทนเนอร์”
ดร.จตุรงค์ชี้ด้วยว่า ที่ผ่านมาหลายฝ่ายมองไทยเป็นศูนย์กลางหรือฮับของภูมิภาค แต่ตนมองว่าเป็นเพียงโหนดหนึ่งของโครงข่ายเท่านั้น ทำหน้าที่ช่วยกระจายสินค้าอีกทอดหนึ่ง โดยประเทศที่เป็นศูนย์กลางคือจีน ที่เป็นศูนย์กลางรวบรวม แล้วกระจายสินค้าไปกลุ่มอาเซียน อาเซีย และยุโรป
“ไทยควรวางยุทธศาสตร์ที่สำคัญต่อจากนี้ไปคือ จะทำอย่างไรให้โครงข่ายโลจิสติกส์ของไทยที่มั่นคงแข็งแรง สามารถไปเชื่อมโยงกับประเทศเพื่อนบ้านกลุ่ม CLMV ไปจนถึงนอกกลุ่ม ให้สอดคล้องกับความเปลี่ยนแปลงของภูมิภาคส่วนนี้อย่างไร จึงจะเกิดประโยชน์สูง สุดไม่เสียโอกาส อย่าปล่อยให้มีบทเรียนซํ้ารอยโครงการรถไฟจีน-ลาว” ดร.จตุรงค์ฯ กล่าวทิ้งท้าย
ยงยุทธ ขาวโกมล/รายงาน
หน้า 10 หนังสือพิมพ์ฐานเศรษฐกิจ ปีที่ 42 ฉบับที่ 3,780 วันที่ 5-7 พฤษภาคม พ.ศ.2565