กฟผ.ทุ่ม 690 ล้าน ลุยสมาร์ทกริด “แม่ฮ่องสอน”

10 มิ.ย. 2565 | 10:32 น.
อัปเดตล่าสุด :10 มิ.ย. 2565 | 17:49 น.

กฟผ. อัดงบ 690 ล้านบาท ลุยระบบโครงข่ายไฟฟ้าอัจฉริยะสมาร์ทกริดแม่ฮ่องสอน ผลิตไฟฟ้าจากพลังงานแสงอาทิตย์ ขนาด 3 เมกะวัตต์ ควบคู่ระบบกักเก็บพลังงานด้วยแบตเตอรี่ ขนาดกำลังผลิต 4 เมกะวัตต์ สร้างเสถียรภาพพลังงาน พร้อมวางเป้าสู่ผู้นำสมาร์ทกริดในระดับอาเซียน

 

นายประเสริฐศักดิ์  เชิงชวโน รองผู้ว่าการพัฒนาโรงไฟฟ้าและพลังงานหมุนเวียน การไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย (กฟผ.) เปิดเผยว่า กฟผ. ได้ดำเนินโครงการพัฒนาโครงการนำร่องสมาร์ทกริด ที่จังหวัดแม่ฮ่องสอน ภายใต้เสาหลักที่ 3 : ไมโครกริดและโปรซูเมอร์ (Microgrid & Prosumer) ตามแผนการขับเคลื่อนการดำเนินงานด้านสมาร์ทกริดของประเทศไทย ในระยะปานกลาง พ.ศ. 2565– 2574 ด้วยงบการลงทุนราว 690 ล้านบาท

 

ล่าสุดได้ลงนามสัญญาจัดซื้อและจ้างก่อสร้างโครงการนำร่องการพัฒนาสมาร์ทกริดจังหวัดแม่ฮ่องสอน กับบริษัท อิตัลไทยวิศวกรรม จำกัด ไปแล้ว ซึ่งโครงการนี้จะนำเทคโนโลยีหลายประเภทมาประยุกต์ใช้งานร่วมกัน เพื่อพัฒนาระบบไฟฟ้าใน จ.แม่ฮ่องสอน ให้มีความมั่นคงมากยิ่งขึ้น แก้ปัญหาไฟฟ้าตก ไฟฟ้าดับของจังหวัด โดยสมาร์ทกริดจะทำงานเชื่อมโยงโรงไฟฟ้าทุกแห่งในพื้นที่แม่ฮ่องสอน ผ่านระบบควบคุมไมโครกริด (Micro grid Control Center System) ที่ช่วยบริหารจัดการการผลิตไฟฟ้าและการใช้ไฟฟ้าภายในระบบให้สมดุล มีประสิทธิภาพสูงสุด

 

กฟผ.ทุ่ม 690 ล้าน ลุยสมาร์ทกริด “แม่ฮ่องสอน”

 

สำหรับโครงการนี้ จะมีการก่อสร้างโรงไฟฟ้าพลังงานแสงอาทิตย์ ขนาดกำลังผลิต 3 เมกะวัตต์ พร้อมระบบกักเก็บพลังงานด้วยแบตเตอรี่ (Battery Energy Storage System: BESS) ขนาดกำลังผลิต 4 เมกะวัตต์ เข้ามาช่วยเสริมกำลังของแหล่งผลิตไฟฟ้าในจังหวัดแม่ฮ่องสอนเพิ่มเติม ยมีกำหนดแล้วเสร็จในเดือนธันวาคม 2565

 

นอกจากนี้ โครงการฯ ยังมีแผนส่งเสริมการท่องเที่ยวสีเขียว ของ จ.แม่ฮ่องสอน ซึ่งสอดรับกับวิสัยทัศน์ของจังหวัด โดยจะจัดให้มีรถบัสไฟฟ้า (Electric Vehicle: EV Bus) และสถานีอัดประจุไฟฟ้าไว้ให้บริการประชาชน จัดสร้างศูนย์เรียนรู้ด้านพลังงานและศิลปวัฒนธรรมเพื่อเป็นแหล่งศึกษาเรียนรู้ให้กับผู้สนใจ พร้อมลานกิจกรรมและเปิดเป็นพื้นที่จำหน่ายสินค้าของชุมชน คาดว่าจะช่วยสร้างรายได้ให้ชุมชน ส่งเสริมเศรษฐกิจภาพรวมของจังหวัด

 

 “กฟผ. วางเป้าให้โครงการเป็นสถานที่สำหรับศึกษาเรียนรู้ วิจัย และพัฒนาร่วมกันระหว่างหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ก่อนขยายระบบสมาร์ทกริดไปยังพื้นที่ต่าง ๆ ในประเทศที่มีปัญหาด้านพลังงานไฟฟ้า เพื่อให้ประเทศไทยเป็นผู้นำด้านเทคโนโลยีสมาร์ทกริด และการประยุกต์ใช้งานในระดับภูมิภาคอาเซียน”

 

นายประเสริฐศักดิ์  กล่าวอีกว่า การดำเนินงานโครงการดังกล่าวนี้ เนื่องจากการผลิตไฟฟ้าต้องปรับตัวเพื่อเข้าสู่ช่วงการเปลี่ยนผ่านด้านพลังงาน (Energy Transformation) หน่วยงานภาครัฐจะต้องเป็นต้นแบบการใช้พลังงานทดแทนและลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจก เพื่อสนับสนุนนโยบายให้เกิด Microgrid/ Prosumer เป็น Business as Usual เชิงพาณิชย์

 

ดังนั้นจึงจำเป็นต้องมีการส่งเสริมการใช้งาน Microgrid / Prosumer ในรูปแบบต่าง ๆ และต้องมีการบริหารจัดการ (Management System) / Software/Platform โดยต้องมีการพัฒนาการรองรับ Energy Service ผ่าน Aggregator & VPP และการทำงานร่วมกับเทคโนโลยีอื่นๆ เพื่อให้ Microgrid เป็นเครื่องมือหนึ่งที่ช่วยบริหารจัดการพลังงานหมุนเวียนที่มีความผันผวนหรือ ยานยนต์ไฟฟ้า (VRE, EV) และการเพิ่มสัดส่วนพลังงานหมุนเวียน (RE) ของประเทศ

 

ทั้งนี้ พื้นที่จังหวัดแม่ฮ่องสอน ถือได้ว่ามีความเหมาะสมในการดำเนินโครงการฯ เนื่องจากตำแหน่งที่ตั้งมีความเป็นไปได้สำหรับการควบคุมและปฏิบัติการระบบร่วมกับระบบไมโครกริดของ กฟภ. ที่อำเภอแม่สะเรียง จังหวัดแม่ฮ่องสอนได้ในอนาคต