แหล่งข่าวในวงการสื่อสารและโทรคมนาคม เปิดเผยว่า บทสรุปของ การจัดเวทีรับฟังความคิดเห็นสาธารณะแบบจำกัด หรือที่คณะกรรมการกิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ(กสทช.)เรียกว่า “โฟกัส กรุ๊ป” ในรอบสุดท้ายที่เป็นเวทีจากฟากฝั่งนักวิชาการทั้งหลาย
โดยนายพรเทพ เบญญาอภิกุล รองคณบดีคณะเศรษฐศาสตร์ ในฐานะคณะอนุกรรมการเพื่อศึกษาและวิเคราะห์กรณีการรวมธุรกิจ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ที่กางโมเดลผลกระทบทางเศรษฐกิจตามแบบจำลอง ก่อนระบุว่าหากดีลควบรวมทรู-ดีแทคผ่านฉลุย กรณีเลวร้ายสุด อาจฉุดจีดีพีประเทศลดลง 1.99% เม็ดเงินสูญทันที 3 แสนล้านบาท และทำให้ ค่าโทรฯ เพิ่มขึ้นเฉียด 244%
ผลศึกษายังระบุด้วยว่าผลกระทบจากการควบรวมทรู-ดีแทคในครั้งนี้ยังจะส่งผลต่ออัตราการขยายตัวของผลิตภัณฑ์มวลรวมในประเทศ (จีดีพี) โดยกรณีไม่มีการร่วมมือกัน จีดีพีจะหดตัวลดลงในช่วง 0.05% - 0.11% คิดเป็นมูลค่าลดลง 8,244 - 18,055 ล้านบาท แต่กรณีร่วมมือกันในระดับต่ำ จีดีพีหดตัวลดลงในช่วง 0.17% - 0.33% คิดเป็นมูลค่าลดลงราว 27,148 - 53,147 ล้านบาท และกรณีที่ร่วมมือกันในระดับสูง จีดีพีหดตัวลดลงในช่วง 0.58% - 1.99% คิดเป็นมูลค่าลดลงราว 94,427 - 322,892 ล้านบาท!
ผลการจำลอง ยังชี้ให้เห็นว่า ระดับความรุนแรงของผลกระทบจะขึ้นอยู่กับระดับการร่วมมือของผู้ประกอบการหลังควบรวมเป็นอย่างมาก โดยจำนวนผู้ประกอบการที่เหลือภายหลังควบรวม ยิ่งน้อย ยิ่งร่วมมือง่าย หรือขนาดของผู้ประกอบการโดยเปรียบเทียบ ยิ่งขนาดใกล้เคียงกัน ยิ่งร่วมมือง่าย ฯลฯ
อดีตประธาน กสทช.ร่วมคัดค้าน
เช่นเดียวกับ ศ. ประสิทธิ์ ประพิณมงคลการ อดีตประธานกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ (กทช.) ที่ได้สะท้อนมุมมองแง่นักวิชาการต่อกรณีดังกล่าวว่า กสทช. และคณะทำงาน ต้องพิจารณาการควบรวมทรู-ดีแทค โดยคำนึงถึงค่าดัชนีการกระจุกตัว (HHI) เป็นสำคัญ ซึ่งนักวิชาการหลายราย รวมถึงสถาบันวิจัย TDRI ได้ให้ข้อมูลที่ชัดเจนว่า การควบรวมกิจการทำให้สภาพตลาดมีการกระจุกตัวสูง ทำให้ดัชนี HHI ในตลาดโทรคมนาคมของไทย เพิ่มขึ้นแบบก้าวกระโดดในระดับอันตราย อยู่ที่ 5,032 จุด จาก 3,624 จุด เกินกว่ามาตรฐานของดัชนีที่อยู่ที่ 2,500 จุด ตามที่ กสทช. กำหนดไว้ในประกาศ กสทช. เรื่อง มาตรการกำกับดูแลการควบรวมธุรกิจในกิจการโทรคมนาคม พ.ศ. 2561
ทั้งนี้ บริการโทรคมนาคมจัดเป็นสาธารณูปโภคขั้นพื้นฐานที่สำคัญเช่นเดียวกันกับสาธารณูปโภคอื่นๆ กสทช. ควรกำกับดูแล โดยเฉพาะกรณีที่ผู้ให้บริการในตลาดจะลดลงเหลือ 2 ราย การแข่งขันย่อมลดลง ขณะที่ราคาค่าบริการมีแนวโน้มเพิ่มสูงขึ้น ต่างจากตลาดที่มีผู้ให้บริการ 3 ราย ซึ่งมีการแข่งขันกันอย่างดุเดือด และเข้มข้น ตลอด 20 ปีที่ผ่านมา
“กสทช. ต้องจริงจังกับการกำกับดูแล จัดการกฎเกณฑ์ที่บังคับใช้อยู่ให้เกิดการแข่งขันอย่างเสรี เป็นธรรม ไม่กีดกันผู้ประกอบการรายใหม่ ซึ่งส่งผลดีต่อผู้บริโภค และป้องกันผลกระทบจากการควบรวมกิจการ"
ส่วนเรื่องของอำนาจที่แท้จริงของ กสทช.มีหรือไม่มีอย่างไร หรือเป็นแค่ "ตรายาง Rubber Stamp" ดั่งที่อดีต กสทช.บางคนเคยออกมาตีปี๊บก่อนหน้านั้น หากทุกฝ่ายจะย้อนกลับไปดูเอกสารที่ “ทรู-ดีแทค” เผยแพร่ก่อนหน้านี้ จะพบถ้อยคำที่กล่าวถึงอำนาจของ กสทช.ในระดับที่ต่างกัน
โดยในเอกสารสารสนเทศที่ผู้ถือหุ้นทั้งสองบริษัทใช้ประกอบการพิจารณาการลงมติเพื่อควบรวมเมื่อต้นเดือน ก.พ.65 อ้างแต่เพียงว่า ให้มีการ “นำส่งรายงานการรวมธุรกิจต่อ กสทช” แต่ไม่ได้กล่าวถึงอำนาจในการกำหนดเงื่อนไข หรือไม่อนุญาตควบรวมแต่อย่างใด
แต่ในส่วนชองรายงานความเห็นของที่ ปรึกษาอิสระของทรูซึ่งว่าจ้าง KKP ระบุว่า การควบรวมกิจการอาจจะ “มีความเสี่ยง” ที่ “กสทช. จะกำหนดเงื่อนไข หรือมาตรการเฉพาะให้บริษัทที่เกี่ยวข้องปฏิบัติตาม ซึ่งอาจส่งผลให้เกิดข้อจำกัดในการดำเนินธุรกิจ”ได้
ขณะที่รายงานความเห็นของที่ปรึกษาอิสระของดีแทค ซึ่งว่าจ้าง TISCO กลับมีการกล่าวถึงความเสี่ยง “ที่จะไม่ได้รับอนุญาต” หรือได้รับอนุญาตล่าช้ากว่าที่กำหนดไว้ในการดำเนินการควบรวมบริษัท และยังระบุด้วยว่า กสทช. อาจพิจารณากำหนดเงื่อนไขการดำเนินธุรกิจของบริษัทใหม่ เพื่อลดผลกระทบของการควบบริษัทต่อผู้บริโภค
อย่างไรก็ตาม การจะพิจารณาอำนาจหน้าที่ของ กสทช.อย่างรอบด้านนั้น ไม่สามารถหยุดอยู่ที่ข้อ 5 ของประกาศ กสทช.เรื่อง มาตรการกำกับดูแลการรวมธุรกิจในกิจการโทรคมนาคมปี 2561 หากแต่ต้องดูข้อกฎหมายที่เกี่ยวข้องอื่น ๆ ประกอบ แม้แต่ประกาศฯ กสทช.พ.ศ. 2561 ในข้ออื่นๆ เพื่อไม่ให้ กสทช. ชิง “ลดทอน" อำนาจของตนเองลงไป
โดยมีกฎหมายอย่างน้อย 4 ฉบับและประกาศ กสทช. อย่างน้อย 3 ฉบับที่เกี่ยวข้องกับอำนาจหน้าที่ของ กสทช. โดยส่วนแรกนั้นว่าด้วยเรื่องของกฎหมายที่เกี่ยวข้อง ซึ่งมีอยู่ 4 ฉบับได้แก่ 1. รัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พ.ศ. 2560 มาตรา 60 “คลื่นความถี่ เป็นสมบัติของชาติ เพื่อใช้ให้เกิดประโยชน์ต่อประเทศชาติและประชาชน โดยไม่ว่าการใช้ประโยชน์แบบใด ก็ต้องเป็นไปเพื่อประโยชน์สูงสุดของประชาชน ความมั่นคงของรัฐ และประโยชน์สาธารณะ รวมตลอดทั้งการให้ประชาชนได้ใช้ประโยชน์จากความถี่ด้วย”
นอกจากนี้ ยังระบุว่าด้วยว่า....ให้จัดตั้งองค์กรเพื่อกำกับดูแลคลื่นความถี่ ซึ่งก็คือ กสทช. โดยมีหน้าที่ “ต้องป้องกันมิให้มีการแสวงหาประโยชน์จากผู้บริโภคโดยไม่เป็นธรรม หรือสร้างภาระแก้ผู้บริโภคเกินความจำเป็น” และป้องกันมิให้บุคคล หรือกลุ่มบุคคลใดใช้ประโยชน์จากคลื่นความถี่โดยไม่คํานึงถึงสิทธิของประชาชนทั่วไป ....
2. พ.ร.บ.องค์กรจัดสรรคลื่นความถี่ฯปี 2553 ซึ่งเป็นกฎหมายหลักจัดตั้งและให้อำนาจ กสทช.ในบทบัญญัติ มาตรา 27 (11)กำหนดอำนาจหน้าที่ขององค์กรกำกับดูแลโทรคมนาคม ในกรณีที่อาจจะเกิดการผูกขาดหรือทำลายการแข่งขันทางการค้า โดยให้ "กำหนดมาตรการเพื่อป้องกันมิให้มีการกระทำอันเป็นการผูกขาดหรือก่อให้เกิดความไม่เป็นธรรมในการแข่งขัน (ครอบคลุมทั้งกิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคม )
และ(13) คุ้มครองสิทธิและเสรีภาพของประชาชนมิให้ถูกเอาเปรียบจากผู้ประกอบกิจการและคุ้มครองสิทธิในความเป็นส่วนตัวและเสรีภาพของบุคคลในการสื่อสารถึงกันโดยทางโทรคมนาคมและส่งเสริมสิทธิเสรีภาพและความเสมอภาคของประชาชนในการเข้าถึงและใช้ประโยชน์คลื่นความถี่ที่ใช้ในกิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคม
3.พ.ร.บ.การประกอบกิจการโทรคมนาคม พ.ศ. 2544 มาตรา 21 ให้อำนาจ กสทช. ในการกำหนดมาตรการเฉพาะเพื่อป้องกันไม่ให้มีการผูกขาด หรือทำให้การแข่งขันน้อยลง หากมีการใช้อำนาจทางการตลาดที่ไม่เป็นธรรม พฤติกรรมกีดกันการแข่งขัน
นอกจากนี้ ใน พ.ร.บ.ประกอบกิจการโทรคมนาคม ยังระบุให้การประกอบกิจการโทรคมนาคม “อยู่ในบังคับของกฎหมายว่าด้วยการแข่งขันทางการค้า” ซึ่งเป็นสิ่งที่ กสทช. หรือผู้ควบรวมกิจการปฏิเสธไม่ได้ว่า การควบรวมครั้งนี้ต้องเอาพระราชบัญญัติการแข่งขันทางการค้า พ.ศ. 2560 มาพิจารณาด้วย
ส่วนประกาศที่เกี่ยวข้องมีอย่างน้อย 3 ฉบับ โดย 1) ประกาศ กสทช. เรื่อง มาตรการกำกับดูแลการรวมธุรกิจในกิจการโทรคมนาคม พ.ศ. 2561 ที่ถูกนำมากล่าวอ้างกันมากที่สุดคือ ข้อ 5 “ผู้รับใบอนุญาตหรือผู้มีอำนาจควบคุมของผู้รับใบอนุญาตที่ประสงค์จะทำการรวมธุรกิจกับผู้รับใบอนุญาตรายอื่นต้องรายงานต่อเลขาธิการ กสทช. ไม่น้อยกว่าเก้าสิบวันก่อนการดำเนินการ”
ประกาศ กสทช.ข้างต้นที่ใช้คำว่า “ต้องรายงาน” นำไปสู่การตีความของ กสทช.ว่า ตนเองไม่มีอำนาจในการ “อนุญาต” หรือ “ไม่อนุญาต” การควบรวมกิจการ และพยายามบอกว่า กสทช.มีอำนาจเพียงรับทราบรายงานหรือเป็นเพียง “ตรายาง Rubber Stamp” รับทราบรายงานของผู้ที่จะดำเนินการควบรวมเท่านั้น
แต่ข้อเท็จจริง ในประกาศฉบับเดียวกัน ยังมีข้อกำหนดเพิ่มเติมในข้อ 9 “การรายงานในข้อ 5 ข้อ 6 ข้อ 7 หรือข้อ 8 ให้ถือเป็นการขออนุญาตจาก กสทช.ตามข้อ 8 ประกาศ กสทช.เรื่องมาตรการเพื่อป้องกันมิให้มีการกระทำอันเป็นการผูกขาดหรือก่อให้เกิดความไม่เป็นธรรมในการแข่งขันในกิจการฌโทรคมนาคม พ.ศ.2549”
ดังนั้น การรายงานการควบรวมกิจการจึงไม่ได้จบที่กระบวนการรายงานตามข้อ 5 ของประกาศกสทช.ปี 2561 ดังที่หลายฝ่ายเข้าใจ แต่ยังต้องถือเป็นการ “ขออนุญาต” ด้วย
ด้วยเหตุนี้ จึงจำเป็นที่ต้องย้อนกลับไปพิจารณาประกาศฉบับเดิมที่ว่านี้ ได้กำหนดหลักเกณฑ์เอาไว้อย่างไรเพื่อที่จะพิจารณาว่าอำนาจของกสทช. ในกำกับดูแลกิจการโทรคมนาคม และการควบรวมกิจการโทรคมนาคมที่แท้จริง
ซึ่งเมื่อไปพลิกดูประกาศ กสทช.เรื่องมาตรการป้องกันมิให้มีการกระทำอันเป็นการผูกขาดฯ พ.ศ.2549 ข้อ 8 “การควบรวมกิจการไม่ว่าจะกระทำโดยทางตรงหรือทางอ้อมผ่านตัวแทนจะกระทำมิได้เว้นแต่จะได้รับอนุญาตจากคณะกรรมการ......กรณีที่คณะกรรมการพิจารณาว่า การถือครองธุรกิจในบริการประเภทเดียวกันตามวรรคหนึ่งอาจส่งผลให้เกิดการผูกขาด หรือลด หรือจำกัดการแข่งขันในการให้บริการโทรคมนาคม คณะกรรมการอาจสั่งห้ามการถือครองกิจการ หรือ"กำหนดมาตรการเฉพาะ”
จะเห็นได้ว่า กสทช. มีอำนาจอย่างเต็มที่ ไม่เพียงแต่การกำหนดเงื่อนไข หรือมาตราการเฉพาะเพื่อเยียวยาผลกระทบที่เกิดขึ้นเท่านั้น แต่หากเห็นว่า การควบรวมกิจการจะส่งผลเสียให้เกิดการผูกขาด ไม่เป็นไปเพื่อผลประโยชน์สูงสุดของประชาชนตามหน้าที่ของตนเองในรัฐธรรมนูญ กสทช. ย่อมมีอำนาจในการ “ไม่อนุญาต” การควบรวมกิจการได้ด้วย
ดังนั้นการพิจารณาอำนาจหน้าที่ของ กสทช.ตามประกาศ กสทช.ฉบับต่าง ๆ นั้นจึงไม่อาจพิจารณาเพียงประกาศฉบับใดฉบับหนึ่งได้ จำเป็นต้องพิจารณาประกอบกันหลายฉบับควบคู่กันไป โดย กสทช. ต้องพิจารณาประกาศฯ พ.ศ. 2549 (ข้อ 8) ประกาศฯ พ.ศ. 2557 (ข้อ 13) ประกาศฯ พ.ศ. 2561 (ข้อ 5 และ 9) ควบคู่กันพร้อมกับกฎหมายที่เกี่ยวข้อง ไม่ใช่ดึงดันอยู่แต่เพียงข้อ 5 ของประกาศฯ พ.ศ. 2561 เพื่อ “ลดทอน”อำนาจตนเองลงอย่างที่ใครบางคนบางกลุ่มชี้นำ
“ชัดเจนเสียขนาดนี้ กสทช.ยังบอกไม่แน่ใจในอำนาจที่ตนเองมี ยังคิดจะหารือกฤษฎีกาว่าตัวเองทำไรได้บ้าง มีอำนาจสั่งห้าม อนุมัติ-ไม่อนุมัติดีลควบรวมกิจการ หรือทำได้แค่ออกมาตรการก่อนควบรวมได้เท่านั้นอีกหรือ