จากกรณี ร้านบุฟเฟ่ต์แซลมอนชื่อดังเจ้าหนึ่ง ได้เปิดขายวอยเชอร์ (e-Voucher) บุฟเฟ่ต์ในราคาหัวละ 199 บาท จนคนแห่เข้าไปจองซื้อจำนวนมาก แต่สุดท้ายผู้ที่จองคิวเอาไว้ไปใช้บริการไม่ได้ เพราะร้านปิดโดยไม่แจ้งสาเหตุ และยังปิดเพจเฟซบุ๊กหายเงียบไป จนล่าสุดมีผู้เสียหายไปร้องเรียนกับ สำนักงานคณะกรรมการคุ้มครองผู้บริโภค (สคบ.) กว่า 105 รายนั้น
ความคืบหน้าล่าสุด สคบ. ได้ออกมาแจ้งอีกครั้ง ระบุว่า ผู้บริโภคโปรดระวัง เพราะขณะนี้ยังปรากฏว่า ร้านบุฟเฟ่ต์แซลมอนดังกล่าว ยังมีการโฆษณาขาย e-Voucher ในแพลตฟอร์มออนไลน์ต่าง ๆ
ทั้งนี้สคบ.ขอแจ้งเตือนว่า หากผู้ประกอบการหรือผู้โฆษณารายใด จัดทำโฆษณา อาจมีความผิดตามกฎหมายคุ้มครองผู้บริโภค และสคบ.จะดำเนินการตามกฎหมายอย่างเฉียบขาดต่อไป
สำหรับผู้บริโภคที่ได้รับความเสียหายสามารถร้องเรียนผ่านช่วงทางต่าง ๆ ดังนี้
ก่อนหน้านี้ นายจิติภัทร์ บุญสม ผู้อำนวยการกองคุ้มครองผู้บริโภคด้านโฆษณา สำนักงานคณะกรรมการคุ้มครองผู้บริโภค (สคบ.) กล่าวกับ “ฐานเศรษฐกิจ” ว่า สคบ.ได้รับทราบเรื่องนี้แล้ว และล่าสุดในช่วงเวลา 18.00 น. ได้มีผู้บริโภคมากกว่า 105 รายร้องเรียนมายังสคบ.แล้ว
ล่าสุดสคบ.ได้สั่งเจ้าหน้าที่ตรวจสอบข้อมูลเรื่องนี้โดยด่วนแล้ว หลังเจอร้องเรียนในระบบเมื่อวันที่ 18 มิถุนายน 2565 เวลา 18.00 น. มีผู้บริโภคร้องเรียนมาแล้ว 105 ราย และน่าจะมีเพิ่มเข้ามาอีกเรื่อย ๆ เบื้องต้นก็ได้มีการตรวจสอบอย่างไม่เป็นทางก็มีผู้เสียหายแล้วกว่า 6,000 ราย ซึ่งกรณีนี้ถือว่าเข้าข่ายความผิดด้านสัญญาที่ชัดเจน เพราะขายวอยเชอร์ แล้วเปิดให้บริการไม่ได้
อย่างไรก็ตามเพื่อเป็นการเร่งแก้ไขปัญหาจะรายงานเรื่องนี้ให้นายธสรณ์อัฑฒ์ ธนิทธิพันธ์ เลขาธิการคณะกรรมการคุ้มครองผู้บริโภค รับทราบ และจะทำหนังสือแจ้งของสคบ.เรียกไปยังเจ้าของร้านบุฟเฟ่ต์แซลมอนชื่อดัง ให้มาชี้แจงข้อเท็จจริง รวมไปถึงรายละเอียดของการเรื่องดังกล่าว ในวันที่ 20 มิถุนายน 2565 นี้
นายจิติภัทร์ กล่าวว่า ในเบื้องต้น สคบ.เตรียมพิจารณาคำร้องของผู้บริโภคที่ร้องเรียนเข้ามาในระบบ โดบจะรวบรวมรายที่มีข้อมูลชัดเจน และสมบูรณ์ที่สุด เสนอไปยังคณะกรรมการคุ้มครองผู้บริโภค ที่มีนายอนุชา นาคาศัย รัฐมนตรีประจำสำนักนายกรัฐมนตรี เป็นประธาน เพื่อฟ้องดำเนินคดีแพ่งเรียกค่าเสียหายคืนให้ผู้บริโภค ส่วนผู้บริโภคในรายอื่น ๆ ที่ร้องตามหลังมา สคบ. จะทยอยฟ้องดำเนินคดีแพ่งให้ต่อไป
ขณะเดียวกันนอกจากเรื่องนี้อาจเข้าข่ายว่ามีความผิดในกฎหมายที่เกี่ยวข้องกับสัญญาแล้ว สคบ.ยังเตรียมพิจารณาความผิดเกี่ยวกับเรื่องการโฆษณาด้วย โดยจะไล่ตรวจสอบข้อความโฆษณาว่าผิดพ.ร.บ.คุ้มครองผู้บริโภคหรือไม่
เช่นเดียวกับการพิจารณากฎหมายว่าเข้าข่ายขายตรงด้วย เพราะมีการขายวอยเชอร์ผ่านแอปพลิเคชัน ซึ่งจะตรวจสอบว่า ร้านบุฟเฟ่ต์แซลมอนชื่อดังรายนี้มีการจดทะเบียนไว้อย่างถูกต้องหรือไม่
“สคบ.ขอแจ้งไปยังผู้บริโภคที่ได้รับความเสียหาย ขอให้เก็บหลักฐานเอกสารที่เกี่ยวข้องกับการซื้อคูปองล่วงหน้าหรือวอยเชอร์ หลักฐานการคุยกันในแอปพลิเคชัน และในแชท หากชำระเงินผ่านบัตรเครดิตขอให้ผู้บริโภคติดต่อธนาคารเจ้าของบัตรเครดิตเพื่อขอคืนเงินโดยด่วน” นายจิติภัทร์ กล่าว