เปิดกฎหมายคุมโฆษณา สคบ. นำเสนอแบบนี้มีสิทธิติดคุก

13 พ.ค. 2565 | 05:53 น.
อัปเดตล่าสุด :13 พ.ค. 2565 | 13:01 น.

หลังจากสคบ. เตรียมหาแนวทางในการดูแลการโฆษณาผ่าน YouTube กวนใจ เด้งขึ้นมาบ่อย ๆ ไปดูกฎหมายตามพระราชบัญญัติคุ้มครองผู้บริโภค การโฆษณาแบบไหนที่ผู้บริโภคควรรู้ หากผู้ทำธุรกิจละเมิดมีสิทธิผิดกฎหมายโทษหนักติดคุก

จากกรณี สำนักงานคณะกรรมการคุ้มครองผู้บริโภค (สคบ.) เตรียมหาแนวทางในการดูแลผู้บริโภคให้ได้รับความเป็นธรรมจากการโฆษณา โดยเฉพาะการโฆษณา ผ่าน YouTube กวนใจ เด้งขึ้นมาบ่อย ๆ ซึ่งมีความเป็นไปได้ว่าสูงว่า อาจเป็นการทำผิดกฎหมายการคุ้มครองผู้บริโภค ตามพระราชบัญญัติคุ้มครองผู้บริโภค พ.ศ.2522 เกี่ยวกับการโฆษณาสินค้า 

 

ล่าสุด สคบ. เตรียมหารือกับกระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม (DES) เพื่อร่วมกันพิจารณาช่องทางในการดูแล โดยยอมรับว่า จะทำเกิดความเป็นธรรมกับผู้บริโภค และผู้ประกอบธุรกิจให้มากที่สุด โดยการบังคับชมโฆษณาผ่าน YouTube ถือเป็นสิทธิขั้นพื้นฐานของผู้บริโภคในการเสพสื่อต่าง ๆ 

 

แม้ว่าการเข้าชมทาง YouTube จะเป็นช่องทางที่สะดวก และผู้บริโภคไม่ได้เสียเงินในการเข้าไปรับชมเนื้อหาต่าง ๆ บนแพลตฟอร์ม แต่การมีโฆษณาเข้ามาแทรก สคบ.ก็ยอมรับว่า จะต้องไม่ทำให้กระทบสิทธิของผู้บริโภค เกี่ยวกับความเดือดร้อนรำคาญ ซึ่งขัดต่อกฎหมาย โดยอาจใช้วิธีการปัญหาในลักษณะเดียวกับการคุมโฆษณาทางทีวีเข้ามาพิจารณา

 

สคบ. กับการโฆษณา ผ่าน YouTube

สำหรับการดำเนินงานให้การคุ้มครองผู้บริโภคในด้านโฆษณา ตามพระราชบัญญัติคุ้มครองผู้บริโภค พ.ศ.2522

 

มาตรา 22 ระบุว่า การโฆษณาจะต้องไม่ใช้ข้อความที่เป็นการไม่เป็นธรรมต่อผู้บริโภคหรือใช้ข้อความที่อาจก่อให้เกิดผลเสียต่อสังคมเป็นส่วนรวม 

 

ทั้งนี้ ไม่ว่าข้อความดังกล่าวนั้นจะเป็นข้อความที่เกี่ยวกับแหล่งกำเนิด สภาพ คุณภาพ หรือลักษณะของสินค้าหรือบริการ ตลอดจนการส่งมอบ การจัดหา หรือการใช้สินค้าหรือบริการ
โดยข้อความดังต่อไปนี้ ถือว่าเป็นข้อความที่เป็นการไม่เป็นธรรมต่อผู้บริโภคหรือเป็นข้อความที่อาจก่อให้เกิดผลเสียต่อสังคมเป็นส่วนรวม ดังนี้

  • (1) ข้อความที่เป็นเท็จหรือเกินความจริง
  • (2) ข้อความที่จะก่อให้เกิดความเข้าใจผิดในสาระสำคัญเกี่ยวกับสินค้าหรือบริการไม่ว่าจะกระทำโดยใช้หรืออ้างอิงรายงานทางวิชาการ สถิติ หรือสิ่งใดสิ่งหนึ่งอันไม่เป็นความจริงหรือเกินความจริง หรือไม่ก็ตาม
  • (3) ข้อความที่เป็นการสนับสนุนโดยตรงหรือโดยอ้อมให้มีการกระทำผิดกฎหมายหรือศีลธรรม หรือนำไปสู่ความเสื่อมเสียในวัฒนธรรมของชาติ
  • (4) ข้อความที่จะทำให้เกิดความแตกแยกหรือเสื่อมเสียความสามัคคีในหมู่ประชาชน
  • (5) ข้อความอย่างอื่นตามที่กำหนดในกฎกระทรวง

 

ส่วนข้อความที่ใช้ในการโฆษณาที่บุคคลทั่วไปสามารถรู้ได้ว่าเป็นข้อความที่ไม่อาจเป็นความจริงได้โดยแน่แท้ ไม่เป็นข้อความที่ต้องห้ามในการโฆษณาตามที่เป็นเท็จหรือเกินความจริง

สำนักงานคณะกรรมการคุ้มครองผู้บริโภค (สคบ.)

 

มาตรา 23 การโฆษณาจะต้องไม่กระทำด้วยวิธีการอันอาจเป็นอันตรายต่อสุขภาพ ร่างกายหรือจิตใจ หรืออันอาจก่อให้เกิดความรำคาญแก่ผู้บริโภค ตามที่กำหนดในกฎกระทรวง

 

มาตรา 27 ในกรณีที่คณะกรรมการว่าด้วยการโฆษณาเห็นว่าการโฆษณาใดฝ่าฝืนมาตรา 22 มาตรา 23 ให้คณะกรรมการว่าด้วยการโฆษณามีอำนาจออกคำสั่งอย่างใดอย่างหนึ่งหรือหลายอย่างดังต่อไปนี้

  • (1) ให้แก้ไขข้อความหรือวิธีการในการโฆษณา
  • (2) ห้ามการใช้ข้อความบางอย่างที่ปรากฏในการโฆษณา
  • (3) ห้ามการโฆษณาหรือห้ามใช้วิธีการนั้นในการโฆษณา
  • (4) ให้โฆษณาเพื่อแก้ไขความเข้าใจผิดของผู้บริโภคที่อาจเกิดขึ้นแล้วตามหลักเกณฑ์และวิธีการที่คณะกรรมการว่าด้วยการโฆษณากำหนด 

 

อย่างไรก็ตามโดยในการออกคำสั่งตาม (4) ให้คณะกรรมการว่าด้วยการโฆษณากำหนดหลักเกณฑ์และวิธีการ โดยคำนึงถึงประโยชน์ของผู้บริโภคประกอบกับความสุจริตใจในการกระทำของผู้กระทำการโฆษณา

 

ในกรณีที่คณะกรรมการว่าด้วยการโฆษณามีคำสั่งตาม (4) และผู้ประกอบธุรกิจไม่ปฏิบัติตามคำสั่งดังกล่าว คณะกรรมการว่าด้วยการโฆษณาอาจเข้าดำเนินการแทนผู้ประกอบธุรกิจ และให้ผู้ประกอบธุรกิจมีหน้าที่ชดใช้ค่าใช้จ่ายที่เกิดขึ้นจากการดำเนินการแทนนั้น โดยให้บังคับตามบทบัญญัติเกี่ยวกับการบังคับทางปกครองตามกฎหมายว่าด้วยวิธีปฏิบัติราชการทางปกครอง