thansettakij
"ถอดแมสก์" เป็นทางการเริ่มวันไหน มีเงื่อนไขอย่างไร ดูที่นี่

"ถอดแมสก์" เป็นทางการเริ่มวันไหน มีเงื่อนไขอย่างไร ดูที่นี่

21 มิ.ย. 2565 | 00:00 น.

เตรียมตัวให้พร้อม "ถอดแมสก์" เป็นทางการวันไหน "ขึ้นรถเมล์- เดินตลาด-ที่ทำงาน" ต้องสวมหน้ากากอนามัยหรือไม่ สรุปทุกเงื่อนไขพร้อมรายละเอียดไว้ให้ครบที่นี่

จากมติการประชุมคณะกรรมการบริหารสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 หรือ ศบค. ครั้งล่าสุดได้มีมติปรับพื้นที่โซนสีทั้ง 77 จังหวัดทั่วประเทศให้เป็น พื้นที่สีเขียว ทั้งยังมีมาตรการคลายล็อกในหลายๆ เรื่อง โดยในส่วนของมาตรการการ "สวม" หรือ "ไม่สวม" หน้ากากอนามัยนั้น มีรายละเอียดที่น่าสนใจ ดังนี้ 

 

ที่ประชุม ศบค.เห็นว่า ควรสวมหน้ากากและให้สวมหน้ากากตลอดเวลา เมื่ออยู่ในที่แออัด สถานที่ปิดหรือมีการอยู่ใกล้ชิดกับคนจำนวนมาก 

 

ส่วนผู้ที่อยู่ในที่โล่ง ไม่แออัด ไม่จำเป็นต้องใส่หน้ากากอนามัย หรือให้ขึ้นอยู่กับความสมัครใจได้ โดยเริ่มตั้งแต่วันที่ 1 กรกฎาคม 2565 นี้

เงื่อนไขการถอดหน้ากากอนามัย

  • เมื่ออยู่คนเดียว
  • กรณีอยู่ร่วมกับผู้อื่นที่ไม่ได้อาศัย อยู่ที่พำนักเดียวกัน ต้องสามารถเว้นระยะห่างได้ ไม่รวมกลุ่มแออัด และอยู่ในที่ระบายอากาศได้ดี
  • กรณีมีกิจกรรมที่จำเป็นต้องถอดหน้ากาก เช่น รับประทานอาหาร ออกกำลังกาย รับบริการบริเวณใบหน้า และศิลปะการแสดงต่าง ๆ 

ทั้งนี้ ให้ดำเนินการด้วยความระมัดระวัง เมื่อกิจกรรมนั้นเสร็จสิ้น ควรสวมหน้ากากทันที

 

เงื่อนไขการสวมหน้ากากอนามัย

1.สถานที่นอกอาคาร

  • ให้สวมหน้ากากอนามัย เมื่ออยู่ร่วมกับบุคคลอื่น เมื่อไม่สามารถเว้นระยะห่าง มีความแออัด
  • มีการรวมกลุ่มคนจำนวนมาก หรือ มีการระบายอากาศไม่ดี เช่น ขนส่งสาธารณะ ตลาด สนามกีฬาหรือสถานที่แสดงดนตรีที่มีผู้ชม เป็นต้น

2.สถานที่ภายในอาคาร

  • ให้สวมหน้ากาก
     

ขณะที่ ศูนย์ข้อมูลโควิด-19 รายงานสถานการณ์การแพร่ระบาดของโควิด-19 ล่าสุด (20 มิถุนายน 2565) มียอดผู้ติดเชื้อรวม 1,784 ราย 

  • ผู้ป่วยในประเทศ 1,783 ราย 
  • ผู้ป่วยจากต่างประเทศ 1 ราย 

 

มีผู้ป่วยที่หายป่วยกลับบ้าน 2,166 ราย ผู้ป่วยกำลังรักษา 20,911 ราย เสียชีวิต 18 ราย ผู้ป่วยปอดอักเสบรักษาตัวอยู่ในโรงพยาบาล 619 ราย ส่วนผู้ป่วยสะสม ตั้งแต่วันที่ 1 ม.ค.65 มีจำนวน 2,277,393 ราย หายป่วยสะสม ตั้งแต่วันที่ 1 ม.ค.65 จำนวน 2,280,938 ราย เสียชีวิตสะสม ตั้งแต่ 1 มกราคม 2565 จำนวน 8,787 ราย

 

ส่วนสถานการณ์ทั่วโลกล่าสุด (20 มิ.ย.2565) มีผู้ป่วยยืนยัน 544,244,141 ราย หายป่วยกลับบ้าน 519,389,606 ราย ยังรักษาในโรงพยาบาล 18,513,936 ราย และเสียชีวิต  6,340,599 ราย