นายธนารัตน์ งามวลัยรัตน์ ผู้จัดการธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์การเกษตร (ธ.ก.ส.) เปิดเผยว่า ตามมติคณะรัฐมนตรีกำหนดให้ ปี 2565 เป็นปีแห่งการแก้ไขหนี้สินภาคครัวเรือน ซึ่ง ธ.ก.ส. พร้อมสนับสนุนนโยบาย โดยวางมาตรการในการฟื้นฟูและลดหนี้ครัวเรือนเกษตรกรเพื่อเสริมสร้างความเข้มแข็งให้ระบบเศรษฐกิจฐานราก
รวมถึงเป็นการช่วยเหลือเกษตรกรที่ได้รับผลกระทบจากสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (COVID-19)ภัยธรรมชาติและภาวะเศรษฐกิจถดถอย จนทำให้เกษตรกรลูกค้ามีรายได้ลดลงสวนทางกับภาระค่าใช้จ่ายต่าง ๆ ที่เพิ่มขึ้น
ธ.ก.ส. จึงได้จัดตั้งคณะกรรมการบริหารหนี้ในระดับจังหวัดและสาขาเพื่อจัดทีมงานลงไปพบปะพูดคุย สอบถามปัญหากับเกษตรกรลูกค้า และวางแนวทางการเข้าไปช่วยเหลืออย่างตรงจุด ควบคู่กับการจัดโครงการชำระดีมีคืน และโครงการลดดอกเบี้ยแก้หนี้ภาคครัวเรือน ปีบัญชี 2565 เพื่อแบ่งเบาภาระหนี้สินอันเป็นภาระหนัก เสริมสภาพคล่องให้เกษตรกรสามารถประกอบอาชีพและมีรายได้เพียงพอสำหรับหมุนเวียนในครัวเรือน
โครงการชำระดีมีคืน ปีบัญชี 2565 มุ่งเน้นให้เกษตรกร บุคคล กลุ่มบุคคล กลุ่มเกษตรกร สหกรณ์ นิติบุคคล รวมถึงกองทุนหมู่บ้านและชุมชนเมือง ซึ่งเป็นลูกค้าที่มีหนี้ถึงกำหนดชำระ หรือหนี้ค้างชำระ 0–3 เดือน ในปีบัญชี 2565 ที่มีหนี้คงเหลือ ณ วันที่ 30 เมษายน 2565 ยกเว้นหนี้เงินกู้โครงการที่ได้รับชดเชยดอกเบี้ยตามนโยบายรัฐบาล มีแรงจูงใจในการชำระหนี้ตามกำหนดเวลา
เงื่อนไขโครงการชำระดีมีคืน ปีบัญชี 2565
โครงการลดดอกเบี้ยแก้หนี้ภาคครัวเรือน 2565 ธ.ก.ส.มุ่งเน้นให้เกษตรกรและบุคคล กลุ่มบุคคล กลุ่มเกษตรกร สหกรณ์ นิติบุคคล รวมถึงกองทุนหมู่บ้านและชุมชนเมือง ที่เป็นหนี้ด้อยคุณภาพ (Non-Performing Loan - NPL) หรือหนี้ปรับปรุงโครงสร้างหนี้ที่มีสถานะรับรู้รายได้ดอกเบี้ยค้างรับเกณฑ์เงินสด ณ วันที่ 31 มีนาคม 2565 หรือลูกหนี้ที่ออกจากโครงการพักชำระหนี้โครงการต่าง ๆ ของรัฐบาลที่ครบกำหนด
เงื่อนไขโครงการลดดอกเบี้ยแก้หนี้ภาคครัวเรือน 2565
นายธนารัตน์ กล่าวเพิ่มเติมว่า ธ.ก.ส. จะทำการคัดกรองรายชื่อผู้มีสิทธิ์ตามเงื่อนไขของโครงการชำระดีมีคืนและโครงการลดดอกเบี้ยแก้หนี้ภาคครัวเรือน ปีบัญชี 2565 โดยลูกค้าสามารถตรวจสอบสิทธิ์ในการเข้าร่วมโครงการฯ ได้ที่ ธ.ก.ส. ทุกสาขาทั่วประเทศ หรือ สอบถามข้อมูลเกี่ยวกับโครงการเพิ่มเติมได้ที่ Call Center 02 555 0555
ทั้งนี้ ระยะเวลาเข้าร่วมโครงการฯ ตั้งแต่บัดนี้ จนถึงวันที่ 31 มีนาคม 2566 ซึ่งเมื่อเกษตรกรลูกค้าชำระหนี้เสร็จสิ้นแล้วสามารถรับการสนับสนุนสินเชื่อใหม่เพื่อนำไปลงทุนในการประกอบอาชีพ รวมถึงการฟื้นฟูอาชีพเพื่อสร้างรายได้ตามความเหมาะสมต่อไป