วันนี้ (22 มิถุนายน 2565) นายสุภกิต เจียรวนนท์ ประธานกรรมการ ซีพี-ซีพีเอฟ นำคณะผู้บริหารในเครือฯ อาทิ นายอดิเรก ศรีประทักษ์ ประธานคณะกรรมการบริหาร นายพงษ์ วิเศษไพฑูรย์ ประธานกรรมการกลุ่มธุรกิจเกษตรอุตสาหกรรมสัตว์น้ำ เขตประเทศอินเดีย น.สพ.สุจินต์ ธรรมศาสตร์ ประธานผู้บริหารฝ่ายปฏิบัติการ ธุรกิจสัตว์น้ำ ซีพีเอฟ พร้อมด้วย นายศิริชัย มาโนช ที่ปรึกษาอาวุโสเครือซีพี
นายเบญจมินทร์ เจียรวนนท์ ที่ปรึกษาโครงการคณะทำงานปฏิบัติการป่าชายเลนภาคตะวันออก (ตราด) และ มล.อนุพร เกษมสันต์ รองกงสุลกิตติมศักดิ์รัสเซีย เยี่ยมชมความสำเร็จของวิสาหกิจชุมชนท่องเที่ยวบ้านธรรมชาติล่าง จ.ตราด และวิสาหกิจชุมชนท่องเที่ยววิถีชุมชนตำบลปากน้ำประแส จังหวัดระยอง ซึ่งได้รับการสนับสนุนจากซีพีเอฟ ช่วยขับเคลื่อนเศรษฐกิจ สังคม และสิ่งแวดล้อมของท้องถิ่น พร้อมทั้งปลูกป่าชายเลน ปล่อยปลาและปูดำ เพื่อเพิ่มความหลากหลายทางชีวภาพ ในพื้นที่ ต.ท่าพริก อ.เมือง จ.ตราด ภายใต้การดำเนินโครงการอนุรักษ์และฟื้นฟูป่า “ปลูก ปัน ป้อง ป่าชายเลน” โดยได้รับเกียรติจาก นายชำนาญวิทย์ เตรัตน์ ผู้ว่าราชการจังหวัดตราด ร่วมด้วย
นายชำนาญวิทย์ เตรัตน์ ผู้ว่าราชการจังหวัดตราด เปิดเผยว่า ความร่วมมือกันของภาครัฐ ชุมชน และภาคเอกชนอย่างซีพีเอฟ ทำให้ชุมชนบ้านธรรมชาติล่าง เป็นต้นแบบของการพัฒนาชุมชนร่วมกันที่ดำเนินการอย่างต่อเนื่องมาหลายปี กระทั่งเป็นที่รู้จัก โดยเฉพาะเรื่อง Eco-Print เป็นหนึ่งในกิจกรรมที่ซีพีเอฟให้การสนับสนุน ด้วยการทำผ้า 3 ป่า จากป่าภูเขา ป่าสมุนไพร และป่าชายเลน นำมาทำผ้ามัดย้อมจากวัสดุธรรมชาติ
ตามเป้าหมายคือ การทำขยะให้เป็นทองคำ สอดคล้องกับยุทธศาสตร์ของจังหวัด ด้านบริหารจัดการและอนุรักษ์ ฟื้นฟูทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม “ตราดรักษ์โลก รักษ์สิ่งแวดล้อม” ตลอดจนสนับสนุนวิสาหกิจชุมชนท่องเที่ยวบ้านธรรมชาติล่าง การทำปุ๋ยนาโน และน้ำดื่มชุมชน ขณะเดียวกัน ยังดำเนินกิจกรรมปลูกป่าชายเลน ฟื้นฟูธรรมชาติ ปลูกป่าในหัวใจคน ให้คนตราดรักธรรมชาติเพราะจังหวัดตราดขายธรรมชาติให้นักท่องเที่ยว การพัฒนาด้านสิ่งแวดล้อมชุมชนมีส่วนสำคัญยิ่ง ขณะที่องค์ความรู้ที่ได้รับจากซีพีเอฟ ช่วยสนับสนุนให้ประสบความสำเร็จ กลายเป็น Best Practice และสามารถขยายผลออกไปได้กับชุมชนอื่นๆต่อไป
ด้าน นายไพโรจน์ อภิรักษ์นุสิทธิ์ รองกรรมการผู้จัดการบริหาร ธุรกิจสัตว์น้ำ ในฐานะประธานคณะกรรมการอำนวยการยุทธศาสตร์ป่าชายเลน ซีพีเอฟ กล่าวว่า บริษัทฯ ดำเนินธุรกิจด้วยความรับผิดชอบต่อสังคมและสิ่งแวดล้อม มุ่งมั่นสร้างความมั่นคงทางอาหาร ภายใต้วิสัยทัศน์ “ครัวของโลก” โดยกำหนดกลยุทธ์ 3 เสาหลัก ขับเคลื่อนองค์กรสู่ความยั่งยืน คือ อาหารมั่นคง สังคมพึ่งตน และดินน้ำป่าคงอยู่ จึงให้ความสำคัญกับการมีส่วนร่วมดูแลสมดุลระบบนิเวศ เพิ่มพื้่นที่สีเขียวให้กับประเทศไทย ดำเนินโครงการอนุรักษ์และฟื้นฟูป่าต้นน้ำและป่าชายเลน ภายใต้แนวคิด “จากภูผา สู่ป่าชายเลน”
“ซีพีเอฟ ดำเนินโครงการอนุรักษ์และฟื้นฟูป่าชายเลน ปลูก ปัน ป้อง ป่าชายเลน มาอย่างต่อเนื่อง ตั้งแต่ปี 2557 ช่วยอนุรักษ์และฟื้นฟูป่าชายเลนรวม 2,388 ไร่ ซึ่งปัจจุบันเข้าสู่ระยะที่สองของโครงการ และในวันนี้ ท่านประธานกรรมการซีพี-ซีพีเอฟ ได้นำคณะผู้บริหารมาร่วมกันปลูกป่าชายเลนที่ ต.ท่าพริก จ.ตราด อาทิ ต้นถั่วขาว ต้นประสักดอกแดง ต้นโกงกางใบเล็ก ต้นโกงกางใบใหญ่ ต้นแสมขาว ต้นแสมดำ ต้นลำแพน เป็นต้น มีเป้าหมายอนุรักษ์และฟื้นฟูป่ารวมมากกว่า 1,300 ไร่ นอกจากนี้ บริษัทฯ ยังได้ส่งเสริมคุณภาพชีวิตของชุมชน ในพื้นที่ที่เราเข้าไปอนุรักษ์และฟื้นฟูป่าชายเลน เพื่อให้ชุมชนและป่าอยู่ร่วมกันได้อย่างยั่งยืนอีกด้วย” นายไพโรจน์ กล่าว
นอกจากการร่วมกันปลูกป่าชายเลนแล้ว กิจกรรมครั้งนี้ ยังมีการปล่อยปลาและปล่อยปูดำ เป็นการช่วยรักษาสมดุลธรรมชาติและเพิ่มความหลากหลายทางชีวภาพในพื้นที่ รวมถึงเยี่ยมชมความสำเร็จของวิสาหกิจชุมชนท่องเที่ยวบ้านธรรมชาติล่าง จ.ตราด ได้แก่ การทำผลิตภัณฑ์ผ้าสามป่า น้ำดื่มชุมชน ปุ๋ยนาโน ศูนย์การเรียนรู้การจัดการขยะ และวิสาหกิจชุมชนท่องเที่ยววิถีชุมชนตำบลปากน้ำประแส จ.ระยอง มีผลิตภัณฑ์ขึ้นชื่อ อาทิ กะปิ น้ำปลา ชาใบขลู่ เป็นต้น ซึ่ง ซีพีเอฟให้การสนับสนุน เพื่อช่วยขับเคลื่อนเศรษฐกิจ สังคม และสิ่งแวดล้อมในพื้นที่
ทั้งนี้ ซีพีเอฟ ดำเนินโครงการ ปลูก ปัน ป้องป่าชายเลน เข้าสู่ระยะที่สอง (ปี 2562-2566) มีเป้าหมายอนุรักษ์ ฟื้นฟู และปลูกป่าชายเลนอีก 2,900 ไร่ ในพื้นที่ จ.ตราด ระยอง และสมุทรสาคร โดยที่ผ่านมา ประสบผลสำเร็จจากการอนุรักษ์และฟื้นฟูป่าชายเลน สามารถเพิ่มพื้นที่สีเขียวให้ประเทยไทยสอดรับนโยบายของรัฐบาล
ผ่านการดำเนินโครงการซีพีเอฟ ปลูก ปัน ป้อง ป่าชายเลน ในระยะที่หนึ่ง ปี 2557-2561 อนุรักษ์และฟื้นฟูป่า พื้นที่ยุทธศาสตร์ 5 จังหวัด คือ ระยอง สมุทรสาคร ชุมพร สงขลา และพังงา รวม 2,388 ไร่ ช่วยฟื้นระบบนิเวศป่าชายเลนให้กลับมาอุดมสมบูรณ์ เกิดความหลากหลายทางชีวภาพทั้งพันธุ์พืชและสัตว์น้ำ และชุมชนโดยรอบสามารถใช้ประโยชน์จากทรัพยากรธรรมชาติที่ได้รับการฟื้นฟู ส่งเสริมให้คนในพื้นที่อยู่ร่วมกับป่าและพึ่งพาตนเอง ยกระดับเศรษฐกิจ สังคม และดูแลสิ่งแวดล้อมในพื้นที่อย่างยั่งยืน