นายชัยชาญ เจริญสุข ประธานสภาผู้ส่งสินค้าทางเรือแห่งประเทศไทย เปิดเผยถึงสถานการณ์การค้าและการเงินระหว่างประเทศครึ่งปีหลัง 2565ว่า การแพร่ระบาดของไวรัสโควิด – 19 ที่กินระยะเวลานานตั้งแต่ปลายปี 2562 จนถึงปัจจุบัน รวมถึงความขัดแย้งระหว่างรัสเซียและยูเครนที่อาจมีความความยืดเยื้อและยังคงไม่สามารถหาข้อสรุปได้ในปัจจุบัน ส่งผลให้เศรษฐกิจโลกถดถอยและมีทิศทางชะลอตัวลงโดยเฉพาะสหรัฐอเมริกาและยุโรป ในช่วงครึ่งปีหลัง
ดังนั้นสิ่งที่ผู้ประกอบการ โดยเฉพาะผู้ส่งออก จึงจำเป็นต้องเฝ้าระวังและจับตาความท้าทาย ความยืดเยื้อ ของสงครามรัสเซีย-ยูเครน การแบ่งขั้วอำนาจสหรัฐ และจีน วิกฤติพลังงาน และวัตถุดิบทางการเกษตร และแร่หายาก ส่งผลให้ต้นทุนภาคการผลิตและสินค้าสูงขึ้น วิกฤติเงินเฟ้อยังคงทรงตัวอยู่ในระดับสูงไปจนถึงสิ้นปี 2565 และจะเริ่มลดลงประมาณ Q2-Q3/2566
รวมถึง อัตราดอกเบี้ยนโยบายของสหรัฐฯ ที่คาดว่า FED จะมีการปรับขึ้นตามคาดที่ระดับ 3.4% ภายในสิ้นปีนี้ขณะที่ กนง. อาจปรับอัตราดอกเบี้ยนโยบายขึ้นแบบค่อยเป็นค่อยไปเพื่อลดความร้อนแรงของการฟื้นตัวของเศรษฐกิจ และการเคลื่อนไหวของค่าเงินบาท คาดว่ายังคงเคลื่อนไหวในทิศทางอ่อนค่าอยู่จนถึงปลายปี
แต่ยังคงคาดการณ์ได้ค่อนข้างยากและเป็นไปได้ว่าจะมีความผันผวน ต้องคอยติดตามนโยบายการเงินของสหรัฐอย่างใกล้ชิด ส่วนปัญหา ค่าระวางเรือทรงตัวในระดับสูงจนถึงปลายปี แต่ปริมาณตู้สินค้าเริ่มมีความคล่องตัวมากขึ้น
นายนันทพงษ์ จิระเลิศพงษ์ รองอธิบดีกรมส่งเสริมการค้าระหว่างประเทศ กล่าวว่า การเตรียมความพร้อมผู้ประกอบการส่งออกครึ่งปีหลัง สิ่งที่ท้าทายคือการ ปรับทิศทาง Degloblaization / Reshoring มุ่งเป้าหมายการผลิต ส่งออกในกลุ่มภูมิภาคมากขึ้น เช่น อาเซียน หรือซีแอลเอ็มวี ถือว่าเป็นโอกาสส่งออกในครึ่งปีหลัง รวมถึงตลาด จีน (New World Order) ตะวันออกกลาง และอินเดีย และควร ใช้โอกาสจากภาคการท่องเที่ยวที่ขยายตัวมากขึ้น โดยคาดว่าจะมีนักท่องเที่ยวเข้ามาเพิ่มมากขึ้นในช่วงครึ่งปีหลังทั้งปีน่าจะมีนักท่องเที่ยวเข้ามาในไทยราว 6 ล้านคนในปีนี้ ซึ่งจะผลักดันให้เศรษฐกิจไทยขยายตัวได้มากขึ้น
“อาจต้องมุ่งเน้นเรื่องสินค้าที่เกี่ยวข้องกับสิ่งแวดล้อม BCG มากขึ้น เพื่อสร้างมูลค่าเพิ่มของสินค้าและเตรียมความพร้อมปรับตัวภาคการผลิตสำหรับทิศทางความต้องการตลาดโลกที่เน้น Green ecosystem มากขึ้นต่อจากนี้ และเร่งใช้สิทธิประโยชน์จากความตกลงการค้า Free Trade Agreement (FTA) และ Mini FTA เช่น เมืองของจีน ฐานลูกค้าใหม่ และสหรัฐฯ ที่เป็นฐานลูกค้าเดิมมากขึ้น”
ขณะเดียวกันภาครัฐต้องเร่งประชาสัมพันธ์ ให้ผู้ประกอบกรขนาดกลางและขนาดเล็กให้สามารถเข้าถึงสิทธิประโยชน์มากขึ้น ด้วยการใช้ช่องทางการขายสินค้าออนไลน์ ผ่านแพลตฟอร์มต่างๆ ทั้งของไทยและต่างประเทศ โดยติดตามโครงการใหม่ๆ จากทั้งหน่วยงานภาครัฐ และภาคเอกชน
อย่างไรก็ตาม สรท. คาดการณ์การส่งออกปีนี้ ขยายตัว 5 – 8% ซึ่งสอดคล้องกับธนาคารแห่งประเทศไทย สำนักงานสภาพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ และผู้อำนวยการสถาบันระหว่างประเทศเพื่อการค้าและการพัฒนา ภายใต้ข้อสมมติฐาน ดังนี้ ค่าเงินบาท ต้องอยู่ที่ระดับ 33.5 – 34.5 ทิศทางราคาน้ำมัน คาดว่าน่าจะอยู่ในช่วง 100-115 ดอลลาร์สรัฐต่อบาเรล และ สถานการณ์ปริมาณตู้คอนเทนเนอร์ เพียงพอกับความต้องการส่งออกรวมถึงค่าระวางเรือ ไม่สูงไปมากกว่าปีที่แล้ว