นายเปล่งศักดิ์ ประกาศเภสัช นายกสมาคมการค้าปุ๋ยและธุรกิจการเกษตรไทย เผยกับ “ฐานเศรษฐกิจ” ว่า ต้องถอดบทเรียนประเทศศรีลังกา การประกาศเกษตรอินทรีย์ 100% ส่งผลให้ประเทศเผชิญกับการขาดแคลนอาหาร ไม่มีเงินไปซื้อน้ำมัน และไฟฟ้าใช้ จนทำให้ ‘รานิล วิกรามาสิงหะ’ นายกรัฐมนตรีศรีลังกา ประกาศเมื่อวันพุธ (22 มิ.ย. 2565) ที่ผ่านมาว่า เศรษฐกิจของศรีลังกาได้เข้าสู่ภาวะ ‘ล่มสลายโดยสมบูรณ์’ หลัง ในช่วงหลายเดือนที่ผ่านมาถือเป็นวิกฤตการณ์ที่เลวร้ายที่สุดนับตั้งแต่ในประวัติศาสตร์ของศรีลังกา นับตั้งแต่ได้รับเอกราชในปี 2491 อย่าผลักให้เคมีเป็นผู้ร้าย
“วันนี้เมืองไทยแม้จะไม่ขาดอาหาร แต่ต้องนำเงินเข้าประเทศด้วย ผลผลิตต้องมีคุณภาพ มีความมั่นคงทางอาหาร ในเรื่องการเกษตรยากที่สุด เพราะหลังสู้ฟ้าหน้าสู้ดิน ไม่ใช่แค่ยกหูมือถือ ฮัลโหล แต่ต้องลงไปเช็คดิน เช็คพันธุ์ที่จะใช้ เช็คดินฟ้าอากาศ แล้วโรคพืชก็เยอะแยะ ต้องอยู่กับท้องไร่ท้องนา แต่เราต้องโกยเงินเศรษฐกิจโลกเป็นแบบนี้”
นายเปล่งศักดิ์ กล่าวว่า อย่ามองนักลงทุนเป็นศัตรูหมด สุดท้ายก็เจ๊ง แล้วจะเลี้ยงประเทศได้อย่างไร นี่คือปัญหา คุณรักเกษตรกร ต้องเลี้ยงอาหาร แต่ถ้าเงินไม่พอที่จะทำอย่างอื่นควบคู่ด้วย แบบเดียวกันกับศรีลังกา สุดท้ายประกาศประเทศล้มละลาย คณะรัฐบาลต้องลาออกหมด ไล่ประธานาธิบดีแล้ว ตัวนายกรัฐมนตรีที่เพิ่งเปลี่ยนเข้าไปแค่ 1 เดือนจะอยู่ไม่ได้ สุดท้ายเงินซื้อน้ำมันก็ไม่มี เอกชนก็เจ๊งหมด เงินไม่มีความหมาย ซื้อของไม่ได้ ตอนนี้มีหลายองค์กรระหว่างประเทศเข้าไปช่วย แต่มองดูแล้วไม่พอยาใส้ เพราะทั้งประเทศมีปัญหาตามมามากมาย
“ประเทศศรีลังกา” เมื่อเดือนที่แล้วให้ข้าราชการประจำหยุดงาน สัปดาห์ละ 2 ครั้งให้ไปทำนา ไม่มีข้าวที่จะนำมารับประทาน เมื่อมาพูดถึงปุ๋ยอินทรีย์ ปุ๋ยเคมี ต่อไปเมืองไทยควรจะขายพืชผลทางการเกษตรได้เงินอีกมากมาย วันนี้ต้องพูดว่าจะทำอย่างไรให้มีอาหารขายทั่วโลกให้มากขึ้น วันนี้หากภาคภูมิใจ ทุเรียนขายสูงสุด รองลงมาเป็นข้าว อยู่ในติดนำรายได้เข้าประเทศแสนล้านบาท แล้ววันนี้ที่มีประกาศทุเรียนอินทรีย์ กี่ไร่ ต่อไปอนาคตจะมีส่งออกหรือไม่
"การประกาศอินทรีย์เป็นเรื่องดี แต่การใช้ปุ๋ยเคมี ก็ควรจะควบคู่ เพราะช่วยเรื่องผลิตผลและผลิตคุณภาพ เช่น ทุเรียนอินทรีย์ จะขาดความหอมหวานของรสชาติ เป็นต้น รวมทั้งเรื่องการใช้สารเคมีต่างๆ ต้องใช้ให้ถูกต้อง แต่วันนี้พอเราแบนสารเคมีไป ราคาในประเทศพุ่ง 5 เท่า ไร้คุณภาพ แต่ต้องใช้เพราะไม่มีสารอะไรทดแทนได้ นี่คือบทเรียนของประเทศไทย ทำให้ต้นทุนเกษตรเพิ่มขึ้น จากบทเรียนดังกล่าวนี้ มีผลทำให้ ร่างพระราชบัญญัติสารเคมี พ.ศ. ..... สมาชิกสภาผู้แทนราษฎร (ส.ส.) รู้ความจริงแล้ว จึงไม่ลงมติให้"
ด้าน ดร.จรรยา มณีโชติ นายกสมาคมวิทยาการวัชพืชแห่งประเทศไทย เผยผ่านงานสัมนาที่ร่วมเป็นเจ้าภาพในการจัดงานเสวนา เคมี..พระเอกหรือผู้ร้าย ครั้งที่ 3 ในหัวข้อ "อินทรีย์-เคมี: โอกาสของไทยใน ภาวะวิกฤตอาหารโลก" จัดโดยสภาอุตสาหกรรม ,สมาคมการค้าปุ๋ยและธุรกิจการเกษตรไทย และ สมาคมวิทยาการวัชพืชแห่งประเทศไทย เพื่อค้นหาคำตอบว่า ประเทศไทยจะก้าวเดินต่อไปเป็นครัวไทยสู่ครัวโลกในภาวะวิกฤตอาหารโลกที่กำลังขาดแคลนได้ด้วยการทำเกษตรอินทรีย์ หรือ การทำเกษตรแบบใช้สารเคมีอย่างถูกต้องปลอดภัย (GAP)
ประเด็นที่น่าสนใจคือ เกษตรอินทรีย์ : ผลผลิตต่ำกว่า ใช้แรงงานคนมากกว่า ต้นทุนการผลิตสูงกว่า และ ใช้พื้นที่ผลิตมากกว่า จึงขายได้ราคาสูงกว่า แต่ ไม่สามารถผลิตได้ต่อเนื่องตลอดทั้งปี ทำให้โรงงานผลิตน้ำพริกอินทรีย์ ต้องรอเก้อมานานถึง 10 ปีก็ยังไม่ได้เปิดการผลิตซักที เนื่องจากไม่มีผลผลิตเพียงพอจะเดินเครื่อง (ข้อมูลจาก สุรวุฒิ ศรีนาม ประธานกรรมการบริษัทเรียลฟาร์ม ผู้ผลิตและส่งออกพริกไปต่างประเทศ)และถ้าจะส่งผักผลไม้อินทรีย์ออกไปขายต่างประเทศ ก็ต้องผ่านขั้นตอนการตรวจ 3 อย่าง คือ 1.สารเคมีตกค้าง 2.โรคแมลงที่อาจติดไป และ 3.การปนเปื้อนของจุลินทรีย์ เช่นเดียวกับสินค้าเกษตรที่ผลิตด้วยสารเคมี
รู้มั้ยว่า ปัจจุบันมีพื้นที่ทำเกษตรอินทรีย์ทั่วโลกเพียง 1.5% ของพื้นที่ทำการเกษตรทั้งโลก...หากเกษตรอินทรีย์ทำได้ง่ายราคาดี..ทำไมทุกประเทศไม่ทำเกษตรอินทรีย์ 100% “ศรีลังกา” เป็นประเทศแรกในโลกที่ประกาศทำเกษตรอินทรีย์ 100% และห้ามนำเข้าสารเคมีทุกชนิดเมื่อเดือนเมษายน 2564 แต่ปรากฏว่า 6 เดือนผ่านไปเศรษฐกิจของศรีลังกา เข้าสู่ภาวะ วิกฤตและเกิดภาวะข้าวยากหมากแพง ไปทัั้งประเทศ จำนวนคนจนเพิ่มขึ้น 5 แสนคน ทำให้รัฐบาลศรีลังกาจึงประกาศยกเลิกการแบนปุ๋ยเคมี ในเดือนพฤศจิกายน 2564
ย้อนกลับมามองประเทศไทยของเรา...พื้นที่เพาะปลูกในประเทศไทยมีทั้งหมด 149 ล้านไร่ เป็นพื้นที่ทำเกษตรอินทรีย์ 1.2 ล้านไร่ หรือ คิดเป็น 0.9% เท่านั้น และในพื้นที่อินทรีย์ 1.2 ล้านไร่เป็นข้าวอินทรีย์ 1.056 ล้านไร่ อีก 2 แสนไร่เป็นพืชไร่ ผักและไม้ผล
พื้นที่เพาะปลูกส่วนใหญ่ของประเทศ 147.8 ล้านไร่ หรือ 99.1% ใช้ ปุ๋ยเคมีและสารเคมีกำจัดศัตรูพืช เพื่อผลิตอาหารเลี้ยงประชากรไทยทั้งประเทศและยังเหลือส่งออกไปขายต่างประเทศนำเงินตราเข้าประเทศได้ปีละ 1. 2 ล้านล้านบาท ซึ่งเป็นเครื่องบ่งชี้ให้เห็นว่าสินค้าเกษตรที่ผลิตด้วยสารเคมีไม่ได้มีปัญหาการตกค้างของสารเคมี เพราะไม่เช่นนั้นเราคงไม่สามารถส่งออกไปขายยุโรป ญี่ปุ่น อเมริกาซึ่งมีความเข้มงวดเรื่องของมาตรฐานความปลอดภัย
การสร้างมายาคติเรื่อง "สารพิษตกค้างเกินค่ามาตรฐานในผักผลไม้" หรือ วาทะกรรม "สารพิษอาบแผ่นดิน" เป็นการกระทำของกลุ่ม NGO ที่ต้องกาทำให้สังคมเกิดความตระหนกจนเกินเหตุ ค่ามาตรฐาน MRLs (Maximum Residue Limits) เป็นแค่เพียงมาตรฐานทางการค้า (Trading Standard ) ไม่ใช่มาตรฐานความปลอดภัย (Safety Standard)
ทำไมจึงกล้าพูดเช่นนี้ได้ เพราะถ้า MRLs เป็นค่ามาตรฐานความปลอดภัย ค่า MRLs ของทุกประเทศทั่วโลก..ต้องมีค่าเท่ากันแต่ในความเป็นจริง.. MRLs ของแต่ละประเทศมีความแตกต่างกัน บางประเทศเช่นญี่ปุ่นกำหนดให้มีค่าต่ำมากๆ เพื่อเป็นการกีดกันไม่ให้สินค้าเกษตรชนิดเดียวกันเข้าไปขายในประเทศญี่ปุ่นได้ง่ายๆ เป็นการปกป้องเกษตรกรในประเทศ เนื่องจากทั่วโลกยกเลิกกำแพงภาษีสินค้าเกษตรไปแล้ว หนทางเดียวที่รัฐบาลแต่ละประเทศจะปกป้องเกษตรกรของตัวเองได้คือการกำหนดค่า MRLs ให้ต่ำที่สุดเท่าที่จะต่ำได้ เพื่อกีดกันไม่ให้ สินค้าเกษตร จากต่างประเทศ เข้ามาแข่งขันได้ง่ายๆ
“ทุเรียน” เป็นตัวอย่างพืชเศรษฐกิจที่ดีของระบบเกษตรที่ใช้ปุ๋ยเคมีและสารเคมีกำจัดศัตรูพืช เพราะผลิตในระบบ GAP (ใช้สารเคมีอย่างถูกต้องและปลอดภัย) เป็นที่ยอมรับของคู่ค้าคือประเทศจีน ทำรายได้เข้าประเทศ 1.2 แสนล้านบาท ถ้าไม่มีปุ๋ยเคมีไม่มีสารเคมีกำจัดศัตรูพืชเราคงไม่มีทุเรียนส่งออกได้เท่านี้
มูลค่าส่งออกพืชอินทรีย์ปี 2564 อยู่ที่ 1,239 ล้านบาท ซึ่งส่วนใหญ่คือ ข้าวอินทรีย์ มูลค่า 878.64 ล้านบาท ซึ่งถ้าเปรียบเทียบกับงบประมาณที่รัฐบาลสนับสนุนโครงการข้าวอินทรีย์ล้านไร่ในระยะเวลา 5 ปีตั้งแต่ปี 2560 ถึง 2564 คิดเป็นเงินทั้งหมด 9,696 ล้านบาท ซึ่งยังไม่ทราบว่าพื้นที่ข้าวอินทรีย์ 1 ล้านไร่จะลดลงหรือเพิ่มขึ้นหากรัฐบาลงดการสนับสนุน
ในข่วง 10 ปี ที่ผ่านมา..เกษตรกรส่วนใหญ่ของประเทศกว่า 20 ล้านคน ซึ่งผลิตอาหารโดยใช้สารเคมีให้คนไทยทั้งประเทศได้ บริโภค และ ยังส่งออกไปขายต่างประเทศ ได้แต่นั่งมองตาปริบๆ ณ เวลานี้ คงเหลือหนทางเดียวที่เกษตรกรจะทำได้คือ รอการเลือกตั้งครั้งต่อไป และเลือกพรรคการเมืองที่มีนโยบายสนับสนุนการใช้สารเคมีอย่างถูกต้องและปลอดภัย (GAP) มากกว่า
ดร.จรรยา กล่าวว่า ต้องถอดบทเรียน ประเทศศรีลัง เกิดอะไรขึ้น นับตั้งแต่ เมื่อเดือนเมษายน 2564 รัฐบาลของนายโกตาบายา ราชปักษา ประกาศห้ามนำเข้าปุ๋ยเคมีและสารเคมีกำจัดศัตรูพืชทุกชนิด เพราะต้องการประหยัดเงินซื้อปุ๋ยเคมึและสารเคมีกำจัดศัตรูพืช และได้เริ่มนโยบายเกษตรอินทรีย์ 100% ไปในคราวเดียวกัน แต่หลังจากแบนไป 6 เดือน ก็ต้องประกาศยกเลิกการแบนปุ๋ยเคมีในเดือนพฤศจิกายน 2564 แต่ยังคงแบนสารเคมีกำจัดศัตรูพืชทุกขนิด สาเหตุที่ต้องยกเลิก
- ผลผลิตข้าวลดลง 33% ทำให้ รัฐต้องซื้อข้าวจากจีนและอินเดีย 650,000 ตัน
- รัฐต้องจ่ายเงินเยียวยาให้ชาวนา 12,200 ล้าน บาท
- ผลผลิตใบชาลดลง 35% คิดเป็นมูลค่า 14,875 ล้านบาท
- ราคาอาหารในประเทศเพิ่มขึ้น 5 เท่า
- มีจำนวนคนจนเพิ่มขึ้น 5 แสนคน
- เกิดภาวะวิกฤตทางเศรษฐกิจและขาดแคลนอาหาร
แต่ ยกเลิกการแบนสารเคมีครั้งนี้ยกเลิกเฉพาะปุ๋ยเคมีเท่านั้น..แต่ยังคงห้ามใช้สารเคมีกำจัดศัตรูพืชทุกชนิด ทั้งโรค แมลง และ วัชพืชเราคงต้องรอดูกันต่อไปว่าการเกษตรของศรีลังกาจะฟื้นตัว โดยไม่ใช้สารเคมีกำจัดศัตรูพืชได้หรือไม่เพราะศรีลังกาเคยมีบทเรียนมาครั้งหนึ่งจากการแบนโฟเซตเมื่อปี 2558 ด้วยความเชื่อว่าไกลโฟเซต อาจเป็นสาเหตุของโรคไตเรื้อรังที่ไม่ยังทราบสาเหตุ (CDKu: Chronic Kidney Disease unknown origin) และอาจเป็นสารก่อมะเร็ง (ตามที่สถาบันมะเร็งนานาชาติได้ออกมาประกาศจัดให้ไกลโฟเซตอยู่ในกรุ๊ป 2A เมื่อปี 2557)
ในครั้งนั้นมีนักวิทยาศาสตร์ในประเทศศรีลังกามาเตือนรัฐบาลว่า ข้อมูลในการแบนไกลโฟเซต ยังไม่เป็นที่น่าเชื่อถือทางวิทยาศาสตร์ ดังนั้นยังไม่ควรแบน..แต่รัฐบาลก็ไม่ฟัง ฟังแล้วคุ้นๆหูเหมือนแบนพาราควอตในประเทศไทยยังไงไม่รู้ ผ่านไป 3 ปี พืชเศรษฐกิจหลายชนิดเสียหาย โดยเฉพาะพืชส่งออกหลักของศรีลังกาเสียหายหนัก จากการแบนไกลโฟเซต เพราะเนื่องจากผลผลิตใบชาจะลดลงยังมีการลักลอบนำไกลโฟเซตเข้ามาจำหน่ายในศรีลังกา ขาดแคลนแรงงานกำจัดวัชพืชทำให้หญ้าขึ้นรก ทำให้คนงานไร่ชาถูกงูกัดเป็นจำนวนมาก
ที่สำคัญคือข้ออ้างในการแบนไกลโฟเซตที่รัฐบาลศรีลังกา ยังขาดความน่าเชื่อถือทางวิทยาศาสตร์ โดยเฉพาะเรื่องไกลโฟเซต อาจจะเป็นสารก่อมะเร็งนั้น หน่วยงานกำกับดูแลด้านความปลอดภัยการใช้สารเคมีกำจัดศัตรูพืชทั่วโลกประเมินแล้วว่า ไกลโฟเซต ไม่ใช่สารก่อมะเร็งในคน และอนุญาตให้ใช้ได้ต่อไป ปี 2561 รัฐบาลศรีลังกาจึงประกาศยกเลิกการแบนไกลโฟเซต โดย อนุญาตให้ใช้ในบางพืช เช่น ยางพารามะพร้าว และใบชาแต่ปี 2564 ไกลโฟเซต กลับมาถูกแบนอีกครั้ง ด้วยนโยบายเกษตรอินทรีย์ 100% ประวัติศาสตร์จะซ้ำรอยหรือไม่ เป็นเรื่องที่น่าจับตามอง
ดร.จรรยา กล่าวทิ้งท้ายว่า ประเทศไทย มีพื้นที่ทำการเกษตรของประเทศไทย 149 ล้านไร่ ทำเกษตรอินทรีย์ได้ 1.2 ล้านหรือ 0.9% ของพื้นที่เพาะปลูกทั้งประเทศที่เรามีกินอาหารการกินอุดมสมบูรณ์และสามารถจะเหลือส่งออก..ทำเงินตราเข้าประเทศปีละมากกว่า 1.3 ล้าน ล้านบาท..มาจากการผลิตแบบใช้สารเคมีหากสินค้าเกษตรของประเทศไทยปนเปื้อนด้วยสารพิษทำไมเราถึงส่งออกได้ทำไมประเทศปลายทางยังซื้อ สินค้าเกษตร จากประเทศไทย
แต่ในระยะ 8 ปีที่ผ่านมารัฐบาลกลับทุ่มงบประมาณจำนวนมาก ไปส่งเสริมเกษตรอินทรีย์ โดยอ้างว่าผลผลิตเกษตรอินทรีย์มีราคาสูงกว่า การเกษตรที่ใช้สารเคมี หลักฐานเชิงประจักษ์คือโครงการข้าวอินทรีย์ล้านไร่ที่รัฐบาลทุ่มงบประมาณอุดหนุนไปทั้งหมด 9,996 ล้านบาทสงสัยว่าถ้าไม่มีเงินอุดหนุนแล้วชาวนาเหล่านั้นยังคงทำข้าวอินทรีย์กันต่อไปหรือไม่
เกษตรกรทำอินทรีย์ สามารถขายผลผลิตได้ราคาสูงก็จริง แต่ต้นทุนการผลิตสูงกว่า ผลผลิตต่อไร่ต่ำกว่า ใช้แรงงานคนมากกว่า ต้องการพื้นที่เพิ่ม ขึ้นเพื่อให้ได้ผลผลิตเท่ากับการใช้สารเคมี ถ้าจะทำเกษตรอินทรีย์กันทั้งประเทศ เราคงจะต้องไปตัดไม้ทำลายป่ากันอีกมากมายเพราะเกษตรอินทรีย์ต้องการพื้นที่มากกว่าเกษตรใช้สารเคมีอีกเท่าตัวก็สำคัญคือเราจะหาปุ๋ยอินทรีย์มาสำหรับพื้นที่ 149 ล้านไร่ ได้อย่างไรทั้งนี้ยังไม่รวมถึงปัญหาการระบาดของโรคแมลงและวัชพืช
โดยเฉพาะวัชพืชเรามีคนงานดายหญ้าพอหรือเครื่องจักรกลสามารถใช้ได้ในทุกพื้นที่ ทุกสภาพอากาศ และในทุกพืชจริงหรือชีวภัณฑ์กำจัดวัชพืชไม่ปนเปื้อนสารเคมีจริงหรือชีวภัณฑ์ กำจัดแมลงกำจัดโรคมีประสิทธิภาพในการควบคุมโรคแมลงได้เท่าสารเคมีจริงหรือ
"ครัวไทยจะไปสู่ครัวโลก" ด้วยการทำ "เกษตรอินทรีย์" ทั้งประเทศได้จริงหรือ