หลังจากนักวิเคราะห์ออกมาประเมินเศรษฐกิจสหรัฐฯ มีแนวโน้มจะเผชิญ "Stagflation" หรือภาวะเศรษฐกิจชะงักงันและเงินเฟ้อสูง ภายใน 12 เดือนข้างหน้า ซึ่งเป็นความเสี่ยงระยะยาวต่อสหรัฐฯ มากยิ่งกว่าภาวะเศรษฐกิจถดถอย หรือ "Recession" และไม่แน่ว่า อาจจะกลายเป็นวิกฤตรอบใหม่ ซึ่งประเทศไทยก็จำต้องโดนหางเลขไปด้วย
กรณีของ Stagflation ในประเทศไทยนั้น แม้ล่าสุดหลายหน่วยงานทางด้านเศรษฐกิจของไทยจะออกมายืนกรานว่า โอกาสเกิด Stagflation ในไทยจะยังไม่เกิดขึ้น การันตีโดยผู้ว่าการธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) ซึ่งออกมาระบุว่าการที่เศรษฐกิจจะเข้าสู่ภาวะนี้ ต้องประกอบด้วย อัตราเงินเฟ้อสูง ควบคู่กับภาวะเศรษฐกิจชะลอตัว
แต่ในปัจจุบันแม้อัตราเงินเฟ้อของไทยจะปรับตัวสูงขึ้นเกินกว่ากรอบเป้าหมาย แต่เศรษฐกิจปีนี้ กลับไม่ได้ชะลอตัวแต่อย่างใด และเชื่อว่า มีโอกาสน้อยมากที่เศรษฐกิจไทยปีนี้จะเติบโตต่ำกว่าปีก่อน หรือโอกาสที่เศรษฐกิจไทย ปี 2565 จะโตไม่ถึง 2% หรือโตใกล้เคียงกับปีก่อนมีน้อยมาก
เช่นเดียวกับรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง ก็ออกมายืนยันว่า แม้เกิดภาวะเงินเฟ้อ ราคาสินค้าขึ้น แต่เศรษฐกิจไทยตอนนี้ก็ค่อย ๆ ฟื้นตัวอย่างต่อเนื่อง หลังจากที่ได้รับผลกระทบจากโควิด-19 ขณะที่การจ้างงานก็เริ่มกลับมา และตัวเลข GDP ยังขยายตัว สะท้อนว่าคนไทยยังมีรายได้ เพียงแต่ความสามารถ หรือ กำลังซื้อลดน้อยลงเท่านั้น
แต่อย่างไรก็ดีการเผชิญปัญหา Stagflation ก็ยังเป็นสิ่งที่มองข้ามไปไม่ได้
เศรษฐกิจแบบ Stagflation กับ Recession นั้นมีความแตกต่างกันอย่างไร และเศรษฐกิจแบบไหนน่ากลัวกว่ากันนั้น ดร.นณริฏ พิศลยบุตร นักวิชาการอาวุโส สถาบันวิจัยเพื่อการพัฒนาประเทศไทย (ทีดีอาร์ไอ) อธิบายเรื่องนี้กับ “ฐานเศรษฐกิจ” ดังนี้
Stagflation เป็นปัญหาที่แก้ยากกว่า Recession สำหรับเศรษฐกิจโดยปกติจะเป็นวงจร ระหว่าง “เศรษฐกิจเติบโตดี” หรือ เงินหมุนเวียนดี และเงินเฟ้อหรือราคาสินค้าเพิ่มขึ้นสูงเพราะคนมีเงินจับจ่ายใช้สอย แย่งซื้อสินค้าที่ผลิตไม่ทัน กับ “เศรษฐกิจหดตัว” หรือ เงินหมุนเวียนฝืดเคือง และเงินเฟ้อต่ำหรือติดลบเพราะคนไม่มีเงินจับจ่ายใช้สอย ผู้ผลิตมีสินค้าเหลือจึงลดราคา
หน้าที่ของรัฐ คือ ต้องลดความผันผวนให้เติบโตแบบพอดี เพราะถ้าเศรษฐกิจโตมากไปก็แตะเบรกโดยการลดรายจ่ายภาครัฐ หรือขึ้นดอกเบี้ยนโยบาย เพื่อให้คนหรือภาคธุรกิจลดการใช้จ่ายและลงทุนลง แต่ถ้าเศรษฐกิจกลับตัวก็เหยียบคันเร่งเพิ่มรายจ่ายภาครัฐ หรือลดดอกเบี้ยนโยบายลง การแก้แบบนี้ จึงไม่ยากและตรงไปตรงมา
เศรษฐกิจแบบ Stagflation คือ เศรษฐกิจเติบโตต่ำหรือไม่โต แต่เงินเฟ้อกลับสูง ซึ่งทางแก้จะยากกว่า เพราะถ้าจะเหยียบคันเร่งกระตุ้นเศรษฐกิจก็จะเจอปัญหาเงินเฟ้อที่สูง แต่ถ้าเหยียบเบรกชะลอเงินเฟ้อก็จะทำให้เศรษฐกิจหดตัวไปอีก ทางออกจึงต้องประคองทั้งเศรษฐกิจให้เติบโตและเงินเฟ้อไม่ให้สูงเกินไป ซึ่งนับเป็นเรื่องที่ทำได้ยาก
ดร.นณริฏ ระบุว่า ทางออกเท่าที่เห็น คือ เนื่องจากเงินเฟ้อรอบนี้มาจากราคาพลังงาน ซึ่งเกิดจากปัญหาระหว่างรัสเซีย-ยูเครน และปัญหาการขนส่งสินค้าระหว่างประเทศที่ชะงักตัวจากโควิด จึงต้องรอให้ปัญหาทั้งสองคลี่คลายในระดับหนึ่งก่อน
นั่นคือ สหรัฐฯ แก้ไขปัญหาเองได้อย่างจำกัด ต้องรอให้ต้นตอของปัญหาคลี่คลายมากขึ้น จึงทำให้เศรษฐกิจจะชะลอตัวลงเป็นเวลานานระดับ 1-2 ปีเป็นอย่างน้อย และแน่นอนว่าสหรัฐฯ เป็นผู้ซื้อและผู้ขายสินค้าเจ้าใหญ่ของโลก ทำให้ประเทศอื่น ๆ ส่งออกได้ลดลง
นอกจากนี้ การขึ้นดอกเบี้ยของสหรัฐฯ ยังจะทำให้เกิดเงินไหลออกจากประเทศกำลังพัฒนาไปยังสหรัฐฯ ทำให้เศรษฐกิจของประเทศที่เปราะบางแย่ลงตามไปด้วย เช่น ประเทศที่มีหนี้ต่างประเทศสูงจะมีหนี้ที่สูงขึ้น ประเทศที่เงินไหลออก ค่าเงินอ่อนจะยิ่งต้องจ่ายเงิน เพื่อซื้อพลังงานแพงขึ้น
“ในส่วนของประเทศไทย ค่าเงินบาทของเราอ่อนลงมาก และราคาน้ำมันที่เพิ่มขึ้นทำให้เราเจอปัญหาเงินเฟ้อสูงกระทบประชาชนในวงกว้าง เศรษฐกิจในปีนี้ เคยถูกประเมินว่าจะโตประมาณ 3.5% ล่าสุดลดลงเหลือประมาณ 3% และปีหน้า 2566 ก็ลดลงจากเดิม 4.2% เหลือโตแค่ 3.7% เท่านั้น” ดร.นณริฏ กล่าว
ด้วยผลกระทบดังกล่าว หากจะบริหารนโยบายเศรษฐกิจให้ผ่านพ้นช่วงนี้ไปได้ มีข้อแนะนำว่า