ไปต่อไม่ไหว ธุรกิจ"เลิกกิจการ" เพิ่มกว่า 1,102 ราย

29 มิ.ย. 2565 | 08:49 น.
อัปเดตล่าสุด :29 มิ.ย. 2565 | 16:01 น.

ไปต่อไม่ไหว ธุรกิจ"เลิกกิจการ" เพิ่มกว่า 1,102 ราย จากช่วงเดียวกันของปีก่อนและเพิ่มขึ้น 30% จากเดือนเม.ย.นี้ปี ชี้ปัจจัยมาจากการฟื้นตัวของเศรษฐกิจในประเทศและต้นทุนการผลิตที่สูงขึ้นกระทบต่อกำลังซื้อของประชาชน

นายจิตรกร ว่องเขตกร รองอธิบดีกรมพัฒนาธุรกิจการค้า เปิดเผยถึงภาพรวมการจดเลิกกิจการในเดือนพ.ค.พบว่าธุรกิจเลิกประกอบกิจการ มีจำนวน 1,102 ราย เมื่อเทียบกับเม.ย.2565 เพิ่มขึ้น 30% เทียบกับพ.ค.2564 เพิ่มขึ้น 39% มีมูลค่าทุนจดทะเบียนเลิกจำนวน 3,760.77 ล้านบาท

นายจิตรกร ว่องเขตกร รองอธิบดีกรมพัฒนาธุรกิจการค้า

โดยประเภทธุรกิจเลิกประกอบกิจการสูงสุด 3 อันดับแรก ได้แก่ ธุรกิจก่อสร้างอาคารทั่วไป จำนวน 141 ราย      คิดเป็น 13% รองลงมาคือ ธุรกิจอสังหาริมทรัพย์ จำนวน 52 ราย คิดเป็น 5% และธุรกิจภัตตาคาร/ร้านอาหาร
จำนวน 36 ราย คิดเป็น 3% ตามลำดับ

 

 

ไปต่อไม่ไหว ธุรกิจ\"เลิกกิจการ\" เพิ่มกว่า 1,102 ราย

 และธุรกิจเลิกประกอบกิจการแบ่งตามช่วงทุน  โดยช่วงทุนที่มีจำนวนรายธุรกิจเลิกประกอบกิจการทั่วประเทศ มากที่สุด ได้แก่ ช่วงทุนไม่เกิน 1 ล้านบาท จำนวน 819 ราย คิดเป็น 74.32% รองลงมาช่วงทุนมากกว่า 1- 5 ล้านบาท จำนวน 233 ราย คิดเป็น 21.14% ลำดับถัดไป คือ ช่วงทุนมากกว่า 5-100 ล้านบาท จำนวน 42 ราย   คิดเป็น 3.81% และช่วงทุนมากกว่า 100 ล้านบาท มีจำนวน 8 ราย คิดเป็น 0.73% ตามลำดับ 

สำหรับแนวโน้มการจดทะเบียนตั้งใหม่ คาดว่า จะฟื้นตัวดีขึ้นต่อเนื่อง โดยเฉพาะการทำธุรกิจที่เกี่ยวเนื่องกับภาคการท่องเที่ยว ทั้งโรงแรม การค้าขาย ภัตตาคาร ร้านอาหาร ธุรกิจนำเที่ยว ธุรกิจบันเทิง เนื่องจากมีจำนวนนักท่องเที่ยวเดินทางเข้าไทยเพิ่มขึ้นหลังเปิดประเทศเต็มรูปแบบ และรัฐบาลมีการส่งเสริมการท่องเที่ยวภายในประเทศจากโครงการเราเที่ยวด้วยกัน เฟส 4 และธุรกิจที่เกี่ยวเนื่องกับการส่งออก ที่ยังมีแนวโน้มขยายตัวได้ดีขึ้น แต่ก็ต้องระวังผลกระทบจากราคาน้ำมันเชื้อเพลิงที่ปรับตัวสูงขึ้น การยกเลิกตรึงราคาก๊าซหุงต้ม การปรับเพิ่มค่าไฟฟ้าผันแปร (Ft) และสถานการณ์โควิด-19 ที่จะเป็นปัจจัยลบ กระทบต่อการประกอบธุรกิจ
ทั้งนี้ในเดือนพ.ค. มีผู้ประกอบธุรกิจยื่นขอจดทะเบียนจัดตั้งห้างหุ้นส่วนบริษัทใหม่ทั่วประเทศ จำนวน 5,917 ราย เทียบกับเม.ย.2565 เพิ่มขึ้น 10% และเทียบกับพ.ค.2564 เพิ่มขึ้น 6% ซึ่งเป็นการกลับมาฟื้นตัวอีกครั้ง หลังจากที่ชะลอตัวลงไปในเดือนเม.ย.2565 โดยมีมูลค่าทุนจดทะเบียนจำนวน 14,357.13 ล้านบาท และประเภทธุรกิจที่จัดตั้งใหม่สูงสุด 3 อันดับแรก ได้แก่ ธุรกิจก่อสร้างอาคารทั่วไป ธุรกิจอสังหาริมทรัพย์ และธุรกิจภัตตาคาร ร้านอาหาร ที่กลับมาติดอันดับ 3 ต่อเนื่องเป็นเดือนที่ 4 ติดต่อกัน ตามการฟื้นตัวของเศรษฐกิจ การท่องเที่ยว และการเปิดประเทศ
กรมฯ ยังคาดการณ์การจดทะเบียนจัดตั้งธุรกิจใหม่ในช่วงครึ่งปีแรกของปี 2565 อยู่ประมาณที่ 40,000 ราย และตลอดทั้งปี 2565 อยู่ที่ประมาณ 70,000–75,000 รายปัจจุบันมีธุรกิจดำเนินกิจการอยู่ทั้งสิ้น (ณ วันที่ 31 พ.ค.2565) จำนวน 837,840 ราย มูลค่าทุน 20.03 ล้านล้านบาท จำแนกเป็นห้างหุ้นส่วนจำกัด ห้างหุ้นส่วนสามัญนิติบุคคล จำนวน 202,250 ราย คิดเป็น 24.14% บริษัทจำกัด จำนวน 634,245 ราย คิดเป็น 75.70% และบริษัทมหาชนจำกัด จำนวน 1,345 ราย คิดเป็น 0.16% ตามลำดับ