นายเกรียงไกร เธียรนุกุล ประธานสภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (ส.อ.ท.) เผยกับ “ฐานเศรษฐกิจ” ว่า ปัจจุบันภาคอุตสาหกรรมขาดแคลนแรงงานโดยรวม 4-5 แสนคน เป็นกลุ่มอุตสาหกรรมอาหารมากสุดกว่า 3 แสนคน เช่น โรงงานแปรรูปไก่ อาหารทะเล ผลไม้แปรรูป อาหารบรรจุกระป๋องต่าง ๆ
สถานการณ์นี้ทำให้สูญเสียโอกาสในการส่งออก จากผลกระทบสงครามรัสเซีย-ยูเครนที่ยืดเยื้อ ทำให้มีความต้องการสินค้าอาหารเป็นจำนวนมาก แพงเท่าไหร่ก็ซื้อขอให้มีของ และเริ่มมีการกักตุนมากขึ้น
“แต่ก็มีปัญหาขาดแคลนแรงงาน ทำให้เสียโอกาสในการขยายการผลิต ซึ่งต้องเร่งนำเข้าแรงงานต่างด้าวเข้ามาช่วย ซึ่งก็มีเข้ามาแล้วบางส่วนตาม MOU แต่ก็ยังไม่เพียงพอ”
นายวิศิษฐ์ ลิ้มลือชา รองประธานกรรมการหอการค้าไทย และนายกกิตติมศักดิ์ สมาคมผู้ผลิตอาหารสำเร็จรูป กล่าวว่า หลังโควิดเศรษฐกิจและการส่งออกเริ่มฟื้นตัว ภาคผลิตทั้งอุตสาหกรรมอาหาร อิเล็กทรอนิกส์ สิ่งทอ เครื่องนุ่งห่ม ต่างขาดแรงงาน"
อย่างไรก็ดี จากที่เวลานี้รัฐบาลได้เปิดให้นำเข้าแรงงานเพื่อนบ้าน 3 สัญชาติ ได้แก่ เมียนมา กัมพูชา ลาว มาทำงานในไทยตาม MOU โดยไม่ต้องกักตัว 14 วันเหมือนก่อนหน้านี้ ถือเป็นมาตรการที่ดี แม้นายจ้างมีค่าใช้จ่ายให้กับบริษัทนายหน้าจัดหางานหลายพันบาทต่อคน ก็ยังดีกว่าการจ้างแรงงานต่างด้าวที่เข้ามาอย่างผิดกฎหมายที่เสี่ยงถูกลงโทษ
แรงงานสายไหนขาด
ด้านนายธนิต โสรัตน์ รองประธานสภาองค์การนายจ้างผู้ประกอบการค้าและอุตสาหกรรมไทย (ECONTHAI) กล่าวว่า ในภาพรวมไทยประสบปัญหา ทั้งแรงงานขาด และแรงงานเกิน โดยแรงงานขาดจากผลพวงแรงงานต่างด้าวกลับประเทศช่วงโควิดระบาด ที่ทำให้แรงงานหายไปกว่า 5 แสนคน อีกส่วนจากแรงงานไทยกลับคืนภูมิลำเนา ช่วงโควิดระบาด 2 ปีกว่า รวมกว่า 1.7 ล้านคน ที่เวลานี้บางส่วนหันไปทำเกษตรกรรม ขายของออนไลน์ เป็นสตาร์ทอัพ หรือทำอาชีพส่วนตัว ฯลฯ
ขณะที่พนักงานลูกจ้างในระบบประกันสังคม (มาตรา 33) เมื่อเม.ย. 2563 ช่วงเกิดโควิดใหม่ๆ มีจำนวนกว่า 11.73 ล้านคน ล่าสุดข้อมูล ณ เม.ย. 2565 มีจำนวน 11.23 ล้านคน หรือหายไปกว่า 5 แสนคน ที่ยังไม่สามารถกลับสู่ระบบได้
นายธนิตกล่าวต่อว่า ส่วนแรงงานเกินคือ แรงงานจบใหม่ระดับปริญญาตรีปีละกว่า 5 แสนคน ในจำนวนนี้ 70% จบสายสังคม บริหารธุรกิจ และสายวิชาการอื่นๆ ที่ไม่ใช่สายวิชาชีพ หรืออาชีวะ
ขณะที่แรงงานที่เป็นที่ต้องการของนายจ้าง เพื่อรองรับภาคการผลิต และการส่งออก-นำเข้า ที่กำลังขยายตัวมาก ได้แก่ ไอที โปรแกรมเมอร์, บริหารจัดการขนส่งและโลจิสติกส์, วิศวกร และช่างเทคนิคสาขาต่าง ๆ, customer service ที่มีทักษะภาษาต่างประเทศ, อาชีวศึกษาป้อนอุตฯ EV, บัญชี, นักการขาย เป็นต้น
“ส่วนการนำเข้าแรงงานต่างด้าวตาม MOU นั้น 70% เป็นแรงงานเมียนมา ที่ส่วนหนึ่งเป็นชนกลุ่มน้อย ที่รัฐบาลเมียนมาไม่อยู่ในวิสัยที่จะพิสูจน์สัญชาติ ทำให้ยังนำแรงงานเข้ามาไม่ได้มาก ซึ่งปัญหาขาดแคลนแรงงานนี้ต้องเร่งแก้ไขกันต่อไป”
นิรโทษต่างด้าวใต้ดินอีกรอบ
นายอิสระ บุญยัง ประธานคณะกรรมการอสังหาริมทรัพย์ออกแบบและก่อสร้าง สภาหอการค้าแห่งประเทศไทย เผยว่า ปัญหาภาคอสังหาฯ ล่าสุดคือ การขาดแคลนแรงงาน โดยเฉพาะแรงงานต่างด้าวในระบบ ซึ่งภาคก่อสร้างไทยใช้แรงงานชาวเมียนมาเป็นหลัก และยังเป็นปัญหาใหญ่มาก เพราะการกลับเข้ามาตาม MOU ไม่คืบหน้า
“ทราบว่าเร็ว ๆ นี้ภาครัฐจะเสนอ ครม. พิจารณาปลดล็อกแรงงานต่างด้าวรอบใหม่
ให้เปิดโอกาสขึ้นทะเบียนแรงงานต่างด้าวอีกครั้ง เพื่อแก้ปัญหาแรงงานที่ไม่มีหลักฐานแสดงตัวตน แรงงานที่ไม่มีใบอนุญาติทำงาน (work permit) แรงงานที่ผิดสัญญาเปลี่ยนนายจ้างกะทันหัน หรือทำงานข้ามเขต ช่วยคลี่คลายปัญหาขาดแคลนแรงงานในภาคก่อสร้างได้ในระดับหนึ่ง แต่ถ้ากระบวนการยังยุ่งยาก ค่าใช้จ่ายสูง รวมถึงขั้นตอนตรวจโรคยาว ก็จะยังเป็นข้อจำกัด ทำให้เผชิญปัญหาขาดแรงงานก่อสร้างต่อไป”
แก้แรงงานขาด7แสนคน
ด้าน นางสาวลิซ่า งามตระกูล นายกสมาคมอุตสาหกรรมก่อสร้างไทยในพระบรมราชูปถัมภ์ กล่าวว่า สมาคมอยู่ระหว่างประสานกับกระทรวงแรงงานอย่างใกล้ชิด เพื่อเร่งรัดการยกร่างกฎหมายหลายฉบับ ซึ่งรัฐมนตรีแรงงานดูแลเรื่องนี้อย่างใกล้ชิด เพื่อนิรโทษกรรมกลุ่มแรงงานต่างด้าว คาดว่าจะได้ข้อสรุปภายในเดือนกรกฎาคมนี้
อีกด้าน การขาดแคลนแรงงานทำให้การก่อสร้างโครงการต่าง ๆ ทำได้ไม่เต็มที่ งานล่าช้า ผู้ประกอบการต้องปรับแผนการทำงาน ในภาวะที่มีปัญหาซ้อนเข้ามา ทั้งภาวะการระบาดเชื้อโควิด-19 ราคานํ้ามันแพง ต้นทุนวัสดุก่อสร้างพุ่ง และการขาดแคลนแรงงาน ที่ปะทุเป็นระลอก โดยปัจจุบันสมาชิกสมาคมฯขาดแคลนแรงงานอยู่ประมาณ 6-7 แสนคน จากจำนวนแรงงานในกลุ่มรับเหมาก่อสร้างทั้งระบบ 4 ล้านคน เป็นแรงงานต่างด้าวครึ่งหนึ่ง และช่วงโควิดลดเหลือ 30%
โรงแรมแย่งแรงงานทักษะฝีมือ
นางมาริสา สุโกศล หนุนภักดี นายกสมาคมโรงแรมไทย (ทีเอชเอ) เปิดเผยกับ “ฐานเศรษฐกิจ” ว่า โรงแรมและธุรกิจเกี่ยวเนื่องทยอยเปิดให้บริการอีกครั้ง โดยรับพนักงานกลับจากที่เลิกจ้างไปเมื่อ 2 ปีก่อน ที่หายไปกว่า 4 แสนคน ล่าสุดเดือนพ.ค.2565 สำรวจพบว่า การจ้างงานเฉลี่ยของธุรกิจโรงแรม เพิ่มขึ้นจากเดือนก่อนหน้า มาอยู่ที่ 68.2% ของการจ้างงานเดิม ก่อนเกิดโควิด-19 สอดคล้องกับอัตราการเข้าพักที่เพิ่มขึ้
พบอีกว่าโรงแรมกว่าครึ่งหนึ่ง(54%) เจอปัญหาขาดแคลนแรงงานไทยมีทักษะ โดยส่วนใหญ่ (กว่า 43%) จ้างเพิ่มเป็นพนักงานชั่วคราว และยังคงจ้างด้วยอัตราจ้างเท่าเดิมในช่วง 1-3 เดือนข้างหน้า ขณะที่ 21% ไม่มีการจ้างเพิ่ม แต่ปฏิบัติงานตามความสามารถที่ทำได้ด้วยอัตราค่าจ้างเท่าเดิม อย่างไรก็ตามมีโรงแรม 18% เพิ่มค่าจ้างเพื่อดึงดูดแรงงานใหม่ มีส่วนน้อยที่ไม่จ้างเพิ่ม แต่จูงใจเช่นจ่ายโอที หรือเพิ่มค่าจ้างพนักงานเดิม
“แรงงานเดิมที่ออกไปแล้วไม่กลับมา ทำให้ธุรกิจท่องเที่ยว-โรงแรม กำลังเจอปัญหาขาดแคลนบุคลากร ที่มีมาตรฐานการให้บริการ ความเชี่ยวชาญอย่างหนัก ถ้าไม่แก้ตอนนี้จะสะสมเป็นปัญหาระยะยาว จึงให้สมาชิกทำข้อเสนอเพื่อจะรวบรวมเสนอรัฐบาลเข้ามาช่วยแก้ปัญหาต่อไป” นางมาริสา กล่าวทิ้งท้าย
ชายแดนรอจ้างแรงงานต่างด้าวม.64
กิจการในเขตเศรษฐกิจพิเศษชายแดนก็ขาดแรงงาน นายชัยวัฒน์ วิทิตธรรมวงศ์ ประธานสภาอุตสาหกรรมจังหวัดตาก กล่าวว่า ฝั่งไทยได้เปิดด่านรับคนเข้าออกมาร่วมเดือนแล้ว แต่ทางฝั่งเมียนมายังไม่เปิด ทำให้ตอนนี้ผู้ประกอบการแนวชายแดน โดยเฉพาะในเขตเศรษฐกิจพิเศษชายแดนตาก(แม่สอด-พบพระ-แม่ระมาด) ประสบปัญหาขาดแคลนแรงงานอย่างหนัก
หากทางการเมียนมาเปิดด่านพรมแดน ผู้ประกอบการในพื้นที่เขตเศรษฐกิจพิเศษชายแดน รวม 14 ตำบล สามารถจ้างงานแรงงานเมียนมาตามแนวพรมแดน เข้ามาทำงานได้ตามมาตรา 64 (การจ้างแรงงานต่างด้าวแบบไปกลับหรือตามฤดูกาล) จึงขอเรียกร้องภาครัฐ อาทิ กระทรวงการต่างประเทศ สถานทูต หรือหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง จนถึงระดับท้องถิ่น รีบเจรจากับรัฐบาลเมียนมาอย่างเร่งด่วน เพื่อเปิดด่านพรมแดนให้คนเข้า-ออกได้ตามปกติโดยเร็ว ซึ่งจะช่วยฟื้นเศรษฐกิจพื้นที่ให้กลับมาเฟื่องฟูอีกครั้งอย่างรวดเร็ว
ก่อนโควิด-19 มีการจ้างแรงงานต่างด้าวตามแนวชายแดนไทย-เมียนมา เข้ามาทำงานแบบไปกลับ หรือตามฤดูกาล(มาตรา 64) จำนวน 26,095 คน
ทั้งนี้ แรงงานต่างด้าวที่เข้ามาทำงานในประเทศไทยตามระบบถึงเดือนเม.ย.2565 มีจำนวนทั้งสิ้น 2,003,390 คน แบ่งเป็นแรงงานประเภททั่วไป 1,778,776 คน เป็นแรงงานจากเมียนมามากที่สุด 1.26 ล้านคน กัมพูชา 3.46 แสนคน ลาว 1.68 แสนคน ประเภทแรงงานฝีมือ 1.69 แสนคน และประเภทชนกลุ่มน้อยและแรงงานต่างด้าวที่จ้างตลอดชีพ อีก 8.5 หมื่นกว่าคน
ข่าวหน้า1 หนังสือพิมพ์ฐานเศรษฐกิจ ปีที่ 42 ฉบับที่ 3,796 วันที่ 30 มิถุนายน-2 กรกฎาคม พ.ศ.2565