นายพงศ์นเรศ วนสุวรรณกุล นายกสมาคมน้ำยางข้นไทย เปิดเผย “ฐานเศรษฐกิจ” ว่า ก่อนที่จะพูดถึงราคาน้ำยางสดที่ลดลงอย่างรวดเร็วในขณะนี้ ต้องเท้าความกลับไปเมื่อ 2 ปีที่ผ่านมา ซึ่งเกิดวิกฤติโควิด-19 ทำให้ความต้องการถุงมือยาง หน้ากากอนามัยมีค่อนข้างมาก ผู้ผลิตถุงมือยางกับผู้ผลิตยางยืดที่ใช้น้ำยางสดมีการเพิ่มกำลังการผลิต หรือขยายกำลังการผลิต เพื่อให้เพียงพ่อต่อการเติบโตของความต้องการที่เกิดขึ้น ที่มีการแย่งซื้อแย่งตุนให้พอใช้งาน
แต่วันนี้ทุกประเทศเริ่มผ่อนปรนมาตรการโควิด-19 สถานการณ์โควิดเริ่มผ่อนคลาย กลายเป็นโรคประจำถิ่น ทำให้สต็อกของถุงมือยาง ที่มีการขยายกำลังการผลิตและผลิตเต็มที่ รวมถึงซื้อไปสต็อคอย่างเต็มที่ เหลือค้างในตลาดค่อนข้างแยะ ทั้งยางยืดและถุงมือยาง
“เลยทำให้ล้นตลาด เมื่อมีความต้องการมาพ่อค้าก็จะระบายของในสต็อกก่อน เพราะสินค้ามีอายุการใช้งาน ยังไม่สั่งของมาที่โรงงาน ฉะนั้นการผลิตของแต่ละโรงงานจึงลดลงไปประมาณ50 เปอร์เซ็นต์ จนกว่าของในสต็อกจะลดลงถึงจุดที่จะไม่พอขายจึงจะเริ่มสั่งผลิตใหม่ ทำให้ตอนนี้ผลผลิตล้นตลาด”
นายกสมาคมน้ำยางข้นไทยกล่าวอีกว่า วันนี้ความต้องการขาดไป จากสถานการณ์โควิด-19 ที่คลี่คลาย ทำให้การผลิตของแต่คนชะลอไปโดยอัตโนมัติ โดยเฉพาะถุงมือที่ผลิตจากยางสังเคราะห์ ซึ่งในการผลิตถุงมือยาง จะใช้ยางสังเคราะห์ 75 % และยางธรรมชาติ 25-30 % ซึ่งได้ลงทุนขยายการผลิตเพิ่มขึ้นมากในช่วงการระบาด เวลานี้ความต้องการลดลงก็กระทบหนัก เพราะขยายเครื่องจักรไปแล้ว ถ้าผลิตน้ำต้นทุนต่อชิ้นก็สูง ผลิตมากก็ไม่รู้จะขายใคร ทำให้ยางสงเคราะห์ซึ่งผลิตจากปิโตรเลียมเวลานี้ราคาตกต่ำลง สวนทางกับราคาน้ำมันดิบที่เป็นขาขึ้น เมื่อยางสงเคราะห์ราคาลดลง ก็ฉุดราคายางธรรมชาติให้ปรับลดตามกันลงตาม
อุตสาหกรรมน้ำยางข้น ปกติจะขายไปใน 3 รูปแบบผลิตภัณฑ์หลัก คือ 1.ถุงยาง 2.กลุ่มเส้นด้ายยางยืด ที่จะถูกนำไปใช้อุตสาหกรรมสิ่งทอ ไม่ว่าจะเป็นหน้ากากอนามัย หรือเสื้อผ้า ถุงเท้า รองเท้า 3.ใช้ในอุตสาหกรรมหมอน ที่นอน
ซึ่งอุตสาหกรรมหมอน ที่นอน ตายตั้งแต่ก่อนเกิดโควิด-19 พอมาเจอการระบาดไม่มีนักท่องเที่ยว ไม่มีการซื้อของฝาก แล้วยังเจอภาวะเศรษฐกิจผันผวน เลยตายสนิท ทำให้ปัจจุบันเหลืออยู่ 2 ธุรกิจ คือ ธุรกิจถุงมือยาง และเส้นด้ายยางยืด ซึ่งก็มาชะลอตัวพร้อม ๆ กันในปีนี้ทั้งคู่ จึงฉุดราคาน้ำยางให้ตกลงมาในช่วงนี้
นายพงศ์นเรศ กล่าวอีกว่า ต่างจากผลิตภัณฑ์ยางแห้ง ไม่ว่าจะเป็นยางแผ่นรมควัน ยางแผ่นดิบ หรือยางก้อนถ้วย ซึ่งหลัก ๆ จะนำเอาไปใช้ในอุตสาหกรรมยางล้อ ที่่ช่วงก่อนหน้าการผลิตรถยนต์มีปัญหาขาดแคลนชิป การผลิตรถลดลง ยางล้อรถยนต์ก็เลยขายน้อยลง แต่ปัจจุบันสถานการร์กลับสู่ภาวะปกติ การเดินทางขนส่งกลับมาเหมือนเดิมแล้ว
ประกอบกับกระแสรถยนต์ไฟฟ้า ที่ค่ายรถยนต์ต่าง ๆ เริ่มเปิดตัวผลิตออกมาวางตลาดจำนวนมาก ทั้งในสหรัฐอเมริกา ญี่ปุ่น จีน จึงทำให้ราคากลุ่มยางแห้ง ที่นำไปในอุตสาหกรรมล้อยังไปได้ เพราะขายคนละผลิตภัณฑ์กัน ก็เลยทำให้เวลานี้ราคาน้ำยางสดลงเยอะ ส่วนยางแห้งก็ลด แต่ค่อย ๆ ปรับตัวลง เพราะยังมีความต้องการในตลาด จึงค่อนข้างมีเสถียรภาพ แต่น้ำยางสดใช้ทุกวัน ไม่สามารถสต็อกได้จึงลงเร็วกว่า
"ซึ่งในช่วงเดือนมี.ค.-เม.ย. ราคาน้ำยางสดจะถีบตัวสูงกว่ายางแผ่นดิบ ไปใกล้เคียงกับยางแผ่นรมควัน เพราะทุกคนต่างแย่งกันซื้อ แต่แย่งยังไงก็ผลิตได้แค่ 20-30 % ซึ่งไม่กระทบกับยอดขาย จึงไม่เป็นประเด็น แต่เข้าสู่ฤดูเปิดกรีด ซึ่งปีนี้มาเร็ว เนื่องจากฝนมาเร็วตั้งแต่เดือนมี.ค.-เม.ย. เพราะฉะนั้นเดือนพ.ค.ก็เริ่มเปิดกรีดกัน พอเริ่มเปิดกรีด สต็อคน้ำยางสดเริ่มเข้าโรงงาน ราคาค่อย ๆ ปรับตัวลดลง และถึงมิ.ย. ผลผลิตยิ่งเยอะ เมื่อเทียบกับความต้องการที่ลดลงประมาณ 50 % สำหรับอุตสาหกรรมถุงมือยางและเส้นด้ายยางยืดดังกล่าว ราคาจึงปรับลงมาสู่จุดสมดุลที่มันจะขับเคลื่อนไปได้"
แล้วจุดสมดุลย์มันคืออะไร นายพงศ์นเรศ อธิบายว่า ปกติน้ำยางสด ควรจะอยู่ระหว่างขี้ยางหรือยางก้อน กับยางแผ่นดิบ ซึ่งราคายางก้อนถ้วน ณ วันนี้ ราคาที่ประมาณ 46-47 บาท ส่วนน้ำยางสดอยู่ที่ประมาณ 50-51 บาทในขณะที่ยางแผ่นดิบก็อยู่ที่ประมาณ 50 บาทปลาย ๆ ถึง 60 บาท
ซึ่งมันก็อยู่ในจุดสมดุลย์ และก็เป็นจุดที่มีเสถียรภาพของมัน เพื่อให้แบ่งตามความต้องการใช้ในแต่ละกลุ่ม ทำให้ผลผลิตที่ออกมา โดยเฉลี่ยจะเอามาทำขี้ยาหรือยางก้อนถ้วยประมาณ 60 % นำมาทำน้ำยางสดอยู่ที่ประมาณ 20-28 % ส่วนที่เหลือนำมาทำยางแผ่นดิบ เพื่อทำยางแผ่นรมควัน ที่ไม่เกิน 17-20 เปอร์เซ็นต์
ซึ่งสัดส่วนดังกล่าวทำให้การปรับตัวลงมาสู่จุดสมดุลของมันแล้ว ทำไมยางแผ่นดิบกับยางก้อนถ้วยราคาสูง ทำไมไม่ไปทำยางแผ่นดิบกับยางก้อนถ้วยให้หมดล่ะ คำตอบก็คือมันทำไม่ได้เพราะอุปสงค์มันมีแค่นั้น เช่น อุตสาหกรรมยางล้อ ที่ทำจากยางแท่งที่มีราคาสูงกว่า แต่ทำไมมันมีการผลิตอยู่แค่นั้น ก็เพราะคนต้องการขายที่แพงก่อน คือขายยางแผ่นก่อน หมดแล้วก็ขายในรูปน้ำยางสด และตามด้วยยางก้อนถ้วย
“ตอนนี้ทุกอย่างมันเข้าไปสู่กลไกที่ปรับสมดุลของมัน อันนี้คือเหตุและผลว่า ทำไมราคาน้ำยางสดถึงราคาปรับลดลงในขณะนี้ ตั้งแต่ช่วงปิดกรีดจนถึงช่วงปัจจุบัน และตั้งแต่อดีตจนถึงปัจจุบันตั้งแต่ 2ปีที่แล้วจนถึงปัจจุบัน”
เพราะฉะนั้นราคาน้ำยางสดที่ปรากฏ ณ วันนี้ เป็นราคาที่ปรับสมดุลตามกลไกตลาด และเป็นแบบนี้มาตั้งแต่อดีตจนถึงปัจจุบัน ยางก้อนถ้วยต่ำสุด น้ำยางสดรองลงมา สูงสุดคือยางแผ่นดิบ
ในขณะที่ความต้องการใช้ยางแผ่นดิบ ยางแผ่นรมควัน มีความต้องการใช้อยู่ประมาณ 10 กว่าเปอร์เซ็นต์ น้ำยางสด 20 กว่าเปอร์เซ็นต์ ที่เหลือเป็นยางก้อนถ้วยประมาณ 60 เปอร์เซ็นต์
“ปีนี้โชคดีที่ยางแผ่นกับยางแท่งแข็งแกร่ง เนื่องจากรถยนต์ที่ผลิตชิปก็ไม่ค่อยขาดแคลนแล้ว กลไกในการผลิตรถยนต์ไฟฟ้าก็มาแรง การผลิตรถยนต์ใหม่ออกมา 1 คันต้องมียางล้ออย่างน้อย 5 เส้น”
ยังไม่รวมถึงรถบรรทุกซึ่งมีจำนวนล้อที่มากขึ้น เมื่อการผลิตรถยนต์เพิ่มมากขึ้น การผลิตยางล้อรถยนต์ก็เพิ่มมากขึ้นเท่านั้น ซึ่งจะสอดรับกัน
“จริง ๆ แล้วน้ำยางสดในปีนี้ราคาจะลงกว่าที่เป็นอยู่ไม่มาก เนื่องจากปีนี้ฤดูฝนค่อนข้างจะมาหนาแน่น ฝนตกเยอะในขณะนี้ ถ้าเราไม่มียางผลิต อุปสงค์ก็ยังมีอยู่ไม่ได้เป็นศูนย์ ต่อให้มันลดลง ยังไงราคามันก็ต้องซื้อ”
ในช่วงที่ปิดหน้ายาง คุณบอกว่าขายไม่ดีแต่ทำไมต้องซื้อ ก็เพราะมันยังมีความต้องการใช้อยู่ เมื่อไหร่อุปสงค์มากกว่าอุปทานยังไงราคามันก็ต้องดี แต่เมื่ออุปสงค์น้อยกว่าอุปทาน ราคามันก็ต้องลงเป็นเรื่องปกติ
"ทุกอย่างมันจะปรับโดยสมดุลของมัน เราจะไปบิดเบือนกลไกมันไม่ได้อยู่แล้ว นายกสมาคมน้ำยางข้นไทย" กล่าวย้ำ
สมชาย สามารถ/รายงาน