ในที่สุด กรุงเทพมหานคร(กทม.)และบริษัทกรุงเทพธนาคม(เคที ) ได้ข้อสรุปเตรียมจัดเก็บค่าโดยสารรถไฟฟ้าสายสีเขียวส่วนต่อขยายช่วง สำโรง-สมุทรปราการ และหมอชิต-คูคต
หลังเปิดโอกาสให้ประชาชนใช้บริการฟรีมานาน เพื่อนำค่าโดยสารที่ได้ชำระหนี้ให้กับเอกชนหรือบริษัทระบบขนส่งมวลชนกรุงเทพจำกัด(มหาชน)หรือบีทีเอสซี
ทั้งนี้ ศาสตราจารย์พิเศษ ธงทอง จันทรางศุ เป็นประธานคณะกรรมการบริษัทกรุงเทพธนาคม หารือร่วมกับกทม.ครั้งที่สอง ร่วมกับ นายชัชชาติ สิทธิพันธุ์ ผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร
ในประเด็นสัญญาสัมปทานรถไฟฟ้าสายสีเขียว 30 ปี เพื่อทบทวนเรื่องค่าโดยสาร และปรับปรุงวิธีการชำระเงิน หรือการซื้อตั๋วโดยสาร ให้ทันสมัย
โดยครั้งนี้ที่ประชุมมีข้อสรุปให้เก็บค่าโดยสารส่วนต่อขยายสายสีเขียว เส้นทางสำโรง-สมุทรปราการ และห้าแยกลาดพร้าว-คูคต เริ่มเก็บตั้งแต่เดือนสิงหาคมนี้เป็นต้นไป เพื่อให้กทม.มีรายได้เข้ามา
เพื่อจ่ายค่าดอกเบี้ยและค่าจ้างเอกชนเดินรถ ขณะเดียวกัน ที่ประชุมจะเปิดเผยสัญญาสัมปทานโครงการรถไฟฟ้าสายสีเขียวให้สังคมได้รับรู้ เพื่อความโปร่งใส ดังกล่าว
ส่วนเรื่องภาระหนี้สินที่เกี่ยวพันกับสัญญาสัมปทาน ประมาณ 100,000 ล้านบาท ทางผู้ว่าฯ กทม. บอกว่า
"หากเป็นหนี้ที่ กทม.ก่อขึ้นมาจริง ๆ และเป็นหนี้ที่เกิดขึ้นมาอย่างถูกต้องก็ยินดีจ่าย แต่ขอดูที่มาที่ไปของหนี้สินก่อนว่าเป็นมาอย่างไร ถูกต้องตามกฎหมายหรือไม่"
ขณะเดียวกันที่ประชุมเตรียมเชิญเอกชนบีทีเอสซีเข้าร่วมหารือในเร็วๆนี้ ทั้งสัญญาจ้างเดินรถที่จะหมดสัญญาปี2585 และการนำตั๋วรายเดือนมาใช้เพื่อช่วยประชาชนประหยัดค่าครองชีพ ซึ่งมองว่าจะเป็นไปในทางที่เป็นผลบวกของทั้งสองฝ่าย
นายชัชาติระบุว่า สำหรับหนี้กทม.มี3ส่วน รวม100000ล้านบาท คือ ค่างานโยธาส่วนต่อขยายสายสีเขียวสองช่วงของการรถไฟฟ้าขนส่งมวลชนแห่งประเทศไทย(รฟม.) กว่า60000ล้านบาท
ที่รัฐบาลโยกมาให้กทม.ทำให้ต้องเสียค่าตั๋วแพง อีกสองส่วนซึ่งเป็นหนี้ที่กทม.ติดค้างเอกชน คือค่าจ้างเดินรถและระบบรถไฟฟ้าและเครื่องกล รวม40000ล้านบาทที่กทม.ต้องจ่ายให้เอกชนทั้งเงินต้นและดอกเบี้ย