วันที่ 28 มิถุนายน 2565 ที่ศาลาว่าการกทม. (เสาชิงช้า) นายชัชชาติ สิทธิพันธุ์ ผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร กล่าวชี้แจงประเด็นแผนเก็บค่าบริการรถไฟฟ้าสายสีเขียว หรือบีทีเอส ที่รวมกับช่วงส่วนต่อขยาย ซึ่งระบุเมื่อวันที่ 27 มิถุนายน 2565 ราคาควรอยู่ที่ 59 บาท ว่า มีหลายคนเข้าใจคลาดเคลื่อน
“ปัญหารถไฟฟ้าคือ ส่วนต่อขยายสายสีเขียวที่ให้บริการ ขณะนี้ไม่ได้มีการเรียกเก็บค่าบริการ ยังเปิดวิ่งฟรี จากข้อมูลของทีมผู้บริหาร สถาบันวิจัยเพื่อการพัฒนาประเทศไทย (TDRI) มีข้อเสนอมาว่า ควรจัดเก็บค่าบริการตลอดสายขั้นสูงสุดไม่เกิน 59 บาท ดังนั้น ราคานี้ไม่ใช่แผนแก้ปัญหาระยะยาว แต่เป็นแผนระยะสั้น”
นายชัชชาติ กล่าวว่า สำหรับตัวเลข 59 บาท ที่รับข้อเสนอมานั้น กทม.ได้มอบหมายให้สำนักการจราจรและขนส่ง (สจส.) พิจารณาข้อมูลอยู่ คาดว่าจะใช้สูตรการคำนวน (14+2X) X คือ จำนวนสถานีที่นั่ง จะไม่ให้เกินค่าบริการสูงสุดเดิมที่ระบุไว้ เพื่อไม่ให้ประชาชนได้รับผลกระทบ
“59 บาท เป็นการแก้ปัญหาระยะสั้นของส่วนต่อขยาย ที่ผ่านมา กทม.ต้องจ่ายค่าเดินรถคิดเป็นเงินหลายพันล้านบาทต่อปี ถ้าเป็นระยะยาว จะต้องนำเรื่องสัญญาสัมปทานมาพิจารณาด้วย เพราะสัญญาจะหมดในปี 2572
จากข้อมูล ส่วนต่อขยายมีผู้ใช้บริการร้อยละ 27 ซึ่งนั่งฟรี แต่คนอื่นต้องมาช่วยจ่าย ต้องยอมรับว่า กทม.นำภาษีของทุกคนมาจ่าย เท่ากับว่า คนที่ไม่ได้นั่งก็ต้องจ่าย ปัญหาอีกอย่างคือ คนให้บริการรถสาธารณะใต้แนววิ่งรถไฟฟ้าที่ได้รับผลกระทบ เพราะรถไฟฟ้านั่งฟรี คนให้บริการด้านล่างทำมาหากินไม่ได้ เรื่องนี้ไม่ยุติธรรมกับผู้ประกอบการ” นายชัชชาติ กล่าว
นายชัชชาติ กล่าวย้ำอีกว่า ราคา 59 บาท ที่ตั้งไว้ เพื่อแก้ปัญหาระยะสั้น เรื่องส่วนต่อขยายเป็นคนละเรื่องกับค่าบริการที่หาเสียงไว้ก่อนเลือกตั้งผู้ว่าฯ กทม.
สำหรับนโยบายที่เคยหาเสียงไว้ว่า ค่าบริการรถไฟฟ้าควรจะอยู่ที่ 25-30 บาท ไม่ได้หมายความว่า นั่งจากสถานีต้นทางถึงปลายทางเป็นราคานี้ แต่คิดจากราคาค่าโดยสารเฉลี่ยที่คนใช้บริการ เดิมคิดค่าเฉลี่ย 8 สถานี แต่ล่าสุด สจส.คำนวณไว้เฉลี่ยอยู่ที่ 11 สถานี