วันนี้ เวลา 15.00 น. พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม เตรียมเป็นประธานการประชุมสภาความมั่นคงแห่งชาติ (สมช.) โดยมีวาระสำคัญคือ การพิจารณาแผนรับมือวิกฤตพลังงานและอาหาร รวมทั้งรับทราบรายงานสถานการณ์ทางด้านเศรษฐกิจ และพลังงาน ซึ่งกำลังเป็นปัญหาอยู่ในขณะนี้ด้วย
ก่อนหน้านี้ พล.อ.สุพจน์ มาลานิยม เลขาธิการสภาความมั่นคงแห่งชาติ (สมช.) ระบุว่า เบื้องต้นแผนรับมือวิกฤตพลังงานและอาหารนั้น แบ่งเป็น แผนระยะสั้น กลาง และยาว โดยแผนระยะสั้นครอบคลุมระยะเวลา 3 เดือน ส่วนระยะกลางจะประเมินสถานการณ์ในช่วง 6 เดือนของปีนี้ ขณะที่ระยะยาว จะครอบคลุมไปตลอดปี 2566
โดยที่ผ่านมา สมช.ได้นัดหน่วยงานด้านเศรษฐกิจ และผู้แทนภาคเอกชน ร่วมหารือและรับทราบรายงานสถานการณ์ รวมทั้งผลกระทบจากราคาน้ำมันที่เพิ่มขึ้น ก่อนจัดทำออกมาเป็นแผน ซึ่งครอบคลุมทั้งเรื่องของพลังงาน ไฟฟ้า และอาหาร จากนั้นจึงนำแผนนี้ไปให้กระทรวงที่เกี่ยวข้องรับไปดำเนินการตามอำนาจหน้าที่ต่อไป
เลขาธิการ สมช. กล่าวว่า ในการขับเคลื่อนแผนงานในระยะต่าง ๆ สมช.อาจเชิญผู้เชี่ยวชาญในด้านต่างๆ เข้ามาร่วมมือกันทำงาน โดยเบื้องต้นอาจตั้งกลไกพิเศษเฉพาะกิจขึ้นมาปฏิบัติหน้าที่รองรับวิกฤตเป็นการเฉพาะด้วย
“แผนแต่ละระยะจะต้องดูว่าสถานการณ์ตอนนั้นเกิดผลกระทบอย่างไร เพื่อให้ทุกหน่วยงานเตรียมการรองรับสถานการณ์และความไม่แน่นอนที่เกิดขึ้น โดยเฉพาะในเรื่องของพลังงานที่กระทบคนเป็นวงกว้าง เพราะจากราคาพลังงานจะมีการกระทบไปยังภาคขนส่ง และก่อให้เกิดปัญหาเงินเฟ้อ ดังนั้นเรื่องของพลังงานเป็นเรื่องอันดับแรกต้องติดตาม เพราะกระทบกับชีวิตความเป็นอยู่ของปัจจุบัน” เลขาธิการ สมช. ระบุ
ขณะที่ นายธนกร วังบุญคงชนะ โฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี ยอมรับว่า ในด้านการบริหารเศรษฐกิจของรัฐบาลนั้น ล่าสุด นายกรัฐมนตรี พอใจภาพรวมการฟื้นตัวทางเศรษฐกิจไทยหลังการผ่อนคลายมาตรการควบคุมและการเปิดประเทศ ได้รับเสียงตอบรับจากผู้ประกอบการ ภาคเอกชน
โดยกระทรวงอุตสาหกรรม ได้รายงานดัชนีผลผลิตอุตสาหกรรม (MPI) เดือนพฤษภาคม 2565 พบว่าขยายตัวเพิ่มขึ้นจากเดือนก่อนที่ 7.46% เป็นผลมาจากสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคโควิด-19 ในประเทศคลี่คลายลงและการผ่อนคลายมาตรการควบคุมและการเปิดประเทศ ส่งผลให้การบริโภคในประเทศปรับตัวดีขึ้นต่อเนื่องรวมถึงการฟื้นตัวของเศรษฐกิจโลกและการอ่อนค่าของเงินบาทช่วยสนับสนุนให้การส่งออกขยายตัว
ทั้งนี้โฆษกรัฐบาล ระบุว่า หลังจากรัฐบาลผ่อนคลายมาตรการควบคุมต่างๆ โดยเฉพาะมาตรการเปิดประเทศ ส่งผลให้ประชาชนสามารถออกมาใช้ชีวิตประจำวันและบริโภคได้ตามปกติมากขึ้น ทำให้ความต้องการสินค้าอุตสาหกรรมเพิ่มขึ้น รวมทั้งการส่งออกมีแนวโน้มขยายตัว ภาคธุรกิจและภาคอุตสาหกรรมปรับตัวดีขึ้น คาดว่าภาพรวมเศรษฐกิจไทยมีแนวโน้มจะขยายตัวใน 1-2 เดือนข้างหน้า
โดยนายกรัฐมนตรี ขอให้กระทรวงพลังงาน กระทรวงพาณิชย์ กระทรวงแรงงาน กระทรวงอุตสาหกรรม ติดตามและคอยประเมินผลกระทบจากสถานการณ์ความไม่สงบในรัสเซียและยูเครนที่ยืดเยื้อ เพื่อร่วมกันจัดหามาตรการช่วยเหลือผู้ประกอบการในการขับเคลื่อนเศรษฐกิจต่อไป