ดร.เกษรา ธัญลักษณ์ภาคย์ กรรมการผู้จัดการ บริษัท เสนาดีเวลลอปเม้นท์ จำกัด (มหาชน) หรือเสนา (SENA) ผู้พัฒนาโครงการหมู่บ้านใช้พลังงานแสงอาทิตย์บนหลังคาบ้านที่อยู่อาศัย (โซลาร์รูฟท็อป) เต็มรูปแบบ เปิดเผยว่า ปัจจุบันประชาชนหันมาสนใจโซลาร์รูฟท็อปมากขึ้น ซึ่งจะมีส่วนสำคัญในการขับเคลื่อนพลังงานสะอาดในไทยเพื่อลดภาวะโลกร้อนที่สอดรับกับเทรนด์ของโลก โดยโครงการโซลาร์รูฟท็อปภาคประชาชนรอบใหม่ปี 2565 ที่จะรับซื้อไฟฟ้าส่วนเกินเข้าสู่ระบบ 10 เมกะวัตต์ จากประเภทบ้านที่อยู่อาศัย
และเพิ่มอัตรารับซื้อไฟมีส่วนสำคัญที่จะทำให้คนสนใจเพิ่มขึ้น ซึ่งรวมไปถึงโครงการหมู่บ้านของเสนา เพราะตอบโจทย์การประหยัดไฟฟ้าที่ทิศทางมีราคาสูงขึ้นต่อเนื่องและอัตรารับซื้อไฟที่สูงทำให้ความคุ้มค่าในการติดตั้งมีมากขึ้น
"ปัจจุบันรัฐได้ปรับอัตราการรับซื้อไฟฟ้าจาก 1.68 บาทต่อหน่วย เป็น 2.20 บาทต่อหน่วย"
อย่างไรก็ดี ตามต้องยอมรับตัวแปรสำคัญการติดตั้งปัจจุบันที่ต้องติดตามคือ ต้นทุนที่เพิ่มขึ้นโดยเฉพาะจากแผงโซลาร์ฯ ที่ปรับขึ้นจากที่ผ่านมาเฉลี่ยอยู่ที่ 25 เซนต์ต่อวัตต์ ล่าสุดขยับมาสู่ 30 เซนต์ต่อวัตต์ ซึ่งเป็นผลจากความต้องการทั่วโลกที่เพิ่มขึ้น แต่จีนในฐานะผู้ผลิตรายใหญ่ของโลกได้ลดการผลิตลง เพราะกระบวนการผลิตก่อให้เกิดก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์จำนวนมาก
ประกอบกับค่าเงินบาทของไทยอ่อนค่าลงการนำเข้าจึงต้องจ่ายเพิ่มขึ้น รวมไปถึงทิศทางดอกเบี้ยที่เป็นขาขึ้นทำให้การผ่อนติดตั้งโซลาร์(ไฟแนนซ์) แพงขึ้น อย่างไรก็ตามในขณะนี้ธนาคาร และสถาบันการเงินต่างๆ ได้พิจารณาการปล่อยกู้ในอัตราดอกเบี้ยที่ต่ำมากกับโครงการติดโซลาร์ฯ เพราะต้องดำเนินการในทิศทางการเดินหน้าสู่ความเป็นกลางทางคาร์บอน "Carbon neutrality" เช่นกัน ซึ่งถือเป็นอีกหนึ่งปัจจัยที่มาสนับสนุนการติดตั้ง โซลาร์ในโครงการ
ดังนั้นสะท้อนให้เห็นว่า แม้รัฐจะรับซื้อไฟฟ้าที่เพิ่มขึ้น แต่ต้นทุนที่สูงตามก็อาจจะไม่จูงใจมากนัก ขณะที่ประเทศไทย ระบบไฟฟ้าถือว่าค่อนข้างมั่นคง ปัญหาเรื่องไฟฟ้าตกดับ เกิดขึ้นน้อยมาก ประกอบกับไม่มีภัยธรรมชาติ จึงทำให้ความสนใจคนไทยไม่ได้ตื่นตัวที่จะมองเห็นถึงความจำเป็นในการติดตั้งโซลาร์ฯไว้ใช้เพิ่มเติม หากเทียบกับประเทศอื่นๆ
ดังนั้นหากรัฐจะส่งเสริมให้เกิดขึ้นโดยเร็ว ส่วนตัวเห็นว่า หลักการดำเนินงานง่ายๆ คือ การผลิตไฟจากโซลาร์ฯเท่าไหร่ที่ใช้เมื่อเหลือใช้จะได้รับค่าไฟฟ้าเท่ากับที่จ่าย นอกจากนี้ยังมีระเบียบต่างๆ ที่ยังเป็นข้อจำกัด เช่น ความสามารถในการรับไฟฟ้าส่วนเกินของหม้อแปลงที่จำกัดไม่เกิน 15% เป็นต้น
ดร.เกษรา กล่าวต่อไปว่า จากอัตราค่าไฟฟ้าผันแปรอัตโนมัติ หรือ เอฟทีปรับตัวสูงขึ้นต่อเนื่องและมีแนวโน้มที่งวดใหม่ (ก.ย.-ธ.ค.65) จะปรับขึ้นต่อ ทำให้ค่าไฟรวมเฉลี่ยที่ประชาชนจ่ายประมาณ 4 บาทต่อหน่วย โดยหากใช้โซลาร์ฯก็ช่วยประหยัด 4 บาทต่อหน่วย แต่ไฟเหลือเมื่อไหร่รัฐก็จ่ายคืน 4 บาทต่อหน่วย
โดยการสื่อสารแบบเข้าใจง่ายคือ การติดแล้วคุ้มหรือไม่ขึ้นอยู่กับหลายปัจจัยข้างต้น และต้องมาดูว่าเราเซฟได้เท่าใด และใช้ไฟกลางวันเท่าใดแล้วกี่ปีจะได้คืนเท่าไหร่ เหล่านี้เต็มไปด้วยการคาดคะเน หากให้ตรงทฤษฎีจึงขึ้นอยู่กับแต่ละคน
แต่ขณะนี้บ้านที่ติดโซลาร์ฯ กลายเป็นธนาคารให้ดอกเบี้ยถูกลง เพราะต้องการทำให้องค์กรก้าวไปสู่ความเป็นกลางทางคาร์บอนตามเป้าหมายของแต่ละประเทศ โดยเสนาทำมาให้เลยต้นทุนมีการบริหารเพื่อไม่ให้กระทบต่อราคาที่เพิ่มขึ้น และได้มีแนวทางที่สร้างความแตกต่างให้เห็นอย่างชัดเจน
ปัจจุบันเสนาฯ ได้ติดตั้งระบบโซลาร์รูฟท็อปให้กับลูกบ้านทุกโครงการ ทั้งประเภทบ้านที่อยู่อาศัย และคอนโดมิเนียมบริเวณพื้นที่ส่วนกลาง โดยมี บริษัท เสนา โซลาร์ เอเนอร์ยี่ จำกัด ซึ่งเป็นบริษัทฯ ในเครือที่ดำเนินธุรกิจเพื่อติดตั้ง ให้คำปรึกษา และการบริการหลังการขายอย่างครบวงจร มุ่งเน้นการใช้เทคโนโลยีในการออกแบบโดยวัสดุมีคุณภาพเป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม ซึ่งมีบ้านที่ติดตั้งโซลาร์แล้วจำนวน 47 โครงการ แบ่งเป็นแนวสูง 22 โครงการ และแนวราบ 25 โครงการ รวมกว่า 700 หลังคาเรือน คิดเป็นการผลิตไฟกว่า 2,000 กิโลวัตต์
“ลูกบ้านของเสนาฯยังสามารถขายไฟฟ้าที่เหลือจากการใช้คืนให้กับภาครัฐ โดยเสนาฯเตรียมยื่นขอสิทธิ์ให้กับลูกบ้านในโครงการที่พร้อมเสนอขายไฟส่วนเกินภายใต้โครงการโซลาร์ภาคประชาชนในปีนี้เพิ่มเติมจากก่อนหน้าที่ยื่นขอสิทธิ์ไปแล้ว ขณะเดียวกันยังยู่ระหว่างการทดลองโครงการ ERC Sandbox กับการไฟฟ้านครหลวง (กฟน.) เพื่อพัฒนานวัตกรรมในธุรกิจพลังงานสะอาด”