ผู้สื่อข่าวรายงานว่า เมื่อเร็ว ๆ นี้ ที่อาคารเอนกประสงค์โรงเรียนบ้านละออง ต.ราชกรูด อ.เมืองระนอง จ.ระนอง ประชาชนที่ได้รับผลกระทบจากโครงการขยายท่าอากาศยานระนอง และภาคส่วนต่างๆ ที่เกี่ยวข้อง เข้าร่วมประชุมกลุ่มย่อยในระดับพื้นที่ เพื่อนำเสนอข้อมูลรายละเอียด โครงการขยายท่าอากาศยาน อาคารที่พักผู้โดยสาร และส่วนประกอบอื่นๆ ท่าอากาศยานระนอง และรับฟังความคิดเห็นของประชาชนที่มีต่อโครงการดังกล่าว ซึ่งกรมท่าอากาศยานได้ว่าจ้างบริษัทที่ปรึกษาเป็นผู้ดำเนินการ
ปัจจุบันท่าอากาศยาระนอง มีทางวิ่งหรือรันเวย์ (RUNWAY) ขนาด 45x2,000 เมตร รองรับอากาศยานขนาด 180 ที่นั่ง ซึ่งเป็นเครื่องบินโดยสารภายในประเทศ ต่อมาในปี 2563 ที่ผ่านมาได้มีการศึกษาออกแบบการขยายทางวิ่งให้ยาวขึ้นเป็น 2,500 เมตร เพื่อรองรับอากาศยานขนาด 180-220 ที่นั่ง และเพื่อรองรับ นักท่องเที่ยวภายในทวีปเอเชีย โดยผลการศึกษาอยู่ระหว่างการพิจารณาของสำนักงานนโยบายและแผนทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม (สผ.)
ในปี พ.ศ. 2564 กระทรวงคมนาคมมีแผนโครงการสะพานเศรษฐกิจ เชื่อมสองฝั่งทะเลอ่าวไทย-อันดามัน หรือ Land Bridge ระนอง-ชุมพร ตามนโยบายการเปิดประชาคมอาเซียน และเส้นทางเชื่อมโยงไปยังภูมิภาคต่างๆ และจะเป็นทางเชื่อมเข้า-ออกจังหวัดข้างเคียงได้โดยสะดวกรวดเร็ว ให้ยกระดับพัฒนาท่าอากาศยานระนอง โดยมีแผนขยายความยาวทางวิ่งของท่าอากาศยานระนอง อีก 490 เมตร จาก 2,500 เมตร เป็น 2,990 เมตร เพื่อรองรับเครื่องบินขนาดใหญ่ 300-350 ที่นั่งจากเที่ยวบินยุโรป ให้รองรับการขยายตัวทางเศรษฐกิจในอนาคต
การศึกษาแนวทางขยายความยาวทางวิ่ง ท่าอากาศยานระนองดังกล่าว ทางบริษัทที่ปรึกษาระบุว่า ได้ออกแบบโครงการไว้ 4 ทางเลือก โดยแนวทางขยายพื้นที่สนามบินไปทางทิศเหนือ มี 3 ทางเลือกประกอบด้วย
ทางเลือกที่ 1 มีการต่อเติมความยาวทางวิ่งไปทางทิศเหนือของท่าอากาศยานจาก 2,500 เมตร เป็น 2,900 เมตร และเพิ่มทางขับ G (TAXIWAY G) เพิ่มเขตปลอดภัยปลายทางวิ่ง (RESA) ทั้งสองด้าน ขนาด 150x240 เมตร
ทางเลือกที่ 2 มีแผนงานพัฒนาเช่นเดียวกับทางเลือกที่ 1 แต่เพิ่มทางขับ H (TAXIWAY H) ซึ่งต้องมีการเบี่ยงแนวถนนทางหลวงหมายเลข 4 (ถนนเพชรเกษม) และก่อสร้างถนนทดแทน
ทางเลือกที่ 3 มีแผนงานพัฒนาเช่นเดียวกับทางเลือก 2 และต้องเบี่ยงแนวถนนเพชรเกษมและก่อสร้างทดแทน พร้อมทั้งก่อสร้างทางขับฉุกเฉิน RAPID EXIT TAXIWAY
รวมทั้งศึกษาแนวทาง ขยายพื้นที่สนามบินไปทางทิศใต้ เป็นทางเลือกที่ 4 มีแผนงานประกอบด้วย การต่อเติมความยาวทางวิ่งไปทางทิศใต้ของท่าอากาศยาน จาก 2,500 เมตร เป็น 2,990 เมตร ก่อสร้างทางขับ G (TAXIWAY G) และเพิ่มเขต ปลอดภัยปลายทางวิ่ง (RESA) ทั้งสองด้านขนาด 150x240 เมตร ซึ่งต้องใช้พื้นที่ป่าอนุรักษ์ประมาณ 400 ไร่
การขยายท่าอากาศยานระนองดังกล่าว ทางบริษัทที่ปรึกษาระบุว่า ทางเลือกที่ 1 มีความเป็นไปได้และเหมาะสมมากที่สุด ในการพัฒนาโครงการ ทั้งในด้านเศรษฐกิจและการลงทุน ด้านวิศวกรรม และด้านสิ่งแวดล้อม
ในขณะที่ประชาชนที่เข้าร่วมประชุม ต้องการให้เลือกใช้แนวทางที่ 4 เนื่องจากมีผลกระทบ ต่อประชาชนน้อยกว่า 3 ทางเลือกแรก เพราะหากขยายทางวิ่งไปทางทิศใต้จะเป็นการเวนคืนที่ดินในเขตป่าสงวนแห่งชาติ แม้ว่าจะต้องใช้งบประมาณในการลงทุนมากขึ้นก็ตาม หรือหากเป็นไปได้ ขอให้เพิ่มทางเลือกที่ 5 อีกทางเลือก โดยออกแบบให้ส่งผลกระทบต่อประชาชนน้อยที่สุด
นอกจากนี้ประชาชนต้องการความชัดเจนของขอบเขต พื้นที่โครงการ การจ่ายค่าชดเชยเยียวยา ทั้งค่าที่ดิน ผลอาสิน บ้านเรือน ค่าเสียโอกาสอย่างไร รวมทั้งควรมีการจัดหาที่ดินเพื่อที่อยู่อาศัยให้ใหม่ด้วยหรือไม่ เนื่องจากการขยายท่าอากาศยานระนองดังกล่าว ต้องมีการเวนคืนที่ดินประมาณ 450-480 ไร่
ปัจจุบันท่าอากาศยานระนอง มีขนาดทางวิ่ง 45x2,000 เมตร ขนาดลานจอดเครื่องบิน 120x180 เมตร อาคารผู้โดยสารขนาด 4,000 ตารางเมตร
ปี 2554-2564 ท่าอากาศ ยานระนอง มีสถิติผู้โดยสารเฉลี่ย 88,978 คนต่อปี โดยปี 2561 (ก่อนโควิด-19) มีผู้โดยสาร 214,250 คน ปี 2564 มีผู้โดยสาร 33,614 คน เนื่องจากได้รับผล กระทบจากการแพร่ระบาดของโรคโควิด-19 ส่วนสถิติเที่ยวบินในช่วงปี 2554-2564 ท่าอากาศยานระนองมีเที่ยวบินเฉลี่ย 1,326 เที่ยวต่อปี โดยในปี 2564 มีเที่ยวบิน 492 เที่ยวบิน
บุญเลื่อน พรหมประทานกุล/รายงาน
หน้า 10 หนังสือพิมพ์ฐานเศรษฐกิจ ปีที่ 42 ฉบับที่ 3,798 วันที่ 7-9 กรกฎาคม พ.ศ.2565