นายพูนพงษ์ นัยนาภากรณ์ รองปลัดกระทรวงพาณิชย์ เปิดเผยว่า กระทรวงพาณิชย์ได้ติดตามสถานการณ์ราคาสินค้าทั่วประเทศ โดยสำนักงานพาณิชย์จังหวัดทั้ง 76 จังหวัด ได้ลงพื้นที่ติดตามสถานการณ์สินค้าอุปโภคบริโภคที่จำเป็นต่อการครองชีพ ในช่วง 7 วันที่ผ่านมา จำนวนกว่า 2,000 แห่ง
ทั้งการตรวจสอบในห้างสรรพสินค้า ร้านค้าปลีกค้าส่ง และตลาดสด พบว่าด้านปริมาณสินค้า มีสินค้าที่จำเป็นในการครองชีพเพียงพอ และไม่พบผู้ประกอบการฉวยโอกาสขึ้นราคาจำหน่ายสินค้าที่จำเป็นต่อการครองชีพแต่อย่างใด
ทั้งนี้ กระทรวงพาณิชย์ยังได้กำชับให้พาณิชย์จังหวัด บังคับใช้กฎหมายอย่างเคร่งครัด โดยเฉพาะการกำกับดูแลให้มีการปฏิบัติตาม พ.ร.บ.ว่าด้วยราคาสินค้าและบริการ พ.ศ.2542 โดยเน้นย้ำให้ร้านค้าต้องปิดป้ายแสดงราคาจำหน่ายสินค้าให้ชัดเจน ห้ามฉวยโอกาสปรับขึ้นราคา หรือจำหน่ายสินค้าราคาสูงเกินสมควรโดยเด็ดขาด หากพบการกระทำผิด ให้ดำเนินการตามกฎหมายอย่างเด็ดขาด และให้ดำเนินการตามพ.ร.บ.มาตราชั่งตวงวัด ที่ต้องเข้าไปกำกับดูแลเครื่องชั่ง การบรรจุหีบห่อ โดยให้เน้นการตรวจสอบการบรรจุก๊าซหุงต้ม และหัวจ่ายปั๊มน้ำมัน เพื่อดูแลผู้บริโภค
สำหรับมาตรการดูแลราคาสินค้า กระทรวงพาณิชย์ได้ยึดนโยบาย “วิน-วิน โมเดล” ที่นายจุรินทร์ได้กำหนดไว้ โดยการดูแลการปรับขึ้นราคาสินค้า ทั้ง 3 ฝ่าย คือ เกษตรกร ผู้ผลิต ผู้บริโภค จะต้องได้ประโยชน์ร่วมกัน หากสินค้ารายการใดมีต้นทุนการผลิตสูงขึ้นจริง และหากผู้ผลิตยังรับภาระได้ ก็จะขอความร่วมมือให้ตรึงราคาไปก่อน แต่ถ้าไม่ไหว ก็จะพิจารณาตามจริง
โดยพิจารณาต้นทุนเชิงลึก เจาะรายละเอียดต้นทุนทั้งหมด และการปรับขึ้น จะยึดหลักแบ่งเบาภาระ ผู้ผลิตรับส่วนหนึ่ง ผู้บริโภครับส่วนหนึ่ง ไม่ให้ส่วนใดส่วนหนึ่งรับภาระฝ่ายเดียว เพราะหากตรึงราคาอย่างเดียว อาจจะมีปัญหาอื่นตามมา เช่น สินค้าขาดแคลน จากการที่ผู้ผลิตไม่ยอมผลิต เพราะผลิตแล้วขาดทุน ก็จะเป็นปัญหาตามมาอีก