เป็นประจำทุกเดือนที่ “สมาคมผู้ค้าปลีกไทย” ร่วมกับธนาคารแห่งประเทศไทย จัดทำผลสำรวจความเชื่อมั่น (Retail Sentiment Index) ของผู้ประกอบการค้าปลีก โดยในเดือนมิถุนายน 2565 ภาพรวมพบว่า ดัชนีความเชื่อมั่นผู้ค้าปลีก Retail Sentiment Index (RSI) ลดลงมา 48.9 ปรับลดลง 4.4 จุด เมื่อเทียบกับดัชนีเดือนพฤษภาคมที่ 53.3 จุด ซึ่งลดลงต่อเนื่องเป็นเดือนที่สาม
สะท้อนให้เห็นถึงความเชื่อมั่นที่ปรับตัวลดลง ส่งผลมาจากภาวะค่าครองชีพที่ปรับเพิ่มสูงขึ้นซ้ำเติมกำลังซื้อของผู้บริโภคที่ยังอ่อนแอ ผู้ประกอบการไม่มีความเชื่อมั่นในการดำเนินธุรกิจ แม้ว่ามีแนวโน้มสัญญาณที่ดีในการออกไปทำกิจกรรมทางเศรษฐกิจนอกบ้านเพิ่มมากขึ้น แต่ความถี่ในการจับจ่ายกลับลดลง
ขณะที่ดัชนีความเชื่อมั่นผู้ค้าปลีกในอีก 3 เดือนข้างหน้าลดลง 4.4 จุดเช่นกัน จากระดับ 58.7 จุด ในเดือนพฤษภาคม มาที่ 54.3 จุดในเดือนมิถุนายน แสดงให้เห็นถึงความกังวลต่อแนวโน้มต้นทุนการดำเนินธุรกิจและราคาสินค้าที่ปรับตัวเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง รวมถึงการเติบโตทางเศรษฐกิจของประเทศที่คาดการณ์ว่าจะถูกปรับลดลง ภาวะเงินเฟ้อ และดอกเบี้ยที่มีแนวโน้มจะ ดีดตัวเพิ่มขึ้นตามสถานการณ์เศรษฐกิจโลก
นายฉัตรชัย ตวงรัตนพันธ์ รองประธานสมาคมผู้ค้าปลีกไทย กล่าวว่า ผลการสำรวจรอบนี้พบว่า มีการเพิ่มขึ้นของยอดใช้จ่ายต่อใบเสร็จ (Spending per Bill) 6.5 จุด อยู่ที่ระดับ 52.2 เป็นการเพิ่มขึ้นจากราคาสินค้าที่ปรับตัวเพิ่มขึ้น ไม่ได้เกิดจากการจับจ่ายที่เพิ่มขึ้น เป็นไปในทิศทางเดียวกับดัชนีเงินเฟ้อที่ปรับเพิ่มขึ้น 7%
ขณะที่การทำกิจกรรมนอกบ้านมีทิศทางที่เพิ่มขึ้น นับตั้งแต่การเปิดโรงเรียน การกลับเข้าสู่สถานที่ทำงาน ของทั้งภาคเอกชนและรัฐ แต่ความถี่ในการจับจ่าย (Frequency on Shopping) กลับลดลง 5 จุด อยู่ที่ระดับ 50.0 และยอดขายสาขาเดิม Same Store Sale Growth (SSSG-YoY) ปรับลดลง 6.5 จุด และอยู่เหนือค่าเฉลี่ยกลางที่ 50 เพียงเล็กน้อย
บ่งบอกถึงพฤติกรรมผู้บริโภคที่ชะลอการจับจ่าย พร้อมทั้งกำลังซื้อที่อ่อนแอทำให้การจับจ่ายโดยรวมไม่เติบโต ผู้บริโภคมุ่งเน้นซื้อสินค้าที่จำเป็น ลดการบริโภค ซึ่งเป็นสัญญาณที่ไม่ค่อยดีนัก จึงจำเป็นต้องมีมาตรการกระตุ้นการจับจ่ายใช้สอยอย่างเร่งด่วน
“ภาคค้าปลีกและบริการของไทยได้รับผลกระทบจากวิกฤตสงครามรัสเซีย-ยูเครนโดยตรงน้อยมาก แต่ได้รับผลกระทบโดยอ้อมผ่านราคาน้ำมันที่เพิ่มขึ้นที่กระทบกับเงินเฟ้อ ราคาสินค้า และค่าครองชีพ อีกทั้ง การฟื้นตัวของกำลังซื้อในประเทศก็ยังไม่เข้มแข็ง และยังต้องเผชิญกับต้นทุนการผลิตที่ปรับสูงขึ้น การลงทุนภาคเอกชนชะลอตัวลงจากความเชื่อมั่นที่ลดลงอย่างต่อเนื่อง
อย่างไรก็ตาม แม้ว่าจะมีปัจจัยลบมากมาย แต่ก็ยังมีปัจจัยบวก นับตั้งแต่กิจกรรมทางเศรษฐกิจได้รับปัจจัยหนุนจากมาตรการที่ผ่อนคลายมากขึ้น การเปิดรับนักท่องเที่ยวต่างชาติแบบไม่กักตัวสำหรับผู้ที่ได้รับวัคซีนครบ โดยคาดการณ์จำนวนนักท่องเที่ยวต่างชาติถึงสิ้นปีอยู่ที่ 7.5 – 10 ล้านคน ซึ่งคาดว่าจะมาเติมกำลังซื้อ รวมถึงดึงศักยภาพการจับจ่ายของกลุ่มผู้บริโภคบางส่วนมาชดเชยปัจจัยลบได้บ้าง”
ผลการสำรวจ “การประเมินกำลังซื้อ และการฟื้นตัวของธุรกิจในภาคการค้า” ระหว่างวันที่ 18 - 25 มิถุนายน 2565 มีดังนี้
- 92% มีความพร้อมด้านแรงงาน สินค้า และเงินทุนเพื่อรองรับธุรกิจเติบโตตามนโยบายเปิดประเทศ
- 58% ระบุว่าธุรกิจในไตรมาสสองของปีนี้ดีขึ้น เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีที่แล้ว
- 44% ระบุว่าธุรกิจในไตรมาสสองของปีนี้แย่ลง เมื่อเทียบกับไตรมาสหนึ่งของปีนี้
สำหรับข้อเสนอต่อภาครัฐ ประกอบไปด้วย
1. นโยบายกระตุ้นการจับจ่ายใช้สอยยังคงต้องดำเนินการอย่างต่อเนื่อง ตรงเป้าและโดยเร็ว ภาครัฐยังคงต้องรักษาแรงขับเคลื่อนทางเศรษฐกิจจากการใช้จ่ายของภาคครัวเรือน (Local Consumption) ไว้อย่างต่อเนื่องตลอดปี โครงการต่างๆ ต้องมุ่งเน้นไปกลุ่มผู้บริโภคที่มีกำลังซื้อที่สามารถสร้างการหมุนเวียนทางเศรษฐกิจ ได้เร็ว อาทิ โครงการช้อปดีมีคืน โครงการริเริ่มสร้างเมืองปลอดภาษีให้ผู้มีกำลังซื้อจับจ่ายในประเทศแทนที่จะนำเงินไปจับจ่ายต่างประเทศ
2. รัฐต้องกำกับดูแลกลไกตลาดเพื่อให้ราคาสินค้าเคลื่อนไหวสอดคล้องกับต้นทุนการผลิต หากสินค้าปรับราคาสูงขึ้นเป็นจำนวนมาก ก็จะเป็นภาระต่อค่าครองชีพที่สูงต่อประชาชน แต่ถ้าไม่อนุญาตให้ปรับราคา ผู้ผลิตก็จะเลี่ยงไม่ขึ้นราคา แต่ไปปรับลดไซส์-ปริมาณสินค้า เพราะทนต่อการแบกต้นทุนไม่ไหว
3. เร่งรัดการเบิกจ่ายงบประมาณและการลงทุนโครงสร้างพื้นฐานโดยภาครัฐ ไตรมาสที่ 4 (กรกฎาคม – กันยายน) ซึ่งเป็นไตรมาสสุดท้ายของปีงบประมาณ ภาครัฐต้องเร่งรัดการดำเนินการโครงการทั้งขนาดเล็ก และขนาดใหญ่อย่างทั่วถึงและรวดเร็ว เพื่อเร่งสร้างเม็ดเงินเข้าสู่ระบบเศรษฐกิจ ผ่านการจัดจ้างการดำเนินงาน และสนับสนุนให้ SMEs เข้าถึงการจัดซื้อจัดจ้างของภาครัฐมากขึ้น
4. สนับสนุนการฟื้นตัวของการท่องเที่ยวและบริการอย่างต่อเนื่อง ยกระดับศักยภาพภาคการท่องเที่ยวให้มีคุณภาพและยั่งยืน จัดกิจกรรมส่งเสริมการท่องเที่ยวเพื่อดึงดูดนักท่องเที่ยวที่มีศักยภาพและมีกำลังซื้อสูง รวมถึงพิจารณามาตรการสินเชื่อและมาตรการอื่นๆ เพื่อสนับสนุนผู้ประกอบการให้สามารถกลับมาประกอบธุรกิจได้อย่างเต็มที่
“สรุปภาพรวมดัชนีความเชื่อมั่นผู้ค้าปลีกไทยใน เดือนมิถุนายน 2565 ยังคงน่ากังวล ปัจจัยเสี่ยงด้านราคาน้ำมันยังอยู่ในระดับสูงเป็นระยะเวลานาน และราคาสินค้าอุปโภคบริโภคที่จำเป็นในชีวิตประจำวันมีแนวโน้มเพิ่มสูงขึ้นอีก ซึ่งช่วงเวลานี้ถือเป็นช่วงเวลาที่สำคัญของภาครัฐต้องใส่เกียร์เดินหน้าเต็มกำลังในการผลักดันเศรษฐกิจของประเทศให้ดีขึ้นผ่านกลุ่มผู้บริโภคที่ยังคงมีกำลังซื้ออยู่
การฟื้นฟูเศรษฐกิจโดยการกระตุ้นการบริโภคผ่านนโยบายของภาครัฐ ยังถือเป็นหัวใจสำคัญในการเดินหน้าประเทศไทย พร้อมกับการกำกับดูแลกลไกตลาดเพื่อให้ราคาสินค้าเคลื่อนไหวสอดคล้องกับต้นทุนการผลิต ซึ่งที่ผ่านมาภาครัฐได้ดำเนินการมาในทิศทางที่ถูกต้องแล้ว และควรผลักดันให้มีมาตรการเกิดขึ้นอย่างต่อเนื่องเพื่อการเติบโตอย่างยั่งยืนของเศรษฐกิจประเทศไทย”