ข่าวดี เปิดโอกาสให้แรงงาน 4 สัญชาติขึ้นทะเบียนทำงานถูกกฎหมาย

10 ก.ค. 2565 | 07:30 น.
อัปเดตล่าสุด :10 ก.ค. 2565 | 14:17 น.

รมว.แรงงาน เผย แนวทางขึ้นทะเบียนแรงงาน 4 สัญชาติ กัมพูชา-ลาว-เมียนมา-เวียดนาม ที่มีสถานะไม่ถูกต้องตามกฎหมาย ดำเนินการพร้อมกันทั่วประเทศ หลังประกาศมหาดไทยและประกาศแรงงานมีผลบังคับใช้

10 กรกฎาคม 65 นายสุชาติ ชมกลิ่น รัฐมนตรีว่าการกระทรวงแรงงาน เปิดเผยว่า ปัจจุบันนานาประเทศ รวมทั้งประเทศไทยมีการผ่อนคลายมาตรการป้องกันและควบคุมโรค ซึ่งรัฐบาลโดยการนำของ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี และ พล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ รองนายกรัฐมนตรี ซึ่งกำกับดูแลกระทรวงแรงงาน มีนโยบายเปิดประเทศควบคู่ไปกับการส่งเสริมกิจกรรมทางเศรษฐกิจ ทำให้นายจ้าง สถานประกอบการ ทั้งในภาคการเกษตร ภาคอุตสาหกรรม

 

รวมถึงภาคบริการมีความต้องการจ้างแรงงานเพิ่มมากขึ้น โดยเฉพาะในภาคอุตสาหกรรมที่ใช้กำลังแรงงานเข้มข้น ซึ่งบางส่วนจำเป็นต้องจ้างงานแรงงานข้ามชาติ ส่งผลให้เกิดการแสวงหาการมีงานทำ และการเคลื่อนย้ายแรงงานข้ามชาติ ทั้งในลักษณะที่ถูกต้องและไม่ถูกต้องเพื่อขับเคลื่อนกิจการ โดยเบื้องต้นกระทรวงแรงงานได้รับทราบข้อมูลจากนายจ้าง สถานประกอบการว่า ยังมีความต้องการแรงงานประมาณไม่น้อยกว่า 120,000 คน

กระทรวงแรงงาน จำเป็นต้องมีมาตรการสนับสนุนนายจ้าง สถานประกอบการ และภาคการผลิตให้สามารถจ้างแรงงานข้ามชาติที่มีสถานะไม่ถูกต้อง ซึ่งประสงค์จะทำงานสามารถอยู่ในราชอาณาจักร เพื่อการทำงานได้ เพื่อฟื้นฟูประเทศในมิติต่างๆ อย่างเร่งด่วน โดยให้แรงงานข้ามชาติสัญชาติกัมพูชา ลาว เมียนมา และเวียดนาม ที่ยังมีสถานะไม่ถูกต้องด้วยเงื่อนไขและปัจจัยต่างๆ แต่ประสงค์จะทำงานอย่างถูกต้อง ดำเนินการตามแนวทางที่กรมการจัดหางานกำหนด เพื่ออยู่และทำงานเป็นการชั่วคราวได้ไม่เกินวันที่ 13 ก.พ. 66 และเมื่อได้รับอนุญาตทำงานและตรวจลงตราถึงวันที่ 13 ก.พ. 66 แล้ว

หากประสงค์จะทำงานต่อไป สามารถอยู่และทำงานเป็นการชั่วคราวได้ไม่เกินวันที่ 13 ก.พ. 68 โดยขออนุญาตให้อยู่และทำงาน 2 ครั้ง ครั้งละไม่เกิน 1 ปี ครั้งแรกไม่เกิน 13 ก.พ. 67 ครั้งที่ 2 ไม่เกิน 13 ก.พ. 68 ซึ่งแรงงานข้ามชาติที่มีสถานะไม่ถูกต้องดังกล่าวจะต้องทำงานอยู่กับนายจ้างก่อนวันที่คณะรัฐมนตรีมีมติเห็นชอบ ในส่วนแรงงานสัญชาติเวียดนามต้องมีหนังสือเดินทางที่มีอายุและมีรอยตราประทับทุกกรณี

 

นายไพโรจน์ โชติกเสถียร อธิบดีกรมการจัดหางาน กล่าวว่า แรงงานสัญชาติ กัมพูชา ลาว เมียนมา และเวียดนาม ที่มีสถานะไม่ถูกต้องตามกฎหมาย ที่ประสงค์ทำงานและมีนายจ้างถูกต้องตามกฎหมายต้องดำเนินการดังนี้

 

1.นายจ้างยื่นบัญชีรายชื่อแจ้งความต้องการจ้างแรงงานต่างด้าว (Name list) ต่อกรมการจัดหางาน พร้อมด้วยรูปถ่ายปัจจุบันของคนต่างด้าวซึ่งเห็นภาพใบหน้าชัดเจน ภายในระยะเวลา 15 วัน หลังประกาศกระทรวงมหาดไทยและประกาศกระทรวงแรงงานมีผลบังคับใช้

 

2.ยื่นคำขออนุญาตทำงานแทนคนต่างด้าว ภายในระยะเวลา 60 วัน หลังเสร็จสิ้นกระบวนการยื่น Name List โดยนายทะเบียนจะออกใบรับคำขออนุญาตทำงานและ QR Code สำหรับชำระค่าธรรมเนียมผ่านธนาคารกรุงไทย เป็นค่ายื่นคำขอฉบับละ 100 บาท และค่าธรรมเนียมใบอนุญาตทำงานฉบับละ 900 บาท

 

หลังจากนั้นธนาคารกรุงไทยจะออกใบเสร็จรับเงินให้แก่นายจ้าง และให้คนต่างด้าวใช้ใบรับคำขออนุญาตทำงานและใบเสร็จรับเงินคู่กันเพื่อเป็นหลักฐานแสดงว่าได้รับการผ่อนผันให้ทำงานได้ จนกว่าจะได้รับใบอนุญาตทำงานตามกฎหมายว่าด้วยการบริหารจัดการการทำงานของคนต่างด้าว

 

3.คนต่างด้าวใช้ใบรับคำขออนุญาตทำงานแทนคนต่างด้าวพร้อมกับใบเสร็จรับเงินค่าธรรมเนียม แสดงต่อเจ้าหน้าที่ เพื่อขึ้นทะเบียนเป็นผู้ประกันตนกับสำนักงานประกันสังคม กรณีคนต่างด้าวที่ทำงานกับนายจ้างในกิจการที่ต้องขึ้นทะเบียนประกันสังคม ในระหว่างที่ยังไม่เกิดสิทธิประกันสังคมต้องซื้อประกันสุขภาพกับกระทรวงสาธารณสุข หรือซื้อประกันสุขภาพกับบริษัทประกันภัยเอกชน ซึ่งต้องได้รับสิทธิประโยชน์ไม่น้อยกว่าสิทธิประโยชน์ที่ได้รับจากการทำประกันสุขภาพกับกระทรวงสาธารณสุข

 

กรณีคนต่างด้าวทำงานกับนายจ้างในกิจการซึ่งได้รับการยกเว้นไม่ต้องขึ้นทะเบียนประกันสังคม จะต้องซื้อประกันสุขภาพกับกระทรวงสาธารณสุข และนำหลักฐานการทำประกันสุขภาพของคนต่างด้าวมายื่นต่อนายทะเบียน เพื่อรับการพิจารณาอนุญาตให้ทำงาน ไม่เกินวันที่ 13 ก.พ. 66


4.นายจ้างนำคนต่างด้าวไปดำเนินการจัดเก็บข้อมูลอัตลักษณ์บุคคล ตรวจสุขภาพ 6 โรค จัดทำหรือปรับปรุงทะเบียนประวัติ และออกบัตรประจำตัวคนซึ่งไม่มีสัญชาติไทย ภายในวันที่ 13 ก.พ. 66

 

ทั้งนี้ คนต่างด้าวซึ่งได้รับอนุญาตทำงานถึงวันที่ 13 ก.พ. 66 แล้ว หากประสงค์จะทำงานต่อไปถึงวันที่ 13 ก.พ. 68 ให้ยื่นคำขอต่ออายุใบอนุญาตทำงานก่อนที่ใบอนุญาตทำงานจะสิ้นอายุไม่เกิน 120 วัน พร้อมกับยื่นขอตรวจลงตราหรือตรวจอนุญาตให้อยู่ในราชอาณาจักรเป็นการชั่วคราวต่อไป (VISA) ก่อนที่การอนุญาตให้อยู่ในราชอาณาจักรเป็นการชั่วคราวสิ้นอายุ โดยนายทะเบียน จะอนุญาตให้ทำงานคราวละ 1 ปี รวม 2 ครั้ง ถึงวันที่ 13 ก.พ. 68

 

สำหรับนายจ้าง สถานประกอบการ และแรงงานต่างด้าว ที่ต้องการสอบถามข้อมูลเพิ่มเติมสามารถติดต่อได้ที่สำนักงานจัดหางานจังหวัดทุกจังหวัด สำนักงานจัดหางานกรุงเทพมหานครพื้นที่ 1-10 หรือที่สายด่วนกระทรวงแรงงาน โทร.1506 กด 2 กรมการจัดหางาน หรือสายด่วนกรมการจัดหางาน โทร.1694