นายศักดิ์สยาม ชิดชอบ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคม เปิดเผยภายหลังการประชุมติดตามผลการดำเนินการแก้ไขปัญหาและแผนฟื้นฟูกิจการของการรถไฟแห่งประเทศไทย ว่า ที่ประชุมได้มีข้อสั่งการให้การรถไฟแห่งประเทศไทยดำเนินการ ดังนี้
1.ให้การรถไฟแห่งประเทศไทยทำแผนการปฏิบัติการ (Action Plan) ให้ชัดเจนเพื่อติดตามการดำเนินงานอย่างมีประสิทธิภาพ
2.ให้มุ่งเน้นในการสร้างการรับรู้แก่ประชาชน เพื่อให้ประชาชนทราบถึงแนวทางการดำเนินงานของการรถไฟแห่งประเทศไทย
3.ให้การรถไฟแห่งประเทศไทยจัดลำดับความสำคัญในการดำเนินงานจากยุทธศาสตร์ข้างต้นที่สามารถดำเนินงานได้ทันที เช่น การจัดสรรเส้นทางการเดินรถไฟให้เกิดประสิทธิภาพสูงสุด และดึงดูดเอกชนมาร่วมลงทุน
4.ให้การรถไฟแห่งประเทศไทยให้ความสำคัญในประเด็นการโอนสัญญาและสิทธิในที่ดินให้บริษัท เอสอาร์ที แอสเสท จำกัด ซึ่งจะเป็นส่วนช่วยให้การรถไฟแห่งประเทศไทยมีรายได้เพิ่มขึ้น นอกจากนี้ เห็นควรให้การรถไฟแห่งประเทศไทยเร่งรัดการจัดทำแผนและข้อมูลที่เกี่ยวข้องกับการส่งมอบทรัพย์สินให้แก่บริษัท เอสอาร์ที แอสเสท จำกัด ให้แล้วเสร็จโดยเร็ว
5.ให้การรถไฟแห่งประเทศไทยทำข้อมูลเปรียบเทียบผลที่ได้รับจากการเพิ่มรถจักรและล้อเลื่อนเพื่อให้ทราบถึงผลลัพธ์และเป้าหมายในการดำเนินงานที่ชัดเจน และทำให้การใช้โครงข่ายทางรางเกิดประโยชน์สูงสุด
รายงานข่าวจากรฟท. กล่าวว่า ปัจจุบันรฟท.มีภาระหนี้ราว 2 แสนล้านบาท เบื้องต้นรฟท. อยู่ระหว่างทบทวนร่างแผนฟื้นฟูกิจการการรถไฟแห่งประเทศไทย (รฟท.) เพื่อสรุปแผนงานให้ชัดเจนและเป็นรูปธรรม คาดว่าจะดำเนินการแล้วเสร็จภายในเดือนพ.ย.นี้ คาดว่าการฟื้นฟูในครั้งนี้ รฟท.ตั้งเป้าผลดำเนินงานลดปัญหาการขาดทุนและมีกำไรก่อนหักภาษี ค่าเสื่อมราคาและค่าตัดจำหน่าย (EBIDA) มากกว่า 0 ภายในปี 70
ทั้งนี้ในปัจจุบันรฟท.ยังพบปัญหาในการดำเนินงาน โดยมีแนวทางแก้ไขปัญหา เช่น ด้านรายได้จากค่าโดยสารและการขนส่งสินค้ายังพบปัญหาการขาดความต่อเนื่องในการพัฒนาระบบรางทั้งรถไฟทางคู่ระยะที่1-2 และสายใหม่ ส่วนรายได้จากการบริหารสินทรัพย์ พบว่าการใช้ประโยชน์จากที่ดินยังไม่เต็มประสิทธิภาพ เนื่องจากขาดการขยายรูปแบบการพัฒนาพื้นที่โดยเบื้องต้นได้ให้บริษัทเอสอาร์ที แอสเสท จำกัด เข้ามาบริหารแล้ว ฯลฯ
ส่วนปัญหาด้านค่าใช้จ่าย เช่น ค่าใช้จ่ายในการเดินรถพบว่ารฟท.ได้สนับสนุนเงินน้อยกว่าเงินที่รฟท.เสนอ,รถจักรล้อเลื่อนไม่สมบูรณ์ในการให้บริการต้องปรับขบวนรถให้มีประสิทธิภาพ,โครงสร้างบำรุงโครงสร้างพื้นฐานโดยอาศัยเทคโนโลยีเข้ามาบริหารจัดการ ลดค่าใช้จ่ายซ่อมบำรุงทาง
สำหรับความคืบหน้าของ (ร่าง) แผนวิสาหกิจการรถไฟแห่งประเทศไทย ปี 2566 – 2570 (แผนฟื้นฟู) ซึ่งการดำเนินงานดังกล่าว ประกอบด้วย 6 ยุทธศาสตร์ ดังนี้
1.พัฒนาขีดความสามารถด้านการแข่งขัน
2.พลิกฟื้นธุรกิจหลัก
3.พัฒนาและสร้างรายได้ที่ไม่เกี่ยวกับการขนส่งระบบราง
4.ปรับรูปแบบธุรกิจสู่ผู้ให้บริการแพลตฟอร์มระบบราง
5.ปฏิรูปองค์กรให้สอดคล้องกับการฟื้นฟู
6.พัฒนาระบบรางด้วย BCG Model