ดร.เกรียงศักดิ์ เจริญวงศ์ศักดิ์ หรือ ดร.แดน นายกกิตติมศักดิ์ สมาคมสังคมศาสตร์แห่งประเทศไทย กล่าวปาฐกถาในงานเสวนา ‘นวัตกรรมทางนโยบายเพื่อการพัฒนา’ (Policy Innovation 2022) จัดโดยสมาคมสังคมศาสตร์แห่งประเทศไทย ร่วมกับ Tholos Foundation ณ โรงแรมโนโวเทล กรุงเทพ ระบุ การพัฒนาประเทศภายใต้บริบทใหม่ ไม่สามารถใช้วิธีการเดิม แต่ต้องการแนวนโยบายใหม่ ๆ
“โลกกำลังเปลี่ยนผ่านสู่สังคมและเศรษฐกิจความรู้ ซึ่งเป็นช่วงเวลาที่มีการเปลี่ยนแปลงอย่างรวดเร็ว และเรายังต้องเผชิญความท้าทายจากภาวะเศรษฐกิจถดถอย โรคระบาด สงคราม และการพัฒนาเทคโนโลยีใหม่ การกำหนดนโยบายต้องการแนวคิด เครื่องมือ วิธีการใหม่ และนวัตกรรมทางนโยบาย เพื่อการสร้างชาติให้เจริญรุ่งเรืองอย่างยั่งยืน”
นายกกิตติมศักดิ์ สมาคมสังคมศาสตร์ฯ เสนอนวัตกรรมทางนโยบายในโลกยุคใหม่ว่า ควรประยุกต์เทคโนโลยีใหม่มาใช้ในการกำหนดและดำเนินนโยบายมากขึ้น เช่น การใช้บิ๊กดาต้าและปัญญาประดิษฐ์ในการจัดการข้อมูลและกำหนดนโยบาย ซึ่งนำไปสู่การออกแบบนโยบายแบบตัดเสื้อพอดีตัว สำหรับแต่ละพื้นที่และกลุ่มคนมากขึ้น การกำหนดนโยบายอุดหนุนแบบเจาะกลุ่มเป้าหมายและมีเงื่อนไขมากขึ้น และใช้เทคโนโลยีในการประสานความร่วมมือและระดมทรัพยากรเพื่อการดำเนินนโยบาย
“ภาครัฐควรสนับสนุนบทบาทและระดมทรัพยากรจากภาคกิจอื่นมากขึ้น เช่น จับคู่ธุรกิจให้รับผิดชอบซีเอสอาร์ (CSR) ในประเด็นที่สำคัญและไม่ซ้ำซ้อนกัน การจัดระบบนำทรัพยากรทุกรูปแบบมาใช้ประโยชน์สูงสุด และแปลงสินทรัพย์รูปแบบอื่น ๆ เช่น ทรัพยากรธรรมชาติ วัฒนธรรม เครือข่ายทางสังคม แรงงาน ไอเดีย ความดี เป็นต้น เป็นทุนทางการเงิน ตลอดจนเพิ่มทุนให้กับประเทศ โดยการพัฒนาทุนมนุษย์ด้วยนโยบาย ‘สมรรถนะพื้นฐานถ้วนหน้า’ (Universal Basic Competency) และนำเข้ามวลคนเก่งในด้านที่แต่ละประเทศเก่งที่สุดจากทั่วโลก เพื่อจุดสตาร์ท (Jump Start) การพัฒนาประเทศในยุคใหม่”
ดร.แดน เสนอแนะว่า การกำหนดนโยบายควรพัฒนาบนฐานจุดแกร่งของประเทศ ที่มีเอกลักษณ์ไม่เหมือนใคร และนโยบายกลุ่มจังหวัด จังหวัด อำเภอ ตำบล ควรสนับสนุนนโยบายในระดับที่สูงขึ้นไปเป็นลำดับขั้น โดยที่แต่ละพื้นที่มีเอกลักษณ์ไม่ซ้ำกัน ขณะที่การขับเคลื่อนนโยบายควรจัดทำชุดดัชนีวัดการพัฒนาประเทศ มีตัวชี้วัดครอบคลุมทุกกิจกรรมและเป้าหมาย และมอบหมายให้แต่ละหน่วยงานต้องรับผิดชอบเป้าหมายเจาะจง เช่น การกำหนด ‘เป้าหมายความเหลื่อมล้ำ’ (Inequality Targeting) ควบคุมความเหลื่อมล้ำไม่ให้เกินเป้าหมายที่กำหนด เป็นต้น
“ภาครัฐควรให้ความสำคัญกับการกำหนดนโยบายรองรับวิกฤตและความไม่แน่นอน โดยเฉพาะนโยบายบนฐานกฎ (Rule-based Policy) ที่ยืดหยุ่นและปรับเปลี่ยนได้ตามกฎและระบบที่วางไว้ และนโยบายป้องกันและรองรับวิกฤต เช่น นโยบาย ‘เศรษฐกิจกระแสกลาง’ ที่ทำให้ประเทศแข่งขันได้ยามปกติและสามารถปรับเปลี่ยนสู่การพึ่งพาตนเองได้ในยามวิกฤต” ศ.ดร.เกรียงศักดิ์ กล่าวทิ้งท้าย