ผู้สื่อข่าวรายงานว่า นายอาคม เติมพิทยาไพสิฐ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง มาเป็นประธานพิธีอัญเชิญเทียนพรรษาพระราชทาน ผ้าอาบน้ำฝนพระราชทาน เป็นเทียนชัยมิ่งมงคล นำขบวนแห่เทียนพรรษา ที่จังหวัดอุบลราชธานี
โดยจังหวัดอุบลราชธานี ร่วมกับส่วนราชการ รัฐวิสาหกิจ การท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น และภาคเอกชน จัดงานประเพณีแห่เทียนพรรษาจังหวัดอุบลราชธานี ประจำปี 2565 “121 ปี ทวยราษฎร์ใฝ่ธรรมงามล้ำเทียนพรรษา” โดยกำหนดจัดขึ้นระหว่างวันที่ 11 -17 กรกฎาคม 2565 ณ ที่บริเวณทุ่งศรีเมือง อำเภอเมือง จังหวัดอุบลราชธานี โดยมีพิธีเปิดขบวนแห่เทียน ในวันที่ 14 กรกฎาคม 2565
ทั้งนี้ เพื่อเป็นการอนุรักษ์ประเพณี วัฒนธรรมที่ดีงามให้คงอยู่ และเป็นการส่งเสริมการท่องเที่ยวจังหวัดอุบลราชธานี อีกทั้งกระตุ้นเศรษฐกิจของจังหวัดอุบลราชธานี ซึ่งจังหวัดอุบลราชธานี ได้จัดขบวนแห่เทียนพระราชทาน และผ้าอาบน้ำฝนพระราชทาน นำขบวนเฉลิมพระเกียรติพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ขบวนเทียนโบราณ ขบวนต้นเทียนแกะสลัก ติดพิมพ์ และเทียนโบราณ และคุ้มวัดต่าง ๆ ที่ได้ทำต้นเทียนตกแต่งเกี่ยวกับพระพุทธศาสนา พุทธประวัติ ชาดก ขบวนรำ และขบวนแห่จากสถาบันการศึกษาโรงเรียน ศิลปินแห่งชาติอำเภอ และอื่น ๆ
รวมทั้งปีนี้มีขบวนเรือชักพระของจังหวัดสุราษฎร์ธานี ซึ่งเป็นการแลกเปลี่ยนวัฒนธรรมประเพณี กับทางจังหวัดอุบลราชธานี จำนวน 43 ต้น เพื่อให้นักท่องเที่ยว และประชาชนได้มีความประทับใจ ได้เห็นความงดงามของต้นเทียนพรรษา ประเภท ติดพิมพ์ แกะสลัก และต้นเทียนโบราณ ขบวนรำ ขบวนแห่ที่เป็นศิลปวัฒนธรรม และอัตลักษณ์ของเมืองอุบลราชธานี
ด้านนายพงศ์รัตน์ ภิรมย์รัตน์ ผู้ว่าราชการจังหวัดอุบลราชธานี ระบุงานประเพณีแห่เทียนพรรษาอุบลราชธานี ประจำปี 2565 คาดว่า มีนักท่องเทียว ทั้งชาวไทยและต่างประเทศเข้าร่วมงาน กว่า 2.5 แสนคน มีเงินสะพัดกว่า 250 ล้านบาท
สำหรับ ผลการประกวดต้นเทียน มี 3 ประเภท คือ ต้นเทียนประเภทแกะสลัก ประเภทติดพิมพ์ และประเภทเทียนโบราญมีคุ้มวัดที่ชนะเลิศ และรองชนะเลิศ ของแต่ละประเภท คือ
ประเภทแกะสลัก ขนาดใหญ่ รางวัลชนะเลิศ ได้แก่ วัดเมืองเดช อำเภอเดชอุดม รางวัลรองชนะเลิศอันดับ 1 ได้แก่ วัดพระธาตุหนองบัว รางวัลรองชนะเลิศอันดับ 2 ได้แก่ วัดไชยมงคล
ประเภทแกะสลัก ขนาดกลาง รางวัลชนะเลิศ ได้แก่ อำเภอบุณทริก รองชนะเลิศอันดับ 1 ได้แก่ วัดสุทัศน์ รองชนะเลิศอันดับ 2 ได้แก่ วัดแจ้ง รางวัลชมเชย ได้แก่ วัดใต้พระเจ้าใหญ่องค์ตื้อ และ อำเภอเขมราฐ
ประเภทแกะสลัก ขนาดเล็ก ได้แก่ อำเภอกันทรารมย์ รางวัลชนะเลิศ รางวัลรองชนะเลิศอันดับ 1 ได้แก่ วัดแสนสุข (มมร.) รางวัลรองชนะเลิศอันดับ 2 ได้แก่ อำเภอน้ำขุ่น รางวัลชมเชย ได้แก่ อำเภอโขงเจียม และ อำเภอนาตาล
ประเภทติดพิมพ์ ขนาดใหญ่ รางวัลชนะเลิศ ได้แก่ วัดหายโศก อำเภอวารินชำราบ รางวัลรองชนะเลิศอันดับ 1 ได้แก่ วัดพลแพน รางวัลรองชนะเลิศอันดับ 2 ได้แก่ วัดบูรพา
ประเภทติดพิมพ์ ขนาดกลาง รางวัลชนะเลิศ ได้แก่ วัดใต้ท่า รางวัลรองชนะเลิศอันดับ 1 ได้แก่ ศูนย์การเรียนรู้วัดศรีประดู่ รางวัลรองชนะเลิศอันตับ 2 ได้แก่ อำเภอตระการพืชผล รางวัลชมเชย ได้แก่ วัดมหาวนาราม และ อำเภอม่วงสามสิบ
ประเภทติดพิมพ์ ขนาดเล็ก รางวัลชนะเลิศ ได้แก่ อำเภอเหล่าเสือโก้ก รางวัลรองชนะเลิศอันดับ 1ได้แก่ ชุมชนวัดเลียบ รางวัลรองชนะเลิศอันดับ 2 ได้แก่ วัดสารพัฒนึก รางวัลชมเชย ได้แก่ อำเภอเขื่องใน และ อำเภอศรีเมืองใหม่
ประเภทเทียนโบราณแบบดั้งเดิม ขนาดใหญ่ รางวัลชนะเลิศ ได้แก่ เทศบาลเมืองเดชอุดม รางวัลรองชนะเลิศอันดับ 1 ได้แก่ อำเภอสว่างวีระวงศ์ รางวัลรองชนะเลิศอันดับ 2 ได้แก่ อำเภอทุ่งศรีอุดม รางวัลชมเชย ได้แก่ อำเภอพิบูลมังสาหาร วัดภูเขาแก้ว
ประเภทเทียนโบราณแบบดั้งเดิม ขนาดเล็ก รางวัลชนะเลิศ ได้แก่ อำเภอตาลสุม รางวัลรองชนะเลิศอันดับ 1 ได้แก่ วัดเมืองเดช ชุมชนแสนตอ-เมืองใหม่ รางวัลรองชนะเลิศอันดับ 2 ได้แก่ วัดแสงเกษม รางวัลชมเชย ได้แก่ วัดโพธิ์ตาก รางวัลชมเชย ได้แก่ อำเภอดอนมดแดง
นายธงชัย แสนทวีสุข ผู้อำนวยการการท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย(ททท.) สำนักงานอุบลราชธานี กล่าวว่า หลังพิธีเปิดขบวนแห่เทียนพรรษาผ่านไปแล้ว ก็ยังมีกิจกรรม เยือนชุมชนวิธี คนทำเทียน และกิจกรรม เทียนอุบลฯ ยลได้ตลอดเดือน ระหว่างวันที่ 19-31 กรกฎาคม 2565 ตามคุ้มวัดในเขตเทศบาลนครอุบลราชธานี และอำเภอวารินชำราบ ที่นักท่องเที่ยว สามารถชมได้ตลอดทั้งเดือน
และขบวนแห่เทียนประกอบแสงสีเสียง ภาคกลางคืน โดย กลุ่ม 13 องค์กรภาคเอกชน ในรอบสุดท้ายในคืนวันที่ 14 ก.ค. พร้อมทั้งการโชว์ต้นเทียน ทุกประเภท ที่ได้รับรางวัลชนะเลิศ และรองชนะเลิศ ในวันที่ 14-17 ก.ค. ที่บริเวณทุ่งศรีเมือง อีกด้วย
ชลธิษ จันทร์สิงห์ รายงาน