บิ๊กสภาอุตฯ ชี้บาทโอกาสแตะ 38 ต่อดอลล์ ใครได้-ใครเสีย เอกชนจะรับมืออย่างไร

17 ก.ค. 2565 | 06:18 น.
อัปเดตล่าสุด :17 ก.ค. 2565 | 13:35 น.

เงินบาทที่อ่อนค่ารอบกว่า 6 ปี ที่ระดับ 36 บาทต่อดอลลาร์สหรัฐฯ ใกล้แตะ 37 บาทต่อดอลลาร์สหรัฐฯ ในเวลานี้ และเงินเฟ้อเดือนมิถุนายนล่าสุด ขยายตัว 7.66% สูงสุดรอบ 13 ปี อัตราดอกเบี้ยที่มีทิศทางขาขึ้นหลายฝ่ายเกรงจะซ้ำเติมเอสเอ็มอีและภาคครัวเรือนมีหนี้เพิ่มขึ้น

 

ทั้งนี้ปัจจัยค่าเงินอ่อนค่า ทั้งค่าเงินยูโร ค่าเงินปอนด์  ค่าเงินเยน ค่าเงินบาท เมื่อเทียบกับดอลลาร์สหรัฐฯ เกิดจากอัตราดอกเบี้ยที่ห่างกันมากขึ้น หลังธนาคารกลางสหรัฐอเมริกา (เฟด) เร่งปรับขึ้นดอกเบี้ยนโยบายครั้งใหญ่ เพื่อสกัดเงินเฟ้อของสหรัฐฯที่พุ่งสูงสุดรอบ 40 ปี (มิ.ย. 65 ขยายตัว 9.1%) กดดันประเทศไทยและประเทศอื่น ๆ ต้องพิจารณาปรับขึ้นดอกเบี้ยตาม เพื่อป้องกันเงินทุนไหลออก ทำเงินอ่อนค่า

 

นอกจากนี้เงินเฟ้อที่พุ่งทั่วโลก จากราคาพลังงาน ราคาอาหาร ปรับตัวสูงขึ้น ค่าครองชีพสูง สวนทางกำลังซื้อผู้บริโภคลดลง กำลังเป็นปัญหาใหญ่ของไทยและของโลก ซึ่งประเทศไทยได้รับผลกระทบหนักหน่วงแค่ไหน จะรับมืออย่างไร “เกรียงไกร  เธียรนุกุล” ประธานสภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (ส.อ.ท.) ตอบคำถามใน 5 ประเด็น กับ “ฐานเศรษฐกิจ” ดังนี้

 

 

ถาม : เงินบาทที่อ่อนค่าลงในเวลานี้ในรอบกว่า 6 ปี ที่ระดับ 36 บาทต่อดอลลาร์สหรัฐฯ มองว่ามีโอกาสจะอ่อนค่าถึงระดับ 37-38 บาทต่อดอลลาร์หรือไม่ อย่างไร

 

ตอบ : มีโอกาสที่ค่าเงินบาทจะอ่อนค่าถึง 37-38 บาท ต่อดอลลาร์เพราะนโยบายของสหรัฐอเมริกาในขณะนี้ คือการรบกับภาวะเงินเฟ้อ มาตรการทางการเงินใช้ยาแรง โดยการขึ้นอัตราดอกเบี้ยนโยบาย 0.75% และทิศทางที่จะขึ้นดอกเบี้ยอีกเร็ว ๆ นี้ จนสิ้นปีอีกหลายครั้ง โดยมีเป้าหมายไว้ที่  3.40% ซึ่งถือว่าเป็นช่วงดอกเบี้ยขาขึ้น ส่งผลทำให้เงินดอลลาร์ของสหรัฐฯแข็งค่า ควบคู่กับมาตรการ QT ซึ่งเป็นการดูดเงินจากระบบกลับเพื่อลดความร้อนแรงของเศรษฐกิจ จะเห็นว่าดอลลาร์สหรัฐฯแข็งค่า จนอัตราแลกเปลี่ยนระหว่าง ดอลลาร์สหรัฐฯ และเงินยูโร เท่ากัน 1 เหรียญ : 1 ยูโร

 

 

ถาม : ผู้ได้รับอานิสงส์ และภาคส่วนที่ได้รับผลกระทบจากเงินบาทที่อ่อนค่าในครั้งนี้มีใครบ้าง

 

ตอบ : ผู้ได้รับอานิสงส์โดยตรง คือ ผู้ส่งออก และภาคอุตสาหกรรมท่องเที่ยว จะได้รับผลบวกจากค่าเงินบาทที่อ่อนค่า สินค้าจากไทยส่งออกก็จะราคาดี และกำไรเพิ่ม เช่นกันนักท่องเที่ยวก็ยิ่งอยากมาเที่ยวไทยเพิ่มขึ้น เพราะราคาถูกดี เหมือนกันกับญี่ปุ่นในขณะนี้ที่เงินเยนอ่อนค่าลงไปมาก เหลือประมาณ 135-137 เยน ต่อ 1 ดอลลาร์สหรัฐฯ

 

แต่ในขณะเดียวกัน ค่าเงินบาทที่อ่อนค่าลงมาก ก็ยิ่งส่งผลซ้ำเติมสภาวะเงินเฟ้อของไทย ที่ขณะนี้สูงมากถึง 7.66 % เพราะภาวะเงินเฟ้อไทย เกิดจากลักษณะ Cost Push ต้นทุนสูง สาเหตุหลักจากหมวดค่านำเข้าพลังงาน เช่นน้ำมัน และก๊าซ และราคาสินค้าในหมวดอาหารสด และอาหารสำเร็จรูป รวมถึง การนำเข้าสินค้าประเภทวัตถุดิบ และสินค้าทุน

 

“ยิ่งเงินบาทอ่อนค่าลงเท่าไหร่ ย่อมส่งผลต่อต้นทุนนำเข้ามากขึ้นเท่านั้น เพราะไทยต้องนำเข้าน้ำมันวันละกว่า 900,000 บาร์เรล และก๊าซอีกวันละกว่า 30% ของปริมาณการใช้ ส่งผลต่อราคาสินค้าแพง ค่าครองชีพจะสูงขึ้น กดดันกำลังซื้อ ทำให้เศรษฐกิจจะซึมตัว และยังต้องเป็นภาระของภาครัฐในการใช้กองทุนน้ำมันเข้ามาช่วยชดเชยส่วนต่างอีกด้วย”

 

ถาม : ชั่งน้ำหนักแล้วเศรษฐกิจไทยในภาพรวมได้ หรือเสียมากกว่ากัน จากการอ่อนค่าของเงินบาทในครั้งนี้

 

ตอบ : คงต้องมีการชั่งน้ำหนักทั้งสองด้านอย่างละเอียด ว่าส่วนได้อานิสงส์เชิงบวกจากค่าเงินอ่อน คือภาคส่งออก และภาคท่องเที่ยว เมื่อเทียบกับ อัตราเงินเฟ้อที่สูงขึ้นมาก กระทบต่อค่าครองชีพ การฟื้นตัวของธุรกิจต่าง ๆ ในประเทศ และภาระการชดเชยของกองทุนน้ำมัน ต้องพิจารณาให้รอบคอบว่าอัตราค่าเงินบาทเท่าไรถึงเหมาะสม  และเพื่อให้เกิดสมดุลทางเศรษฐกิจทั้งส่งออกและนำเข้า

 

ถาม : ทางภาครัฐควรเข้ามากำกับดูแลค่าเงินบาทอย่างไร เพื่อไม่ให้ผันผวนขึ้น-ลงรวดเร็ว และกระทบต่อการวางแผนธุรกิจ

 

ตอบ : เป็นหน้าที่ของ ธนาคารแห่งประเทศไทย(ธปท.) ที่จะต้องช่วยเข้ามาดูแลอย่างใกล้ชิด ซึ่งเรื่องนี้เชื่อว่าทาง ธปท. ก็ได้เฝ้าดูแลอย่างเต็มที่อยู่แล้ว และต้องหาวิธีที่ทำอย่างไร ให้ค่าเงินบาทมีเสถียรภาพ ไม่อ่อนหรือแข็งเร็วจนเกินไป

 

ถาม : ภาคธุรกิจเอกชนควรตั้งรับอย่างไรในสถานการณ์ที่เศรษฐกิจยุโรป-สหรัฐฯส่อถดถอย การเมืองระหว่างประเทศยังเขม็งเกลียว และค่าเงินที่ผันผวนในเวลานี้

 

ตอบ : เป็นที่ยอมรับว่า ภาวะสงครามระหว่างรัสเซีย-ยูเครน ยังคงยืดเยื้อ และส่งผลทำให้ราคาพลังงานของโลกยังอยู่ในทิศทางขาขึ้น รวมทั้งสภาวะการขาดแคลนอาหารยิ่งทวีความรุนแรงขึ้นในหลายประเทศ ส่งผลให้เกิดภาวะเงินเฟ้อหนักในเกือบทุกประเทศ โดยเฉพาะสหรัฐอเมริกา และยุโรป ย่อมส่งผลกระทบต่อกำลังซื้อทั่วโลก คาดว่าคำสั่งซื้อจากต่างประเทศจะเริ่มออกอาการแผ่วลงในช่วงครึ่งหลังของปี 65 เพราะฉะนั้นภาคเอกชนก็ต้องเตรียมพร้อมในการรับมือ และรีบเร่งหาตลาดใหม่ ๆ อื่น ๆ เพื่อชดเชยเพิ่มขึ้น