เปิดหนังสือ "บีทีเอส" ร้อง DSI เอาผิดฮั้วประมูล "สายสีส้ม" เอื้อเอกชนบางราย

20 ก.ค. 2565 | 08:29 น.
อัปเดตล่าสุด :20 ก.ค. 2565 | 15:42 น.

"บีทีเอส" ลุยยื่นหนังสือ DSI สอบเอาผิดคดีรถไฟฟ้าสายสีส้ม หลังรฟม.เข้มเกณฑ์คุณสมบัติเปิดประมูลรอบใหม่ เอื้อเอกชนบางราย เชื่อมีเจตนากีดกันการแข่งขันไม่เป็นธรรม ส่อผิดกฎหมาย

วันนี้(20 กรกฎาคม 2565) เวลา 13.00 น. นายสุรมนต์ มีเมศกุล ผู้รับมอบอำนาจจาก บริษัท ระบบขนส่งมวลชนกรุงเทพ จำกัด (มหาชน) หรือ BTSC ซึ่งเป็นผู้ประกอบการกิจการขนส่งมวลชนระบบรถไฟฟ้า ได้มาร้องทุกข์กล่าวโทษต่อพนักงานสอบสวนคดีพิเศษ โดยมีพันตำรวจโทยุทธนา แพรดำ รองอธิบดีกรมสอบสวนคดีพิเศษเป็นผู้รับเรื่อง ให้ดำเนินการสืบสวนสอบสวนดำเนินคดีกับผู้กระทำความผิดกรณีที่การรถไฟฟ้าขนส่งมวลชนแห่งประเทศไทย (รฟม.) ได้ออกประกาศเชิญชวนเอกชนร่วมลงทุนในโครงการรถไฟฟ้าสายสีส้มช่วงบางขุนนนท์ - มีนบุรี (สุวินทวงศ์) ส่วนตะวันตก (ช่วงบางขุนนนท์ – ศูนย์วัฒนธรรมฯ) บริษัทฯ ได้พิจารณาแล้ว พบว่า ข้อกำหนดเงื่อนไขในสาระสำคัญเกี่ยวกับคุณสมบัติของผู้ยื่นข้อเสนอ มีเจตนากีดกันบริษัทฯ ไม่ให้มีโอกาสเข้าแข่งขันราคาอย่างเป็นธรรม และยังเป็นการเอื้อประโยชน์ให้กับผู้เสนอราคารายหนึ่งรายใดอย่างชัดเจน อันเป็นความผิดตามพระราชบัญญัติว่าด้วยความผิดเกี่ยวกับการเสนอราคาต่อหน่วยงานของรัฐ พ.ศ.2542

เปิดหนังสือ \"บีทีเอส\" ร้อง DSI เอาผิดฮั้วประมูล \"สายสีส้ม\" เอื้อเอกชนบางราย

 

ที่ผ่านมาจะมาร้องทุกข์นี้บริษัทฯ ได้มีการร้องเรียนเรื่องที่ไม่ถูกต้องนี้ยังผู้รับผิดชอบตามกฎหมายมาโดยตลอด แต่กลับไม่มีการดำเนินการใดๆ จึงขอให้กรมสอบสวนคดีพิเศษ ดำเนินการสืบสวนสอบสวนตามพระราชบัญญัติการสอบสวนคดีพิเศษ พ.ศ. 2647 และที่แก้ไขเพิ่มเติม โดยมีรายละเอียดดังต่อไปนี้เมื่อวันที่ 3 กรกฎาคม 2563 ผู้ว่าการรถไฟฟ้าขนส่งมวลชนแห่งประเทศไทย ได้ออกประกาศเชิญชวนเอกชนเข้าร่วมลงทุนโครงการรถไฟฟ้าสายสีส้ม ช่วงบางขุนนนท์ - มีนบุรี (สุวินทวงศ์) ส่วนตะวันตก (ช่วงบางขุนนนท์ – ศูนย์วัฒนธรรมฯ) บริษัทฯ จึงได้ซื้อเอกสารคัดเลือกโครงการและรวมกลุ่มบริษัทที่มีคุณสมบัติเตรียมยื่นข้อเสนอภายในกำหนดเวลาที่ประกาศ ระหว่างนั้น บริษัท อิตาเลียนไทย ดีเวลล๊อปเมนต์ จำกัด (มหาชน) ได้มีหนังสือถึงสำนักงานคณะกรรมการนโยบายรัฐวิสาหกิจ (สคร.) และ รฟม. ขอให้เปลี่ยนแปลงหลักเกณฑ์การคัดเลือกผู้ชนะ ..... ต่อมาคณะกรรมการคัดเลือกได้เห็นชอบให้เปลี่ยนแปลงหลักเกณฑ์การคัดเลือกผู้ชนะใหม่ บริษัทฯ จึงได้มีหนังสือร้องเรียนและขอให้มีการตรวจสอบไปยังผู้มีอำนาจหน้าที่ตามกฎหมาย และยื่นฟ้องคดีต่อศาลปกครอง ซึ่งต่อมาศาลปกครองกลางได้มีคำสั่งทุเลาการบังคับตามที่บริษัทฯ ร้องขอ โดยขณะที่คดีอยู่ในระหว่างการพิจารณาของศาลปกครองกลาง เมื่อถึงกำหนดยื่นข้อเสนอ มีเพียงกลุ่มบริษัทเพียงสองราย คือบีทีเอสซี ของผู้กล่าวหา และบริษัท ทางด่วนและรถไฟฟ้ากรุงเทพ จำกัด (มหาชน) (BEM) เท่านั้นที่ยื่นข้อเสนอเพื่อเข้าแข่งขัน แต่ รฟม.กลับไม่ดำเนินการแข่งขันต่อไป และได้มีประกาศยกเลิกประกาศเชิญชวน ฉบับลงวันที่ 3 กรกฎาคม 2563 และนำประกาศยกเลิกดังกล่าวไปยื่นต่อศาลปกครองกลางเพื่อขอให้จำหน่ายคดี

 

 

 

ทั้งนี้บริษัทฯ จึงได้ยื่นฟ้องคดีต่อศาลปกครองเป็นคดีใหม่อีกคดีหนึ่ง โดยฟ้องขอให้เพิกถอนมติของคณะกรรมการคัดเลือกที่ให้ยกเลิกประกาศเชิญชวนรวมทั้งยกเลิกประกาศ รฟม. เรื่อง ยกเลิกประกาศเชิญชวน ต่อมาศาลปกครองกลางได้มีคำพิพากษาในคดีที่ฟ้องว่า การเปลี่ยนแปลงแก้ไขหลักเกณฑ์การคัดเลือกผู้ชนะไม่ชอบว่า การดำเนินการของคณะกรรมการคัดเลือก ในการกำหนดหลักเกณฑ์ในครั้งแรก ได้ดำเนินการมาโดยชอบด้วยกฎหมายและมติคณะรัฐมนตรีแล้ว ซึ่งมาตรา 38 แห่งพระราชบัญญัติร่วมทุนฯ ไม่ได้บัญญัติให้อำนาจแก่คณะกรรมการคัดเลือกในการแก้ไขหลักเกณฑ์การพิจารณาคัดเลือก

ส่วนการแก้ไขเปลี่ยนแปลงเอกสารสำหรับการคัดเลือกเอกชน (RFP) แม้ผู้ถูกฟ้องคดีทั้งสองจะมีอำนาจกระทำได้ แต่ต้องไม่เกินขอบอำนาจหน้าที่ของผู้ถูกฟ้องคดีทั้งสองตามประกาศคณะกรรมการนโยบาย การแก้ไขในส่วนที่เป็นสาระสำคัญและมีผลกระทบต่องบประมาณแผ่นดินที่จะต้องใช้จ่ายจำนวนมาก จึงเป็นการดำเนินการโดยไม่ถูกต้องตามรูปแบบขั้นตอนดังที่กำหนดไว้ตามประกาศคณะกรรมการนโยบาย ถือเป็นคำสั่งทางปกครองทั่วไปที่ไม่ชอบด้วยกฎหมาย เมื่อคณะกรรมการคัดเลือก และ รฟม. ทราบคำพิพากษาของศาลปกครอง แทนที่จะดำเนินกระบวนการคัดเลือกตามหลักเกณฑ์เดิมที่กำหนดไว้ตามประกาศ ฉบับลงวันที่ 3 กรกฎาคม 2563 กลับออกประกาศรับฟังความคิดเห็นของภาคเอกชนขึ้นใหม่ เพื่อนำไปสู่การออกประกาศเชิญชวนเอกชนร่วมลงทุนใหม่ ทั้งๆ ที่ยังมีคดีฟ้องว่า การยกเลิกประกาศเชิญชวนที่ผ่านมาไม่ชอบด้วยกฎหมาย และอยู่ระหว่างการพิจารณาของศาลปกครองกลาง

 

 

 

 บริษัทฯจึงได้ทำหนังสือทักท้วงไปยังผู้รับผิดชอบตามกฎหมายอีกครั้งหนึ่ง โดยเห็นว่า ข้อทักท้วงมีความเกี่ยวข้องโดยตรงกับกระบวนการคัดเลือกเอกชนของโครงการ ซึ่งกำหนดให้อยู่ในหน้าที่และอำนาจของ รฟม. ในฐานะหน่วยงานเจ้าของโครงการ คณะกรรมการคัดเลือก รวมทั้งผู้บริหารในแต่ละระดับที่มีหน้าที่และความรับผิดชอบตามกฎหมาย ที่ต้องนำประเด็นการร้องเรียนและผลแห่งคดีปกครองมาพิจารณาก่อนดำเนินกระบวนการคัดเลือกต่อไป และต่อมาศาลปกครองกลาง ได้มีคำพิพากษาว่า ผู้ถูกฟ้องคดีทั้งสองทราบดีว่า หากศาลปกครองกลางเห็นว่าการแก้ไขเพิ่มเติมหลักเกณฑ์การคัดเลือกไม่ชอบด้วยกฎหมาย และพิพากษาเพิกถอนหลักเกณฑ์ดังกล่าว ผู้ฟ้องคดีซึ่งเป็นหนึ่งในกลุ่มนิติบุคคลที่ยื่นข้อเสนอก็จะมีสิทธิได้รับการพิจารณาข้อเสนอตามหลักเกณฑ์เดิมที่กำหนดไว้ การรอคำพิพากษาก่อน เป็นวิธีการอยู่ในวิสัยที่ผู้ถูกฟ้องคดีทั้งสองสามารถกระทำได้ การยกเลิกประกาศเชิญชวน โดยมิได้คำนึงถึงความโปร่งใสและตรวจสอบได้ในการจัดทำและดำเนินโครงการร่วมลงทุน ซึ่งเป็นพื้นฐานสำคัญของความเป็นหุ้นส่วนกันระหว่างรัฐและเอกชน ตามเจตนารมณ์ของพระราชบัญญัติ จึงถือว่า มติและประกาศยกเลิกใช้ดุลพินิจที่ไม่ชอบด้วยกฎหมาย

เปิดหนังสือ \"บีทีเอส\" ร้อง DSI เอาผิดฮั้วประมูล \"สายสีส้ม\" เอื้อเอกชนบางราย

 

สำหรับคำพิพากษาของศาลปกครองกลางทั้งสองฉบับพิพากษาว่าการแก้ไขหลักเกณฑ์การพิจารณาคัดเลือกไม่ชอบด้วยกฎหมาย และการยกเลิกประกาศเชิญชวนไม่ชอบด้วยกฎหมาย ดังนั้น หลักเกณฑ์การพิจารณาคัดเลือกตามประกาศเชิญชวน ฉบับแรก ลงวันที่ 3 กรกฎาคม 2563 ซึ่งดำเนินการมาโดยชอบด้วยกฎหมาย ให้สิทธิแก่ผู้กล่าวหาเข้าแข่งขันราคาอย่างเป็นธรรม จึงสมควรต้องนำมาใช้เพื่อพิจารณาดำเนินการคัดเลือกเอกชนเข้าเป็นคู่สัญญากับรัฐ ตามมาตรา 6 (5) แห่งพระราชบัญญัติการร่วมลงทุนระหว่างรัฐและเอกชน พ.ศ.2562 ที่กำหนดไว้ว่า ความโปร่งใสและตรวจสอบได้ในการจัดทำและดำเนินการโครงการร่วมลงทุน รวมถึงกระบวนการตัดสินใจที่เกี่ยวข้อง แต่ รฟม.และคณะกรรมการคัดเลือก กลับเพิกเฉยต่อคำพิพากษาของศาลปกครองกลางทั้งสองฉบับ และข้อทักท้วงของบริษัทฯ ดำเนินกระบวนการคัดเลือกใหม่ต่อไปโดยการออกประกาศเชิญชวนการร่วมลงทุนระหว่างรัฐและเอกชน โครงการรถไฟฟ้าสายสีส้ม ช่วงบางขุนนนท์ - มีนบุรี (สุวินทวงศ์) วงเงินไม่เกิน 96,012 ล้านบาท ฉบับลงวันที่ 24พฤษภาคม 2565 กำหนดการรับซองเอกสารข้อเสนอในวันที่ 27กรกฎาคม 2565 เวลา 9.00-15.00 น. และเปิดซองข้อเสนอในวันที่ 1สิงหาคม 2565 แสดงถึงเจตนาที่ต้องการจะดำเนินการคัดเลือกต่อไปโดยไม่รอผลของคำพิพากษาศาลปกครองให้ถึงที่สุด

 

 

 

เมื่อดูในรายละเอียดข้อกำหนดคุณสมบัติด้านเทคนิค ประสบการณ์ ผลงาน ตามประกาศเชิญชวน ฉบับลงวันที่ 24พฤษภาคม 2565 มีความแตกต่างไปจากฉบับลงวันที่ 3กรกฎาคม 2563 ในส่วนที่เป็นสาระสำคัญ คือ 1. ต้องมีผลงานกับหน่วยงานของรัฐบาลไทย 2. ผลงานต้องแล้วเสร็จ 3. ผู้รับเหมาต้องเป็นนิติบุคคลไทยรายเดียว หรือกลุ่มนิติบุคคลไทยถือหุ้นรวมกันแล้วไม่น้อยกว่า ร้อยละ 51 ฯลฯ

การกำหนดคุณสมบัติใหม่นี้ ทำให้กลุ่มนิติบุคคลของบริษัทฯ ที่เคยมีคุณสมบัติสามารถเข้าแข่งขันในโครงการนี้ ไม่สามารถเข้าแข่งขันตามประกาศฉบับหลังนี้ได้ ในขณะที่ข้อกำหนดฉบับหลังนี้กลับไม่มีผลกระทบ บริษัท ทางด่วนและรถไฟฟ้ากรุงเทพ จำกัด (มหาชน) (BEM) ซึ่งเป็นผู้ยื่นข้อเสนอคู่แข่งขันรายเดียวของบริษัทฯ ตามประกาศ ฉบับลงวันที่ 3 กรกฎาคม 2563 ที่ยังคงสามารถยื่นข้อเสนอตามประกาศฉบับลงวันที่ 24 พฤษภาคม 2565 ได้ ซึ่งรฟม.และคณะกรรมการคัดเลือกทราบดีว่า ด้วยคุณสมบัติและรายละเอียดที่กำหนดขึ้นใหม่นี้ จะทำให้กลุ่มนิติบุคคลของบริษัทฯ ขาดคุณสมบัติและไม่สามารถเข้าร่วมแข่งขันราคาตามประกาศเชิญชวนฉบับใหม่ได้ ข้อกำหนดดังกล่าวจึงเป็นการกำหนดเงื่อนไขหลักเกณฑ์ เพื่อกีดกันกลุ่มนิติบุคคลของบริษัทฯ และเป็นการเอื้อประโยชน์ให้กับผู้เสนอราคาคู่แข่งอีกรายอย่างชัดเจน

 

เปิดหนังสือ \"บีทีเอส\" ร้อง DSI เอาผิดฮั้วประมูล \"สายสีส้ม\" เอื้อเอกชนบางราย

 

วันนี้บริษัทฯ จึงได้มอบอำนาจให้ผมมาร้องทุกข์กล่าวโทษเพื่อขอให้ กรมสอบสวนคดีพิเศษ ตรวจสอบและพิจารณาดำเนินคดีอาญาแก่ผู้กระทำผิด ผู้สนับสนุน ตามความผิดเกี่ยวกับการเสนอราคาต่อหน่วยงานของรัฐ ที่มิให้มีการแข่งขันราคากันอย่างแท้จริงและเป็นธรรม ช่วยเหลือ เอื้อประโยชน์แก่ผู้เสนอราคารายหนึ่ง หรือ หลายรายให้เป็นผู้มีสิทธิทำสัญญา หรือ เพื่อกีดกันผู้เสนอราคารายใดมิให้มีโอกาสเข้าแข่งขันราคาอย่างเป็นธรรม รวมทั้งขอให้ดำเนินการสืบสวนสอบสวนว่ามีเจ้าหน้าที่ผู้ใดรู้หรือมีพฤติการณ์ปรากฏแจ้งชัดว่า ควรรู้ว่าการดำเนินการเสนอราคาในครั้งนั้นมีการกระทำความผิดตามพระราชบัญญัติว่าด้วยความผิดเกี่ยวกับการเสนอราคาต่อหน่วยงานของรัฐ พ.ศ. 2542 แล้วละเว้นไม่ดำเนินการเพื่อให้มีการยกเลิกการดำเนินการเกี่ยวกับการเสนอราคาในครั้งนั้นด้วยหรือไม่ ซึ่งความผิดที่ได้มีการร้องทุกข์กล่าวโทษในครั้งนี้เป็นการกระทำที่เข้าลักษณะความผิด ตามประกาศ กำหนดรายละเอียดของการกระทำความผิดที่เป็นคดีพิเศษ ของคณะกรรมการคดีพิเศษ (ฉบับที่ 8) พ.ศ. 2565 ที่กำหนดให้คดีความผิดตามกฎหมายว่าด้วยความผิดเกี่ยวกับการเสนอราคาต่อหน่วยงานของรัฐ ที่มีหรือมีมูลน่าเชื่อว่ามีการกระทำความผิดเกี่ยวกับการเสนอราคาเพื่อเป็นผู้มีสิทธิทำสัญญากับหน่วยงานของรัฐ ซึ่งมีวงเงินหรือมูลค่าตั้งแต่สามสิบล้านบาทขึ้นไป เป็นคดีพิเศษตามมาตรา 21 วรรคหนึ่ง (1) แห่งพระราชบัญญัติการสอบสวนคดีพิเศษ พ.ศ. 2547

 

 

 อย่างไรก็ตามหากต้องส่งให้ คณะกรรมการ ป.ป.ช. พิจารณา ขอให้ ร้องขอต่อ คณะกรรมการ ป.ป.ช. มอบหมายให้กรมสอบสวนคดีพิเศษ เป็นผู้ดำเนินการตามมาตรา 28 วรรคท้าย ของพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการป้องกันและปราบปรามการทุจริต พ.ศ.2561 ด้วย​