กระทรวงคมนาคมเร่งรัดโครงการก่อสร้างรถไฟทางคู่ ระยะที่ 2 จำนวน7 เส้นทาง วงเงิน 2.74 แสนล้านบาท ซึ่งจะช่วยพัฒนาระบบขนส่งทางรางให้มีประสิทธิภาพ ลดต้นทุนการขนส่งเชื่อมโยงฐานการผลิตและการเดินทางระหว่างภูมิภาคอย่างต่อเนื่องในอนาคต
นายพิเชฐ คุณาธรรมรักษ์ อธิบดีกรมการขนส่งทางราง (ขร.) เปิดเผยว่า สำหรับความคืบหน้าโครงการก่อสร้างรถไฟทางคู่ระยะที่ 2 ปัจจุบันกระทรวงคมนาคมอยู่ระหว่างผลักดันระบบรางผ่านการพัฒนาขีดความสามารถของโครงการรถไฟทางคู่ ซึ่งรถไฟทางคู่ในระยะที่ 1 ได้ดำเนินการก่อสร้างแล้ว จึงเริ่มเข้าสู่การผลักดันโครงการในระยะที่ 2 โดยเส้นทางที่มีศักยภาพในการพัฒนาในขณะนี้ คือ ช่วงขอนแก่น – หนองคาย ซึ่งเป็นช่วงที่จะเชื่อมต่อระบบรางให้สมบูรณ์แบบ
“การดำเนินงานในปัจจุบันอยู่ระหว่างพิจารณารายละเอียดการเวนคืนที่ดิน เพื่อเสนอข้อมูลไปยังสำนักงบประมาณ โดยกรมการปกครองจะเป็นหน่วยงานที่เข้ามาช่วยสำรวจการเวนคืน คาดว่าจะดำเนินการแล้วเสร็จเพื่อเสนอโครงการเข้าสู่ที่ประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) อนุมัติภายในเดือนสิงหาคมนี้ หลังจากนั้นจะเริ่มเข้าสู่ขั้นตอนการประกวดราคาทันที เพื่อเร่งรัดในโครงข่ายทางรางสมบูรณ์และสนับสนุนการขนส่งสินค้าทางรางระหว่างไทย ลาว และจีน”
สำหรับโครงการรถไฟทางคู่ระยะที่ 2 ช่วงขอนแก่น - หนองคาย มีระยะทาง 167 กิโลเมตร (กม.) มูลค่าโครงการ 29,748 ล้านบาท ประกอบด้วย ค่าจ้างที่ปรึกษา สำรวจอสังหาริมทรัพย์ราว 9 ล้านบาท ค่าจัดกรรมสิทธิ์ที่ดิน 369 ล้านบาท ค่าที่ปรึกษาจัดการประกวดราคาประมาณ 7 ล้านบาท ค่าก่อสร้าง 28,759 ล้านบาท และค่าจ้างควบคุมงานก่อสร้าง 604 ล้านบาท โดยมีระยะเวลาดำเนินโครงการระหว่างปี 2565-2569
รายงานข่าวจากการรถไฟแห่งประเทศไทย (รฟท.) กล่าวว่า หลังจากรฟท.เสนอกระทรวงคมนาคมและที่ประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) พิจารณาอนุมัติการลงทุนรถไฟทางคู่ ช่วงขอนแก่น – หนองคาย แล้วเสร็จ หลังจากนั้นจะเริ่มจัดทำร่างเอกสารประกวดราคา (ทีโออาร์) และเริ่มขั้นตอนประกวดราคาทันที และจะเริ่มขั้นตอนสำรวจอสังหาริมทรัพย์ และจัดกรรมสิทธิ์ที่ดิน ในปี 2566 – 2567 โดยคาดว่าจะเริ่มก่อสร้างปี 2566 ใช้ระยะเวลาก่อสร้าง 36 เดือน ดำเนินการก่อสร้างแล้วเสร็จต้นปี 2569
นอกจากนี้ รฟท.ยังอยู่ระหว่างผลักดันรถไฟทางคู่ระยะที่ 2 ในเส้นทางอื่นๆ ให้ครบตามแผนพัฒนา 7 เส้นทาง ประกอบด้วย 1.ช่วงขอนแก่น-หนองคาย ระยะทาง 167 กิโลเมตร (กม.) วงเงิน 2.97 หมื่นล้านบาท โดยมีรูปแบบระดับโครงสร้างพื้นดินและทางยกระดับรถไฟ ทั้งหมด 15 สถานี ย่านกองเก็บและขนถ่ายสินค้า 3 แห่ง ได้แก่ 1.สถานีหนองตะไก้ 2.สถานีนาทา 3.สถานีเขาสวนกวาง ความเร็วในการให้บริการ 100-120 กิโลเมตรต่อชั่วโมง 2.ช่วงปากน้ำโพ-เด่นชัย ระยะทาง 285 กิโลเมตร (กม.) วงเงิน 6.28 หมื่นล้านบาท
โดยมีรูปแบบระดับโครงสร้างพื้นดิน ทางยกระดับรถไฟ และอุโมงค์ ทั้งหมด 39 สถานี ย่านกองเก็บและขนถ่ายสินค้า 3 แห่ง ได้แก่ 1.สถานีบางกะทุ่ม 2.สถานีวังกะพี้ 3.สถานีศิลาอาสน์ ความเร็วในการให้บริการ 100-120 กิโลเมตรต่อชั่วโมง 3.ช่วงชุมพร-สุราษฎร์ธานี ระยะทาง 168 กิโลเมตร(กม.) วงเงิน 2.42 หมื่นล้านบาท โดยมีรูปแบบระดับโครงสร้างพื้นดินและทางยกระดับรถไฟ ทั้งหมด 22 สถานี ย่านกองเก็บและขนถ่ายสินค้า 1 แห่ง คือ สถานีชุมทางบ้านทุ่งโพธิ์ ความเร็วในการให้บริการ 100-120 กิโลเมตรต่อชั่วโมง
4.ช่วงสุราษฎร์ธานี-ชุมทางหาดใหญ่-สงขลา ระยะทาง 321 กิโลเมตร (กม.) วงเงิน 5.73 หมื่นล้านบาท โดยมีรูปแบบระดับโครงสร้างพื้นดิน ทางยกระดับรถไฟ และอุโมงค์ ทั้งหมด 65 สถานี ย่านกองเก็บและขนถ่ายสินค้า 2 แห่ง ได้แก่ 1.สถานีชุมทางทุ่งสง 2.สถานีบางกล่ำ ความเร็วในการให้บริการ 100-120 กิโลเมตรต่อชั่วโมง 5.ช่วงเด่นชัย-เชียงใหม่ ระยะทาง 189 กิโลเมตร (กม.) วงเงิน 5.68 หมื่นล้านบาท โดยมีรูปแบบระดับโครงสร้างพื้นดิน ทางยกระดับรถไฟ และอุโมงค์ ทั้งหมด 17 สถานี ย่านกองเก็บและขนถ่ายสินค้า 2 แห่งได้แก่ 1.สถานีห้างฉัตร 2.สถานีสารภี ความเร็วในการให้บริการ 80-120 กิโลเมตรต่อชั่วโมง
6.ช่วงชุมทางถนนจิระ-อุบลราชธานี ระยะทาง 308 กิโลเมตร (กม.) วงเงิน 3.75 หมื่นล้านบาท โดยมีรูปแบบระดับโครงสร้างพื้นดินและทางยกระดับ ทั้งหมด 35 สถานี ย่านกองเก็บและขนถ่ายสินค้า 4 แห่ง ได้แก่ 1.ที่หยุดรถบ้านตะโก 2.สถานีบุฤาษี 3.สถานีหนองแวง 4.สถานีบุ่งหวาย ความเร็วในการให้บริการ 100-120 กิโลเมตรต่อชั่วโมง
และ 7. ช่วงชุมทางหาดใหญ่-ปาดังเบซาร์ ระยะทาง 45 กิโลเมตร (กม.) วงเงิน 6.66 พันล้านบาท โดยมีรูปแบบระดับโครงสร้างพื้นดินและทางยกระดับ ทั้งหมด 3 สถานี ย่านกองเก็บและขนถ่ายสินค้า 1 แห่ง คือ สถานีปาดังเบซาร์ ความเร็วในการให้บริการ 100-120 กิโลเมตรต่อชั่วโมง