“เอสซีจี”ผนึก 315 องค์กร ดันแผน ESG สู่ที่ประชุม COP อียิปต์

21 ก.ค. 2565 | 11:46 น.
อัปเดตล่าสุด :21 ก.ค. 2565 | 19:06 น.

เอสซีจีรวมพลัง 315 พันธมิตร ผนึกพลังความร่วมมือด้าน ESG ลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจก เร่งดันแผนจัดตั้งกลุ่มความร่วมมือพัฒนานวัตกรรม Net Zero และขยายเครือข่ายความร่วมมือสร้างสังคมคาร์บอนต่ำภาคเอกชน 60 องค์กร สู่ที่ประชุม COP 27 พ.ย.นี้ที่อียิปต์

 

นายรุ่งโรจน์ รังสิโยภาส กรรมการผู้จัดการใหญ่ เอสซีจี เปิดเผยในงาน ESG Symposium 2022 :Achieving ESG and Growing Sustainability เปิดเผยว่าว่า เอสซีจีได้ยกระดับ SD Symposium ที่จัดต่อเนื่องเป็นปีที่ 11 สู่  ESG Symposium เพื่อขยายพลังความร่วมมือตามแนวทาง ESG ซึ่งเป็นทางรอดเดียวที่จะช่วยแก้วิกฤตซ้ำซ้อนที่กำลังเผชิญอยู่ มีผู้เข้าร่วมกว่า 315 องค์กร

 

ที่ผ่านมาได้ผลักดันความร่วมมือจากระดับโลกเชื่อมโยงสู่ระดับประเทศเพื่อสร้างการเปลี่ยนแปลงและแก้ไขวิกฤตที่เกิดผลเป็นรูปธรรม เช่น ความร่วมมือสร้าง Roadmap ในการลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกสุทธิเป็นศูนย์ของอุตสาหกรรมซีเมนต์และคอนกรีตในประเทศไทย กับสมาคมซีเมนต์และคอนกรีตโลก (Global Cement and Concrete Association – GCCA) เพื่อขับเคลื่อนอุตสาหกรรมปูนซีเมนต์ของไทยให้ดำเนินนโยบายบรรลุเป้าหมายลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกเป็นศูนย์ในปี 2050 ให้เป็นทิศทางเดียวกับระดับโลก พร้อมเตรียมนำแผนงานดังกล่าวเสนอต่อที่ประชุมรัฐภาคีกรอบอนุสัญญาสหประชาชาติว่าด้วยการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศสมัยที่ 27 หรือ COP 27 ในเดือนพฤศจิกายนนี้ที่ประเทศอียิปต์

 

รุ่งโรจน์  รังสิโยภาส

 

นอกจากนี้ ยังมีความร่วมมือแก้ปัญหาขยะพลาสติกในมหาสมุทรอย่างยั่งยืนกับ Alliance to End Plastic Waste- AEPW ซึ่งเป็นองค์กรไม่แสวงหาผลกำไรระดับโลกที่เกิดจากความร่วมมือของกลุ่มบริษัทที่ทำงานร่วมกันในห่วงโซ่ของอุตสาหกรรมพลาสติก ตั้งแต่ผู้ผลิต ผู้จำหน่าย ผู้บริโภค จนถึงผู้ที่จัดการพลาสติกหลังจากใช้แล้ว เป็นต้น

 

การจัดงาน ESG Symposium 2022 ในครั้งนี้ มีเป้าหมายเพื่อเร่งขยายพลังความร่วมมือให้มากขึ้นและทันต่อวิกฤตโลก ทั้งในบริบทของสิ่งแวดล้อม (Environmental)  สังคมเหลื่อมล้ำ (Social)  โดยยึดถือความโปร่งใส (Governance) เป็นพื้นฐานสำคัญในทุกการดำเนินงาน

 

“เอสซีจี”ผนึก 315 องค์กร ดันแผน ESG สู่ที่ประชุม COP อียิปต์

 

นายธรรมศักดิ์ เศรษฐอุดม รองกรรมการผู้จัดการใหญ่ ในฐานะประธานคณะกรรมการร่วมการพัฒนาอย่างยั่งยืน เอสซีจี กล่าวว่า จากการระดมสมองของทุกภาคส่วนในงาน ESG Symposium 2022  ได้ข้อสรุป  2 แนวทาง ที่นำไปสู่การขยายผล และการลงมือปฏิบัติได้จริง  เพื่อผลักดันให้ประเทศไทยบรรลุการปล่อยก๊าซเรือนกระจกสุทธิเป็นศูนย์ (Net-Zero GHG Emissions) ภายในปี 2065 ได้แก่

 

1.จัดตั้งกลุ่มความร่วมมือเร่งสร้างนวัตกรรมเพื่อ Net Zero ผ่านรูปแบบของ Industrial and Academic Consortium ครั้งแรกในไทย ที่ระดมความร่วมมือจากภาครัฐ เอกชนจากระดับโลกและระดับประเทศ โดยมีนักวิชาการ ผู้บริหารระดับสูงจากหลากหลายส่วน ทั้งพลังงาน ขนส่ง ไฟฟ้า ปิโตรเคมี ก่อสร้าง อุปโภคบริโภค สถาบันเทคโนโลยีแมสซาชูเซตส์ (MIT-Massachusetts Institute of Technology)  สมาคมคอนกรีตโลก (GCCA- Global Cement and Concrete Association)  สภาอุตสาหกรรม กระทรวงพลังงาน  สำนักงานนโยบายและแผนทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม โดยมีสำนักงานสภานโยบายการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรมแห่งชาติ  (สอวช.) เป็นผู้ขับเคลื่อน

 

ความร่วมมือนี้ มีเป้าหมายเพื่อเร่งทำโรดแมปการสร้างนวัตกรรมที่ช่วยลดการปล่อยคาร์บอนที่ดีที่สุดมาใช้ในประเทศไทย เช่น เทคโนโลยีการดักจับ การใช้ประโยชน์ และการกักเก็บคาร์บอน (CCUS - Carbon Capture, Utilization and Storage)  การเปลี่ยนชนิดเชื้อเพลิงจากฟอสซิลเป็นพลังงานทางเลือก (Fuel Switching)  พลังงานไฟฟ้า (Electrification) และระบบพลังงานที่ใช้ไฮโดรเจนเป็นเชื้อเพลิง (Hydrogen Economy) คาดว่าจะมีความชัดเจนปลายปีนี้

 

“เอสซีจี”ผนึก 315 องค์กร ดันแผน ESG สู่ที่ประชุม COP อียิปต์

 

2.การผนึกกำลังขยายเครือข่ายความร่วมมือสร้างสังคมคาร์บอนต่ำของภาคเอกชน 60 องค์กร ผ่านความร่วมมือที่จะเกิดขึ้นในอนาคต ครอบคลุมมิติด้านพลังงานทางเลือก เศรษฐกิจหมุนเวียน (Circular Economy) ที่ส่งเสริมการใช้ทรัพยากรให้คุ้มค่า รวมถึงการสนับสนุนให้เกิดการบริโภคอย่างยั่งยืน

 

จากการระดมสมองของภาคเอกชนในครั้งนี้ ได้นำไปสู่ความร่วมมือกับภาครัฐเดินหน้า 10 แนวทางการสร้างสังคมคาร์บอนต่ำ อาทิ โครงสร้างพื้นฐานที่เอื้อต่อการใช้พลังงานสะอาดและพลังงานหมุนเวียน สนับสนุนด้านเงินทุน สินเชื่อดอกเบี้ยต่ำ สำหรับพลังงานสะอาด  การจัดระบบการจัดเก็บขยะที่มีประสิทธิภาพ การส่งเสริมวินัยการคัดแยกขยะตั้งแต่ครัวเรือน รวมถึงสนับสนุนองค์ความรู้ เทคโนโลยีการพัฒนาสินค้าที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม