นายนที ขลิบทอง ประธานคณะอนุกรรมการบริหารจัดการปุ๋ยของการยางแห่งประเทศไทย (กยท.) เผยกับ “ฐานเศรษฐกิจ” ว่าทางที่ประชุมได้มีมติที่จะนำเสนอเข้าบอร์ด เพื่อทบทวน ในวันที่ 27 ก.ค.นี้ โดยพิจารณาแล้วมีความคิดเห็นไทม์ไลน์เกรงว่าจะไม่ทันเวลาและความต้องการของเกษตรกร ได้พิจารณาในภาพรวม จึงส่งให้บอร์ด กยท.ที่มี นายกุลเดช พัวพัฒนกุล ประธานบอร์ด นั่งเป็นประธานในที่ประชุม จะเสนอโดยวิธีการจ่ายเงินเข้าบัญชีให้เกษตรกรซื้อปุ๋ยเอง
"สิ่งที่ควรจะทำควบคู่ไปด้วย เกษตรกรควรจะเร่งพิจารณาในการใช้ปุ๋ยอินทรีย์ ร่วมกับ กยท. ให้ชัดเจนมากขึ้น เพราะปุ๋ยอินทรีย์จะเป็นทางออกของปัญหาในเรื่องโรคใบร่วงยางพารา เรื่องปุ๋ยเคมีราคาแพง ก็มองว่าตัวปุ๋ยอินทรีย์จะเป็นตัวช่วย เป็นทางออก จึงอยากให้ กยท. ร่วมกับเกษตรกรหรือสถาบัน ในเรื่องการส่งเสริมการใช้ปุ๋ยอินทรีย์ให้เป็นรูปธรรมเร็วยิ่งขึ้น"
อนึ่ง กรณี เมื่อวันที่ 1 มิถุนายน 2565 นายณกรณ์ ตรรกวิรพัท ผู้ว่าการการยางแห่งประเทศไทย (กยท.) แถลงผ่านสื่อมวลชนว่า สถานการณ์ปัจจุบันปุ๋ยเคมีขาดแคลนอย่างหนักและราคาปรับตัวสูงขึ้นอย่างต่อเนื่อง ส่งผลกระทบต่ออาชีพสายเกษตรกรรมทุกภาคส่วนไม่เฉพาะแต่พืชยางพาราเท่านั้น และอาจกระทบต่อปริมาณผลผลิตยางของเกษตรกร
“ทาง กยท. ได้มีมาตรการเร่งด่วนเพื่อแก้ปัญหาในเรื่องดังกล่าว โดยการปรับลดสัดส่วนการใช้ปุ๋ยเคมีและเพิ่มปริมาณการใช้ปุ๋ยอินทรี และจัดหาปุ๋ยให้กับเกษตรกรโดยตรงแทนการจ่ายเงินให้เกษตรกรไปซื้อปุ๋ยที่มีราคาสูงในขณะนี้ ซึ่งเป็นการช่วยเหลือพี่น้องเกษตรกรในการลดต้นทุนการปลูกยางควบคู่กับการช่วยลดปัญหาการค้าปุ๋ยปลอมที่เกิดขึ้นได้ “
ผู้ว่าการ กล่าวเพิ่มเติมว่า กยท. เร่งจัดหาปุ๋ยให้แก่เกษตรกรชาวสวนยางที่ได้รับการสนับสนุนปลูกแทนในปีนี้และยืนยันว่าทันต่อฤดูกาลใส่ปุ๋ยในรอบฤดูปลูก (พ.ค. – ส.ค.) อย่างแน่นอน ทั้งนี้ กยท. ไม่นิ่งนอนใจและเชื่อมั่นว่าสามารถจัดสรรปุ๋ยให้เกษตรกรชาวสวนยางได้ โดยไม่กระทบต่อผลผลิตยาง