ค้าน กยท. แปลงร่างเป็นเสือนอนกินตัวใหม่ เก็บค่าต๋ง 10 สตางค์

14 ก.ค. 2565 | 13:57 น.
อัปเดตล่าสุด :15 ก.ค. 2565 | 14:36 น.

“อุทัย” เดือด 7 ปี กยท. ผิดหวัง ไม่สามารถตั้งไข่ บริษัทบริหารยางพาราครบวงจรสำเร็จ ซ้ำร้ายยังแปลงร่างเป็นเสือนอนกิน เก็บค่าต๋ง 10 สตางค์ จาก 2 โครงการ “เก็บพ่อค้าตลาดกลาง-เก็บชาวสวนเข้าร่วมโครงการชะลอขายยาง” ซ้ำเติมทุกข์ช่วงข้าวยากหมากแพง

ค้าน กยท. แปลงร่างเป็นเสือนอนกินตัวใหม่ เก็บค่าต๋ง 10 สตางค์

 

นายอุทัย สอนหลักทรัพย์ นายกสมาคมสหพันธ์ชาวสวนยางแห่งประเทศไทย และผู้ทรงคุณวุฒิในคณะกรรมการนโยบายยางธรรมชาติ (กนย.) เผยกับ “ฐานเศรษฐกิจ” ว่าเป็นผู้หนึ่งในร่าง พ.ร.บ. การยางแห่งประเทศไทยฯ ผมผิดหวัง เพราะผมต้องการให้ กยท. พึ่งพาตนเอง โดยตั้งบริษัทขึ้นมาเพื่อจะทำกำไร ระบุไว้ในมาตรา 10 อนุ 6  ให้ตั้งบริษัทจำกัด หรือบริษัทมหาขน เพื่อประกอบธุรกิจเกี่ยวกับยางพารา

 

“แต่  7 ปีที่จะตรงในวันพรุ่งนี้ (15 ก.ค.65) ยังไม่เห็นจะเลยว่าจะมีการดำเนินการด้วยวิธีไหน เพียงแต่จ้างผู้บริหารบริหารบียู แล้วก็ล้มเหลว  ดังนั้นในอนาคต กยท.จะต้องพึ่งตนเอง เพราะเกษตรกร ถ้าเป็นบริษัทก็เหมือนมีลูกค้าอยู่ กว่า 7 ล้านคน ได้เปรียบกับรายอื่นอยู่แล้ว ในการขายวัสดุเกษตร หรือขายปุ๋ย แต่กลับไม่ได้ทำอะไรเลย น่าผิดหวังจริงๆ”

 

นายอุทัย กล่าวว่า ล่าสุด ได้มีการประชุมคณะกรรมการเครือข่ายสถาบันเกษตรกรชาวสวนยางกยท ระดับประเทศ เมื่อวันที่ 11ก.ค. ที่ผ่านมา กยท. จะมีเรื่องการเก็บค่าบริการตลาดยางพาราทั่วประเทศ แต่เนื่องจากปัจจุบันราคายางตกต่ำลง แต่ทางกยท.ใด้จัดเก็บค่าบริการจากผู้ซื้อยางจากตลาดกลาง 5 สตางค์/กิโลกรัม และจากเกษตรกรที่เข้าโครงการชะลอการขายยาง อีก 5สตางค์/กิโลกรัม รวมเป็น 10 สตางค์/กิโลกรัม ซึ่งเงินนี้สรุปแล้วก็หักจากเกษตรกรทั้งหมด

 

 

เรื่องดังกล่าวทางบอร์ดใด้ตั้งคณะทำงานเข้าพิจารณาที่ประชุมมัความเห็นว่าการเก็บเงินดังกล่าวเป็นการเก็บเงินที่ซ้ำซ้อนกับการเก็บ เซสส์ (cess) จากการส่งออก2บาท/กิโลกรัม เพราะโดยวัตถุประสงค์ในการจัดตั้งตลาดกลาง สมัย โฆษิต ปั้นเปี่ยมรัตน์ รัฐมนตรี ว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ในขณะนั้น ใด้มีนโยบายไว้ให้ตลาดกลางยางเป็นการบริการเกษตรกรโดยตรงในการซื้อขายยาง

 

ดังนั้น กยท ก็ควรที่จะทำตามนโยบายที่วางไว้เพราะประเทศไทยเก็บเงินจากเกษตรกรสูงที่สุดในโลกอยู่แล้วมีแต่มาเลเซียเท่านั้นที่เก็บ เซสส์ (cess) 1.40 บาทต่อกิโลกรัม นอกนั้นไม่มีใครเก็บ cess เลย ดังนั้นที่ประชุมจึงมีมติให้คณะทำงานไปทบทวนให้ดีอีกครั้ง

 

นายอุทัย กล่าวว่า ในที่ประชุมได้ตั้งข้อสังเกตุว่าในกรณีที่ทาง กยท. จะจัดหาปุ๋ยให้เกษตรกรชาวสวนยางควรกำหนดคุณสมบัติของปุ๋ยให้ชัดเจนและควรที่จะประกาศเปิดเผยให้มีการแข่งขันประมูลเพื่อความยุติธรรมของทุกฝ่ายเพราะควรให้เกษตรกรได้รับประโยชน์สูงสุด แต่ กยท. กลับกลัวไม่ทันฤดูกาลจึงใช้วิธีคัดเลือกแทนซึ่งในมุมมองของสังคมเงิน 800 ล้านเศษเป็นเงินที่มากและเป็นเงิน cess ของเกษตรกรตามมาตรา 49(2)

 

ดังนั้นกรรมการเครือข่ายฯจึงตั้งข้อสังเกตุเพื่อความโปร่งใสอย่าได้เอารัดเอาเปรียบเกษตรกรและในการจัดซื้อในครั้งนี้หมิ่นเหม่ต่อผู้ใต้บังคับบัญชาระดับล่างมากเพราะกรรมการตรวจรับจะต้องระมัดระวังให้มากถ้าเกิดปัญหาสูตรปุ๋ยไม่ตรงตามสัญญาและเกษตรกรได้รับปุ๋ยไม่เต็มสูตร(เพราะปุ๋ยขาดตลาดและแพง)

 

“เกษตรกรนำตัวอย่างไปเข้าแล็ปเพื่อตรวจสอบถ้าไม่เป็นไปตามสูตรก็จะเกิดการฟ้องร้องขึ้นมาอย่างแน่นอน แล้วกรรมก็จะตกอยู่เจ้าหน้าที่ตรวจรับเพราะเรื่องทุจริตปุ๋ยเคยมีการร้องเรียนในการทุจริตกันมาแล้วที่จังหวัดพัทลุงซึ่งเจ้าหน้าที่ต้องถูกออกจากงานถึง 6 คน ซึ่งเป็นตัวอย่างมาแล้วขอเตือนไว้ก่อน"