26 กรกฎาคม 2565 นางสาวไตรศุลี ไตรสรณกุล รองโฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี กล่าวว่า ที่ประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) เห็นชอบหลักการการปรับอัตราเงินอุดหนุนค่าใช้จ่ายรายหัวสำหรับผู้เรียนการศึกษาขั้นพื้นฐานในลักษณะงบประมาณผูกพันต่อเนื่อง 4 ปี ตั้งแต่ปี 2566-2569 ครอบคลุมการจัดการศึกษาตั้งแต่ระดับก่อนประถมศึกษา ประถมศึกษา มัธยมศึกษาตอนต้นมัธยมศึกษาตอนปลาย และระดับประกาศนียบัตรวิชาชีพ (ปวช.) ของสถานศึกษารัฐและเอกชน การจัดการศึกษาโดยครอบครัวและสถานประกอบการ ซึ่งกรอบวงเงินงบประมาณในแต่ละปีมีรายละเอียดดังนี้
รองโฆษกรัฐบาล ระบุว่า ที่ผ่านมารัฐบาลได้จัดสรรงบประมาณในลักษณะของเงินอุดหนุนตามจำนวนผู้เรียนผ่านสถานศึกษาเพื่อสนับสนุนค่าใช้จ่ายในการจัดการศึกษาขั้นพื้นฐาน 15 ปี สำหรับค่าใช้จ่ายพื้นฐาน 5 รายการหลัก ได้แก่ ค่าจัดการเรียนการสอน , ค่าหนังสือเรียน , ค่าอุปกรณ์การเรียน, ค่าเครื่องแบบนักเรียน และค่ากิจกรรมพัฒนาคุณภาพผู้เรียน
อย่างไรก็ดี จากผลการสำรวจและวิเคราะห์ข้อมูลค่าใช้จ่ายสำหรับการศึกษาขั้นพื้นฐาน พบว่า อัตราเงินอุดหนุนปัจจุบันต่ำกว่าค่าใช้จ่ายจริงและไม่สอดคล้องกับความต้องการของผู้เรียนและสถานศึกษาซึ่งเป็นอัตราที่ไม่ได้มีการปรับมามากกว่า 10 ปี โดยปรับครั้งสุดท้ายในปีการศึกษา 2553 ยกเว้นค่าหนังสือเรียนที่มีการปรับเพิ่มอย่างต่อเนื่อง
ในขณะที่ราคาสินค้าบริการและค่าครองชีพปรับเพิ่มสูงขึ้นทุกปีตามสภาพเศรษฐกิจสังคม ส่งผลให้สถานศึกษาจำเป็นต้องระดมเงินสนับสนุนจากแหล่งอื่น เช่น เงินค่าบำรุงการศึกษา เงินบริจาคเงินรายได้สถานศึกษาโดยผู้เรียนและผู้ปกครองต้องรับภาระค่าใช้จ่ายด้านการศึกษาที่เพิ่มขึ้น
สำหรับการปรับอัตราเงินอุดหนุนในครั้งนี้ เป็นการปรับอัตราให้สอดคล้องกับสภาพทางเศรษฐกิจและสังคมที่เปลี่ยนแปลงไปซึ่งจะช่วยแบ่งเบาภาระค่าใช้จ่ายให้กับผู้เรียน ผู้ปกครอง และสถานศึกษาสามารถพัฒนาคุณภาพการศึกษาให้ได้มาตรฐานมากยิ่งขึ้น ผู้เรียนทุกคนเข้าถึงการศึกษาได้อย่างเสมอภาคและเท่าเทียมกัน ลดอุปสรรคสำคัญในการตัดสินใจเข้าศึกษาต่อของผู้เรียนโดยเฉพาะผู้เรียนยากจน
ทั้งนี้ ในการปรับปรุงอัตราเงินอุดหนุน กระทรวงศึกษาธิการได้ใช้ข้อมูลจำนวนนักเรียนและข้อมูลนักเรียนยากจน ณ ปี 2564 ซึ่งมีนักเรียนยากจนคิดเป็น ร้อยละ 18 ของนักเรียนทั้งหมด ในการนำมาประเมินแนวโน้มใน 4 ปีข้างหน้า พร้อมกับพิจารณาถึงอัตราการเปลี่ยนแปลงของจำนวนผู้เรียนการศึกษาในระบบและนอกระบบ ซึ่งในส่วนของการศึกษาในระบบปี 2560-2563 มีจำนวนผู้เรียนลดลงร้อยละ 0.8 ขณะที่การศึกษานอกระบบ ปี 2561-2565 ผู้เรียนลดลงประมาณร้อยละ 8.7 ต่อปี