รายงานข่าวแจ้งว่า ที่ประชุม คณะกรรมการกำกับกิจการพลังงาน (กกพ.) มีมติวานนี้ (27 ก.ค.) ปรับค่าไฟฟ้าผันแปร(เอฟที) ขึ้น 68.66 สตางค์ต่อหน่วย มาอยู่ที่ 93.43 สตางค์ต่อหน่วย ส่งผลให้ ค่าไฟฟ้า เฉลี่ยที่เรียกเก็บกับประชาชนในงวดเดือนก.ย.-ธ.ค.2565 ขึ้นมาอยู่ที่ 4.72 บาทต่อหน่วย จากงวดปัจจุบันเดือนพ.ค.-ส.ค.อยู่ที่ ประมาณ 3.79 บาทต่อหน่วย นับเป็นอัตราค่าไฟฟ้าสูงสุดเป็นประวัติการณ์อีกครั้ง หลังจาก กกพ.ได้มีการเปิดประชาพิจารณ์ไปแล้ว 3 แนวทางสิ้นสุดวันที่ 25 ก.ค.ที่ผ่านมา
ทั้งนี้ แนวทางการปรับอัตราค่าเอฟทีงวดเดือนก.ย.-ธ.ค.2565 เบื้องต้นจะปรับเพิ่มขึ้นไม่ต่ำกว่า 68.66 สตางค์ต่อหน่วย เนื่องจากเป็นต้นทุนที่แท้จริงตามราคาเชื้อเพลิงผลิตไฟฟ้าที่ปรับสูงขึ้น และเมื่อรวมกับค่าเอฟทีงวดปัจจุบันที่เก็บอยู่ 24.77 สตางค์ต่อหน่วย จะส่งผลให้ค่าเอฟทีรวมในงวดเดือนก.ย.-ธ.ค.2565 จะอยู่ที่ 93.43 สตางค์ต่อหน่วย ซึ่งบวกกับค่าไฟฟ้าฐานประมาณ 3.79 บาทต่อหน่วย จะส่งผลให้ค่าไฟฟ้าโดยรวมที่ประชาชนต้องจ่ายอยู่ที่ 4.72 บาทต่อหน่วย เพิ่มขึ้นจากงวดเดือนพ.ค.-ส.ค.2565 ที่ประชาชนจ่ายอยู่ประมาณ 4 บาทต่อหน่วย
สำหรับแนวทางนี้จะยังไม่ชำระหนี้คืนให้การไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย (กฟผ.) คาดว่าสิ้นเดือนส.ค.2565 จะขึ้นมาอยู่ที่ 109,672 ล้านบาท จากเดิมถึงสิ้นเม.ย.2565 กฟผ.มีภาระหนี้ที่แบกรับค่าไฟแทนประชาชน 83,010 ล้านบาท ซึ่งทางกฟผ.ได้ทำหนังสือมายังกกพ. เพื่อเสนอความเห็นด้วยกับแนวทางนี้ โดยมองว่าเพื่อลดผลกระทบผู้ใช้ไฟฟ้า ทางกฟผ.จะแบกรับแทนผู้ใช้ไฟฟ้าไปก่อน 109,672 ล้านบาท และจะนำไปบริหารจัดการเรียกเก็บภายในปี 2566 ต่อไป ซึ่งรายละเอียดทั้งหมดจะมีการแถลงอย่างเป็นทางการในวันที่ 1 ส.ค.2565
รายงานข่าวระบุว่า ที่ผ่านมา สำนักงานกกพ. ได้เปิดรับฟังความเห็นประกอบด้วย 3 แนวทาง ได้แก่
แนวทางที่ 1 ค่าเอฟที อยู่ที่ 93.43 สตางค์ต่อหน่วย รวมกับจำนวนเงินที่ทยอยคืน กฟผ. ที่อัตรา 45.70 สตางค์ต่อหน่วย ทำให้ค่าเอฟที รวมเป็น 139.13 สตางค์ต่อหน่วย และส่งผลให้ราคาค่าไฟฟ้าโดยรวมที่ประชาชนต้องจ่ายอยู่ที่ 5.17 บาทต่อหน่วย กรณีนี้จะส่งผลให้คืนเงิน กฟผ. ได้ส่วนหนึ่ง และยังเหลือที่ต้องส่งคืนอีก 56,581 ล้านบาท โดยจะคืนเงิน กฟผ. ครบ 83,010 ล้านบาทภายใน 1 ปี
แนวทางที่ 2 ค่าเอฟที อยู่ที่ 93.43 สตางค์ต่อหน่วย รวมกับเงินที่ทยอยคืน กฟผ. ที่อัตราน้อยลงที่ 22.85 สตางค์ต่อหน่วย ทำให้ค่าเอฟที รวมเป็น 116.28 สตางค์ต่อหน่วย ส่งผลให้ราคาค่าไฟฟ้าโดยรวมที่ประชาชนต้องจ่ายอยู่ที่ 4.95 บาทต่อหน่วย กรณีนี้จะส่งผลให้คืนเงิน กฟผ. ได้ช้าลง โดยกฟผ.จะได้รับเงินคืนครบภายใน 2 ปี
และสุดท้าย แนวทางที่ 3 เป็นแนวทางที่ผู้ใช้ไฟ ได้รับผลกระทบน้อยที่สุด คือ ค่าเอฟที อยู่ที่ 93.43 สตางค์ต่อหน่วย โดยยังไม่คืนหนี้กฟผ. 83,010 ล้านบาท ทำให้ราคาค่าไฟฟ้าโดยรวมที่ประชาชนต้องจ่ายอยู่ที่ 4.72 บาทต่อหน่วย