นายคมกฤช ตันตระวาณิชย์ เลขาธิการสำนักงานคณะกรรมการกำกับกิจการพลังงาน (สำนักงาน กกพ.) ในฐานะโฆษกคณะกรรมการกำกับกิจการพลังงาน (กกพ.) เปิดเผยว่า ช่วงวันที่ 30 มิถุนายน-6 กรกฎาคม 2565 ที่ผ่านมา คณะกรรมการกำกับกิจการพลังงาน (กกพ.) ได้เปิดรับฟังความคิดเห็นหลักการสำคัญของร่างระเบียบคณะกรรมการกำกับกิจการพลังงานว่าด้วยการจัดหาไฟฟ้าจากพลังงานหมุนเวียนในรูปแบบ FiT ปี 2565-2573 สำหรับกลุ่มไม่มีต้นทุนเชื้อเพลิง พ.ศ. ... เพื่อใช้เป็นหลักเกณฑ์การรับซื้อไฟฟ้าจากพลังงานหมุนเวียนตามมติคณะกรรมการนโยบายพลังงานแห่งชาติ (กพช.) เมื่อวันที่ 6 พฤษภาคม 2565 ที่ผ่านมา
ทั้งนี้ ร่างดังกล่าวจะเปิดรับซื้อไฟฟ้ารับซื้อไฟฟ้าจากพลังงานหมุนเวียน จากเชื้อเพลิงก๊าซชีวภาพ (น้ำเสีย/ของเสีย) พลังงานลม และพลังงานแสงอาทิตย์แบบติดตั้งบนพื้นดิน ปริมาณพลังไฟฟ้าเสนอขายสูงสุดไม่เกิน 90 โครงการต่อโครงการจากผู้ผลิตไฟฟ้ารายเล็ก (SPP) หรือผู้ผลิตไฟฟ้าขนาดเล็กมาก (VSPP) ในรูปแบบสัญญาซื้อขายไฟฟ้าที่ไม่บังคับให้การไฟฟ้าฝ่ายจำหน่ายรับซื้อหรือไม่บังคับปริมาณซื้อขายไฟฟ้าหรือ Non-Firm และจากพลังงานแสงอาทิตย์แบบติดตั้งบนพื้นดินร่วมกับระบบกักเก็บพลังงาน (Solar+BESS) จากผู้ผลิตรายเล็ก ในรูปแบบสัญญาซื้อขายไฟฟ้าที่กำหนดรูปแบบการผลิตและรับซื้อไฟฟ้าหรือ Partial-Firm ปริมาณพลังไฟฟ้าเสนอขายสูงสุด มากกว่า 10 เมกะวัตต์ และไม่เกิน 90 เมกะวัตต์ต่อโครงการ อายุสัญญา 20 - 25 ปี รวมกำลังผลิตทั้งหมด 5,203 เมกะวัตต์
มีการกำหนดปริมาณรับซื้อและวันจ่ายไฟฟ้าเข้าระบบเชิงพาณิชย์ (SCOD) ตามแผนการเพิ่มการผลิตไฟฟ้าจากพลังงานสะอาด ภายใต้แผน PDP2018 Rev.1 ในช่วงปี พ.ศ. 2564 - 2573 (ปรับปรุงเพิ่มเติม) โดยในปี 2567 จะรับซื้อไฟฟ้าจากพลังงานแสงอาทิตย์แบบติดตั้งบนพื้นดินร่วมกับระบบกักเก็บพลังงาน (Solar+BESS) ที่มีกำลังผลิตตามสัญญาตั้งแต่ 10 เมกะวัตต์ขึ้นไปแต่ไม่เกิน 90 เมกะวัตต์ จะรับซื้อปริมาณ 100 เมกะวัตต์ ในอัตรา 2.8331 บาทต่อหน่วย ระยะเวลาสัญญา 25 ปี และจะทยอยรับซื้อเพิ่มขึ้นปีละ 100 เมกะวัตต์ระหว่างปี 2568-2570 และรับซื้อเพิ่มขึ้นปีละ 200 เมกะวัตต์ ระหว่างปี 2571-2573 รวมปริมาณรับซื้อ 1,000 เมกะวัตต์
ส่วนการรับซื้อไฟฟ้าจากพลังงานแสงอาทิตย์แบบติดตั้งบนพื้นดิน กำลังผลิตตามสัญญาทุกขนาด จะเริ่มในปี 2567 ปริมาณ 190 เมกะวัตต์ ในอัตรา 2.1679 บาทต่อหน่วย ระยะเวลา 25 ปี และจะทยอยรับซื้อไฟฟ้าเพิ่มขึ้นทุกปีจนครบ 2,368 เมกะวัตต์ ในปี 2573
ขณะที่การรับซื้อไฟฟ้าจากพลังงานลม กำลังผลิตตามสัญญาทุกขนาด จะเริ่มตั้งแต่ปี 2568 เป็นต้นไป โดยในแต่ละปีจะทยอยรับซื้อในปริมาณ 250 เมกะวัตต์ จนถึงปี 2573 รวมกำลังผลิต 1,500 เมกะวัตต์ อัตราค่าไฟฟ้า 3.1014 บาทต่อหน่วย ระยะเวลา 25 ปี ส่วนการรับซื้อไฟฟ้าจากก๊าซชีวภาพจากน้ำเสีย/ของเสีย กำลังผลิตตามสัญญาทุกขนาด จะเริ่มรับซื้อในปี 2569 เป็นต้นไป ปริมาณ 75 เมกะวัตต์ และจะทยอยรับซื้อเพิ่มขึ้นอีกปีละ 70-40 เมกะวัตต์ จนครบกำลังผลิต 335 เมกะวัตต์ ในปี 2573 ในอัตราค่าไฟฟ้า 2.0724 บาทต่อหน่วย ระยะเวลา 20 ปี
ส่วนโครงการต่าง ๆ ที่อยู่ในพื้นที่จังหวัดชายแดนภาคใต้ ได้แก่ จังหวัดยะลา ปัตตานี นราธิวาส และ 4 อำเภอในจังหวัดสงขลา (อำเภอจะนะ อำเภอเทพา อำเภอสะบ้าย้อย และอำเภอนาทวี) จะได้รับอัตรา FiT Premium 0.5 บาทต่อหน่วย ตลอดอายุโครงการ
นายคมกฤช กล่าวอีกว่า การรับซื้อไฟฟ้าจากพลังงานแสงอาทิตย์แบบติดตั้งบนพื้นดินร่วมกับระบบกักเก็บพลังงาน (Solar+BESS) จากผู้ผลิตรายเล็ก ในรูปแบบสัญญา Partial-Firm นั้น จะมีการกำหนดรูปแบบการรับซื้อไฟฟ้าไว้ โดยช่วงเวลา 9.00-16.00 น. จะต้องผลิตไฟฟ้าส่งจ่ายเข้าระบบและการไฟฟ้ารับซื้อในปริมาณ 100% ของปริมาณไฟฟ้าเสนอขายตามสัญญาซื้อขายไฟฟ้า ช่วงเวลา 18.01-06.00 น. มีความพร้อมส่งจ่ายไฟฟ้าเข้าระบบในปริมาณพลังงานเท่ากับ 60% ของปริมาณไฟฟ้าเสนอขายตามสัญญาซื้อขายไฟฟ้า เป็นเวลา 2 ชั่วโมง
โดยที่การไฟฟ้ารับซื้อทั้งหมดและสามารถสั่งจ่ายกำลังไฟฟ้าสูงสุดได้ไม่เกิน 60% ของปริมาณไฟฟ้าเสนอขายตามสัญญาซื้อขายไฟฟ้า และช่วงเวลา 06.01-09.00 น. และ 16.01-18.00 น. ผลิตไฟฟ้าสั่งจ่ายเข้าระบบและการไฟฟ้ารับซื้อในปริมาณไม่เกิน 100% ของปริมาณไฟฟ้าเสนอขายตามสัญญาซื้อขายไฟฟ้า
ทั้งนี้ หลังจากการเปิดรับฟังความคิดเห็นแล้ว ทาง กกพ.จะรวบรวมความคิดเห็นเพื่อจัดทำหลักเกณฑ์การรับซื้อไฟฟ้าดังกล่าวต่อไป ซึ่งอาจจะมีบางประเด็นที่จะต้องแก้ไขเพิ่มเติม และบางเรื่องอาจจะต้องขอมติ กพช.เพิ่มเติม ที่อาจจะต้องใช้เวลาบ้าง แต่ก็มีเป้าหมายที่จะออกประกาศรับซื้อไฟฟ้าได้ภายในสิ้นปี 2565 นี้
นักวิเคราะห์ให้ความเห็นว่า หากประกาศหลักเกณฑ์รับซื้อไฟฟ้าออกมาแล้ว เชื่อว่านักลงทุนจะให้ความสนใจยื่นข้อเสนอขายไฟฟ้าเป็นจำนวนมาก ซึ่งจะก่อให้เกิดเม็ดเงินลงทุนราว 2 แสนล้านบาท (ยังไม่รวมค่าที่ดิน)โดยประเมินจากเม็ดเงินลงทุนของ Solar+BESS อยู่ที่ 46 ล้านบาทต่อเมกะวัตต์ โซลาร์ฟาร์ม 24 ล้านบาทต่อเมกะวัตต์ พลังงานลม 50-60 ล้านบาทต่อเมกะวัตต์ และก๊าซชีวภาพ 55-60 ล้านบาทต่อเมกะวัตต์