ผู้สื่อข่าวรายงานความคืบหน้า โครงการจัดตั้งท่าเรือบก (Dry Port) จังหวัดนครราชสีมา ว่า เมื่อสุดสัปดาห์ที่ผ่านมา นายเกรียงไกร ไชยศิริวงศ์สุข ผู้อำนวยการการท่าเรือแห่งประเทศไทย (กทท.) นำคณะผู้บริหาร กทท. เปิดประชุมร่วมกับนายภูมิสิทธิ์ วังคีรี รองผู้ว่าราชการจังหวัดนครราชสีมา พร้อมด้วยคณะกรรมการดำเนินงานเพื่อพัฒนาท่าเรือบกจังหวัดนครราชสีมา และหน่วยงานที่เกี่ยวข้องในพื้นที่ ที่ห้องประชุมระเวียง 1 มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคลอีสาน (มทร.อีสาน) ศูนย์การศึกษาหนองระเวียง อ.เมือง จ.นครราชสีมา
ในการประชุม หัวหน้าส่วนราชการที่เกี่ยวข้อง และผู้แทนภาคเอกชนในจังหวัดนครราชสีมา ร่วมนำเสนอพื้นที่ในการจัดตั้งท่าเรือบกเป็นข้อมูลเปรียบเทียบด้านต่างๆ เพื่อเป็นแนวทางในการนำเสนอจัดตั้งท่าเรือบกที่จังหวัดนครราชสีมา ต่อคณะกรรมการ กทท.ต่อไป
จากนั้นคณะผู้บริหาร จาก กทท. และหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ได้ลงพื้นที่ที่เสนอในการพัฒนาท่าเรือบก (Dry Port) ทั้ง 3 จุด คือ ที่ตำบลหนองไข่นํ้า อำเภอเมืองนครราชสีมา ตำบลกุดจิก อำเภอสูงเนิน และ ตำบลสีคิ้ว อ.สีคิ้ว (บ้านทับม้า) จ.นครราชสีมา
ทั้งนี้ คณะรัฐมนตรีมีมติเมื่อต้นปี 2561 ก่อนเกิดการระบาดโควิด-19 อนุมัติให้มีท่าเรือบกที่จังหวัดนครราชสีมา ซึ่งกำหนดไว้ที่ตำบลกุดจิก อ. สูงเนิน ซึ่งเป็น 1 ใน 4 จังหวัด เป้าหมายศึกษาการจัดตั้งท่าเรือบก คือ บริเวณพื้นที่ตอนในของประเทศ ที่มีศักยภาพในการเป็นศูนย์โลจิสติกส์ ทำหน้าที่เสมือนท่าเรือ (ยกเว้นการขนถ่ายสินค้าขึ้น-ลงเรือ) เพื่อรองรับการขนส่งสินค้าระหว่างประเทศในระบบตู้สินค้า และมีการเชื่อมโยงระบบการขนส่งตั้งแต่ 2 รูปแบบขึ้นไป โดยมีการขนส่งทางรางเป็นหลัก ซึ่งจะเชื่อมต่อกับโครงการรถไฟ ทางคู่ ที่รัฐบาลกำลังเร่งจัดสร้างทั่วประเทศ ไปลงท่าเรือต่อไป
นายสมชาย เหมทอง ผู้ช่วยผู้อำนวยการ กทท. สายบริหารสินทรัพย์และพัฒนาธุรกิจ เปิดเผยว่า ครม.อนุมัติให้มีท่าเรือบก ในโคราช ซึ่งเดิมทีศึกษาไว้ที่กุดจิก แต่ปัจจุบันด้วยสภาวะแวดล้อมที่เปลี่ยนไป วันนี้จึงลงพื้นที่มาดูข้อมูลอีกครั้ง จากนี้จะต้องปรึกษากันว่าที่ใดเหมาะสมที่สุด ถ้ามีการปรับปรุงหรือเปลี่ยนแปลงพื้นที่ ต้องเสนอเรื่องให้ ครม.เห็นชอบใหม่
“ท่าเรือบกโคราชเราทำแน่ ให้ความเชื่อมั่นได้เลยว่าที่โคราชต้องมี ส่วนจังหวัดอื่นก็ไม่ได้ทิ้ง ซึ่งในแต่ละพื้นที่สินค้าจะต่างกัน ความสำคัญก็ต่างกันไป แต่ใครจะเป็นศูนย์กลางนั้น ขึ้นอยู่กับการบริหารจัดการในอนาคต ซึ่งขึ้นอยู่กับที่จะหาผู้ มาร่วมลงทุนกับการท่าเรือใน รูปแบบ PPP”
นายสมชาย กล่าวต่อว่า สำหรับงบประมาณ เดิมที สนข.พิจารณาไว้ที่ประมาณ 7-8 พันล้านบาท แต่ถ้าศึกษาใหม่อาจจะเพิ่มขึ้น เพราะศึกษาไว้ 3-4 ปี แล้ว ใช้ประมาณการจากค่าเงินขณะนั้น แต่สุดท้ายอาจลดลงก็ได้ เพราะสนข.ศึกษาจากตัวแบบพื้นที่ 2,000 ไร่ แต่ที่จริงใช้แค่ 1,000 ไร่ก็เพียงพอ ขึ้นอยู่กับการออกแบบให้มีครบทุกอย่าง
“ด้วยข้อเท็จจริงในปัจจุบันที่เปลี่ยนไป โคราชเสนอว่ามีอีก 2 แห่ง คือ ตำบลหนองไข่นํ้า และทับม้าที่มีศักยภาพเช่นกัน จากการลงพื้นที่ทุกที่น่าสนใจ แต่ในเบื้องต้นมีแนวโน้มว่าที่หนองไข่นํ้าน่าจะเป็นศูนย์กลางในอนาคตได้ แต่ทั้งนี้ต้องให้บุคคลที่ 3 มาศึกษาข้อมูลการทำ PPP ใช้เวลา 6 เดือน ทั้งรูปแบบการลงทุน งบประมานเท่าไร รูปแบบเชิงธุรกิจ ปริมานของสินค้า เพื่อเปรียบเทียบทางเลือกไว้ตัดสินใจกันอีกครั้ง โดยร่วมกับ กทท. และท้องถิ่น”
นายสมชาย กล่าวด้วยว่า ตามคาดการณ์สนข.ท่าเรือบกโคราชจะก่อสร้างเสร็จในปี 2568 แต่ตอนนี้ล่าช้าไปแล้ว ต้องเลื่อนเป็น 2569 หรือ 2570 แต่ถ้าชัดเจนเรื่องพื้นที่ได้เร็ว และหน่วยงานช่วยกันผลักดัน ก็อาจเสร็จทันปี 2569 เพราะมีกระบวนการที่เตรียมพร้อมไว้เรียบร้อยแล้ว
สำหรับโครงการจัดตั้งท่าเรือบก โคราช หรือ Dry Port Korat คณะกรรมการนโยบายการพัฒนาเขตเศรษฐกิจพิเศษ เพื่อกระจายความเจริญสู่ภาค ได้กำหนดพื้นที่และกิจการที่จะได้รับสิทธิประโยชน์เพื่อส่งเสริมการลงทุนในพื้นที่ระเบียงเศรษฐกิจพิเศษ โดยจังหวัดนครราชสีมาได้รับเลือกเป็น 1 ใน 4 จังหวัด ที่มีศักยภาพ เพื่อการพัฒนาเป็นฐานอุตสาหกรรมชีวภาพแห่งใหม่ที่เชื่อมโยงการเกษตรและอุตสาหกรรมชีวภาพด้วยเทคโน โลยีสมัยใหม่ เช่น สินค้าและบริการด้านอุตสาหกรรมอาหาร รวมถึงโปรตีนจากแมลง
ทางจังหวัดนครราชสีมา จึงได้เลือกพื้นที่ 3 จุด คือ 1. บริเวณสถานีรถไฟบ้านกระโดน ต.หนองไข่นํ้า อ.เมืองนครราชสีมา 2. บริเวณติดถนนสาย 290 สายวงแหวนเลี่ยงเมืองนครราชสีมา ต.กุดจิก อ.สูงเนิน 3. บริเวณสถานีทับม้า ต.สีคิ้ว อ.สีคิ้ว จ.นครราชสีมา โดยให้ทางการท่าเรือแห่งประเทศไทย พิจารณาพื้นที่ดังกล่าวทั้ง 3 จุด
ขณะที่มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคล (มทร.) อีสาน ได้เปิดสถาบันเครือข่ายโลจิสติกส์และการขนส่ง (Institute of Collaborative Logistics and Transportation) ขึ้น เมื่อ 28 ก.พ. 2565 โดย มทร.อีสาน ได้รับมอบหมายให้เป็นประธานดำเนินงานเครือข่ายด้าน Dry Port ร่วมกับมหาวิทยาลัยเทคโนโลยีสุรนารี (มทส.) และมหาวิทยาลัยราชภัฏ (มรภ.) นครราชสีมา เพื่อขับเคลื่อนร่วมกับหน่วยงานรัฐ-เอกชน พร้อมทั้งสนับสนุนข้อมูลเชิงวิชาการ และสร้างความเข้าใจภาค ประชาชน
ฉัตรสุรางค์ กองภา/รายงาน
หน้า 10 หนังสือพิมพ์ฐานเศรษฐกิจ ปีที่ 42 ฉบับที่ 3,804 วันที่ 28-30 กรกฎาคม.พ.ศ. 2565