นายวิทสุวัฒน์ อำคาเพท กรรมการผู้จัดการ บริษัท แบงคอก เมโทร เน็ทเวิร์คส์ จำกัด หรือ BMN บริษัทลูกของบริษัท ทางด่วนและรถไฟฟ้ากรุงเทพ จำกัด(มหาชน) หรือ BEM เปิดเผยว่า บริษัทฯ มีแผนดำเนินโครงการปรับปรุง Metro Mall หรือพื้นที่ร้านค้าภายในสถานีรถไฟฟ้า MRT ให้มีร้านค้าที่จำหน่ายอาหาร เครื่องดื่ม สินค้า และการบริการประเภทต่างๆ ตอบสนองความต้องการของผู้โดยสารมากขึ้น ซึ่งปัจจุบัน Metro Mall เปิดให้บริการใน 8 สถานี ได้แก่ สถานีคลองเตย, สถานีสุขุมวิท, สถานีเพชรบุรี, สถานีพระราม 9, สถานีศูนย์วัฒนธรรมแห่งประเทศไทย, สถานีพหลโยธิน, สถานีจตุจักร และสถานีกำแพงเพชร โดยขณะนี้ร้านค้าต่างๆ ประมาณ 90% เริ่มกลับมาเปิดให้บริการตามปกติแล้ว หลังจากก่อนหน้านี้ต้องปิดให้บริการชั่วคราวในช่วงเกิดการแพร่ระบาดของโรคโควิด-19
ขณะเดียวกัน ในปี 66 บริษัทฯ มีแผนจะเปิด Metro Mall เพิ่มขึ้นอย่างเต็มรูปแบบภายในสถานีศูนย์ประชุมแห่งชาติสิริกิติ์ และสถานีลาดพร้าว พื้นที่สถานีละประมาณ 1 พันตารางเมตร (ตร.ม.) โดยขณะนี้อยู่ระหว่างการศึกษาออกแบบ ซึ่งทั้ง 2 สถานีนี้ปัจจุบันมีเปิดให้บริการร้านค้าเป็นบางส่วนบ้างแล้ว อาทิ สถานีลาดพร้าวมีกูร์เมต์ มาร์เก็ต ซึ่งเป็นซูเปอร์มาร์เก็ตภายในสถานีรถไฟฟ้า MRT แห่งแรกของไทย เป็นต้น ทั้งนี้คาดว่าเมื่อเปิดให้บริการแล้วจะได้รับการตอบรับที่ดีจากผู้โดยสาร ซึ่งการดำเนินการดังกล่าวนอกจากจะบริหารจัดการพื้นที่ให้เกิดประโยชน์สูงสุดแล้ว ยังช่วยอำนวยความสะดวกให้กับผู้ที่เดินทางด้วยรถไฟฟ้า MRT ในการหาซื้อของกินของใช้ภายในสถานีได้
นอกจากนี้บริษัทฯ ยังอยู่ระหว่างการพัฒนา Metro Art ที่สถานีพหลโยธิน ให้เป็นศูนย์การเรียนรู้ด้านศิลปะแขนงต่างๆ ร่วมกับศิลปินระดับมาสเตอร์ของประเทศไทย ถือเป็นครั้งแรกของไทยที่มีการจัดแสดงผลงานศิลปะในสถานีรถไฟฟ้า โดยจะมีประกวดวาดภาพ และมีกิจกรรมเชิงศิลปะตลอดทั้งปีให้กลายเป็นแลนด์มาร์คใหม่ใจกลางกรุงเทพฯ ขณะเดียวกันบริษัทฯ จะปรับปรุง Rest Area จุดพักรถบนทางพิเศษ(ด่วน) ศรีรัช(แจ้งวัฒนะ - ปากเกร็ด) หลังด่านประชาชื่นขาออก และจุดพักรถขนาดเล็ก บริเวณด่านประชาชื่นขาเข้า ด่านศรีนครินทร์ และด่านบางปะอิน ซึ่งจะขยายพื้นที่ให้บริการ เพิ่มเติมร้านค้า และปรับปรุงห้องน้ำให้สะอาด และสวยงามมากขึ้น รวมทั้งยังเตรียมทำจุดพักรถที่ด่านฉิมพลีด้วย
อย่างไรก็ตามในปี 65 คาดว่าบริษัทฯ จะมีรายได้เติบโตมากกว่าปี 64 แต่คงไม่ได้เติบโตแบบก้าวกระโดด เพราะบริษัทฯ ยังคงดำเนินมาตรการช่วยเหลือเยียวยาร้านค้าต่างๆ อยู่ ซึ่งตั้งแต่เกิดโควิด-19 ได้ลดอัตราค่าเช่าให้คู่ค้า 50% มากว่า 2 ปีแล้ว โดยบางร้านก็ขอปิดเพื่อไม่จ่ายค่าเช่า อย่างไรก็ตามบริษัทฯ ไม่ได้มองเรื่องรายได้อย่างเดียว แต่มองด้วยว่าทำอย่างไรจะให้ร้านค้าต่างๆ อยู่ได้ และสามารถมอบความสุขในการเดินทางให้แก่ผู้โดยสารด้วย ดังนั้นจึงยังคงลดค่าเช่าให้แก่ร้านค้าไปจนกว่าปริมาณผู้โดยสารรถไฟฟ้า MRT จะเท่ากับปริมาณผู้โดยสารในปี 62 ก่อนเกิดโควิด-19 โดยขณะนี้ปริมาณผู้โดยสารรถไฟฟ้า MRT เริ่มกลับมาแล้วเฉลี่ยอยู่ที่ 3.2 แสนคนต่อวัน คิดเป็นประมาณ 80% ของผู้โดยสารปี 62