“บีเอ็มเอ็น” เล็งขยายพื้นที่สื่อสู่ทางด่วน พร้อมเตรียมประมูลรถไฟฟ้าสายสีนํ้าเงินส่วนต่อขยายเพิ่ม พื้นที่สื่อและพื้นที่ค้าปลีก เผยส่วนค้าปลีกเมโทรมอลล์ ทยอยปรับลุคสนองไลฟ์สไตล์คนเมือง นำร้านแบรนด์เนมตอบโจทย์ คาดภายใน 3 ปี รายได้แตะ 1,000 ล้าน
นายณัฐวุฒิ ตรีวิศวเวทย์ กรรมการผู้จัดการ บริษัท แบงคอกเมโทรเน็ทเวิร์คส์ จำกัด หรือบีเอ็มเอ็น ผู้บริหารพื้นที่ค้าปลีกและพื้นที่โฆษณารถไฟฟ้าใต้ดินเอ็มอาร์ทีเปิดเผย “ฐานเศรษฐกิจ” ว่า จากที่ผ่านมาบีเอ็มเอ็นเติบโตอย่างต่อเนื่อง ด้วยการตอบรับของการเดินทางในกรุงเทพฯ ที่คนหันมาใช้บริการรถไฟฟ้าใต้ดินมากขึ้น ทำให้สื่อในรถไฟฟ้าใต้ดินได้รับการตอบรับจากลูกค้า บริษัท จึงมีการปรับปรุงรูปแบบร้านค้าให้ตอบสนองไลฟ์สไตล์คนเมืองมากขึ้นเพิ่มสื่อนวัตกรรมที่น่าสนใจมากขึ้น ด้วยงบลงทุนกว่า 100 ล้านบาท ตลอด 2 ปีที่ผ่านมา ทำให้ยอดรายได้เติบโตเพิ่มขึ้น 50% โดยปีที่ผ่านมามีรายได้รวมกว่า 500 ล้านบาท
[caption id="attachment_219303" align="aligncenter" width="335"]
ณัฐวุฒิ ตรีวิศวเวทย์ กรรมการผู้จัดการ บริษัท แบงคอกเมโทรเน็ทเวิร์คส์ จำกัด หรือบีเอ็มเอ็น[/caption]
สำหรับแผนในอีก 3-5 ปีหลังจากนี้ จะขยายพื้นที่สื่อและร้านค้าปลีกเมโทรมอลล์พร้อมนำร้านค้าแบรนด์เนมซึ่งเป็นที่รู้จักเข้ามาเปิดบริการให้มากอาทิ ลอว์สัน 108 และ กูร์เมต์ มาร์เก็ต ที่เพิ่งเปิดให้บริการที่สถานีลาดพร้าว และยังมีแบรนด์อื่น ไม่ว่าจะเป็นร้านกาแฟสตาร์บัคส์, คาเฟ่ อเมซอน,ฮั่วเซ่ง ฮง,ติ่มซำและอื่นๆ ที่จะทยอยมาเปิดเพิ่มมากขึ้นเรื่อยๆ
“เรามีการลงทุนตบแต่งดีไซน์ ทำระบบสาธารณูปโภคขั้นพื้นฐานทั้งระบบไฟ ระบบนํ้า แอร์ ห้องนํ้า ที่อำนวยความสะดวกแก่ผู้เดินทาง ตอบโจทย์ไลฟ์สไตล์คนเมืองให้มากขึ้น เบื้องต้นเรามีพื้นที่ค้าปลีกอยู่ 11 สถานี เปิดไปแล้ว7สถานีได้แก่สุขุมวิท พระราม9จตุจักรพหลโยธิน กำแพงเพชรคลองเตย ศูนย์วัฒน-ธรรมฯและกำลังจะเปิด สตาร์บัคส์ ที่สถานีเพชรบุรี เดือนพฤศจิกายน ส่วนกูร์เมต์ มาร์เก็ต ที่สถานีลาดพร้าวเปิดวันที่ 19 กันยายน จะเหลือสถานีศูนย์ฯสิริกิติ์ กับรัชดาฯ ที่รอความพร้อม เราจะเปิดพื้นที่ค้าปลีกให้ครบ 11 สถานี”
แบรนด์ร้านค้าต่างๆ ที่เป็นพาร์ตเนอร์ จะทยอยเพิ่มขึ้นเรื่อยๆ โดยจะปรับพื้นที่ค้าปลีกทุกสถานีในรูปแบบgrab and go เป็นสไตล์ร้านอาหาร ร้านกาแฟ ร้านสะดวกซื้อ รวมทั้งร้านสินค้าแฟชั่นอื่นๆ ที่ไลฟ์สไตล์คนเมืองต้องการ รวมทั้งห้องนํ้าสะอาดในทุกสถานี
ส่วนแผนการขยายพื้นที่สื่อบีเอ็มเอ็นเตรียมจะประมูลสัมปทานสถานีรถไฟฟ้าสายสี
นํ้าเงินส่วนต่อขยายที่วิ่งจากหัวลำโพงไปบางแค ซึ่งเส้นทางนี้จะทำให้มีกลุ่มคนเข้ามาใช้บริการรถไฟฟ้ามากขึ้น ทำให้มูลค่าสื่อของบีเอ็มเอ็นเพิ่มมากขึ้นอีก และในปี 2563 เส้นทางรถไฟฟ้าใต้ดินจะวิ่งครบลูปเป็นวงกลมจาก เตาปูนไป ท่าพระ จรัญสนิทวงศ์ ตรงนั้นจะทำให้มีคนเข้ามาใช้บริการเพิ่มขึ้นไปอีก ทำให้อายบอลล์ของผู้มองเห็นสื่อของบีเอ็มเอ็นเพิ่มขึ้นจากคาดการณ์ของการรถไฟฟ้าขนส่งมวลชนแห่งประเทศไทยหรือรฟม.จะมีจำนวนผู้ใช้บริการมากถึง 8 แสนคนต่อวัน
นายณัฐวุฒิ กล่าวว่า นวัตกรรมสื่อที่นำเข้ามาให้บริการจะเพิ่มขึ้นด้วยเช่นกัน เพราะนั่นคือหนึ่งในวิธีการเพิ่มมูลค่า และเพิ่มประสิทธิภาพของสื่อรถไฟฟ้าใต้ดินให้เข้าถึงผู้ใช้บริการรถไฟฟ้าอย่างแม่นยำ โดยบริษัทมีแผนที่จะลงทุนในสื่อใหม่ๆ สำหรับสถานีที่เพิ่มขึ้นอีกไม่ตํ่ากว่า 200-300 ล้านบาท
ส่วนพื้นที่ใหม่ๆ บีเอ็มเอ็นยังสนใจที่จะลงทุนสื่อบนเส้นทางด่วน เนื่องจากบริษัท ทางด่วนและรถไฟฟ้ากรุงเทพจำกัด (มหาชน)หรือบีอีเอ็มเป็นผู้ดำเนินโครงการก่อสร้างทางด่วนอยู่แล้วและบีเอ็มเอ็น ก็มองเห็นโอกาสทางการตลาดในการพัฒนาพื้นที่เชิงพาณิชย์บนทางด่วน ไม่ว่าจะเป็นป้ายโฆษณาและร้านค้าต่างๆขณะนี้ได้มีการศึกษาแผนการลงทุนไปบ้างแล้ว และคาดว่าถ้าได้รับการอนุมัติจะเริ่มดำเนินการได้ประมาณต้นปี 2561 ด้วยงบอีก 200-300 ล้านบาท
จากการขยายตัวและแผนการลงทุนใหม่ๆคาดว่าจะทำให้บีเอ็มเอ็นมีรายได้ในปี2560 เพิ่มขึ้น20%หรือมีรายได้รวมประมาณ600 ล้านบาท จากการบริหาร3ธุรกิจได้แก่สื่อพื้นที่ และเน็ตเวิร์กซึ่งบีเอ็มเอ็นให้เครือข่ายมือถือเช่าอุปกรณ์ในการส่งสัญญาณและคาดว่าภายใน3ปี จะมีรายได้แตะ1,000 ล้านบาท
จากหนังสือพิมพ์ฐานเศรษฐกิจ ปีที่ 37 ฉบับที่ 3,305 วันที่ 15 - 18 ตุลาคม พ.ศ. 2560