ดร.สามารถ ราชพลสิทธิ์ รองหัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์โพสต์เฟซบุ๊ก เมื่อวันที่ 30 ก.ค. ว่าถึงแม้ว่าศาลปกครองกลางได้พิพากษาเพิกถอนการยกเลิกการประมูลก่อสร้างรถไฟฟ้าสายสีส้มตะวันตกและเดินรถไฟฟ้าสายสีส้มตลอดทั้งสาย
ครั้งที่ 1 เพราะไม่ชอบด้วยกฎหมาย นั่นหมายความว่าการประมูลครั้งที่ 1 ยังคงมีอยู่ แต่ รฟม. ก็เดินหน้าสู้ด้วยการอุทธรณ์ต่อศาลปกครองสูงสุด พร้อมกับดำเนินการประมูลครั้งที่ 2 ต่อไป ไม่รอคำพิพากษาของศาลปกครองสูงสุด นับว่า รฟม. กล้าเสี่ยงมาก !
1. บริษัทซื้อซองประมูล 14 ราย
มีบริษัทซื้อเอกสารสำหรับคัดเลือกเอกชนจำนวน 14 ราย แต่มีบริษัทยื่นเอกสารฯ เข้าประมูลแค่ 2 ราย เท่านั้น ซึ่งเป็นไปตามที่ผมได้เคยโพสต์ไว้ในเฟซบุ๊กหลายครั้งว่าการประมูลหาเอกชนมาร่วมลงทุนก่อสร้างรถไฟฟ้าสายสีส้มตะวันตก (บางขุนนนท์-ศูนย์วัฒนธรรมฯ) และเดินรถตลอดสายทั้งช่วงตะวันตกและตะวันออก (บางขุนนนท์-ศูนย์วัฒนธรรมฯ-มีนบุรี)
ครั้งที่ 2 จะมีผู้เข้าร่วมประมูลน้อย ปรากฏว่าเป็นเช่นนั้นจริงๆ เพราะมีแค่ 2 ราย เท่านั้น และทั้ง 2 รายนั้นก็มีชื่อตรงกับที่ผมเคยโพสต์ไว้
2. ทำไมมีบริษัทเข้าประมูลน้อย ?
โครงการนี้มีทั้งการก่อสร้างและให้บริการเดินรถไฟฟ้า ดังนั้น ผู้ยื่นประมูลจะต้องประกอบด้วยบริษัทเดินรถไฟฟ้าและบริษัทรับเหมา
ทั้งนี้ ในการประมูลครั้งที่ 2 บริษัทเดินรถไฟฟ้าต่างประเทศสามารถเข้าร่วมประมูลได้ ทำให้มีบริษัทเดินรถไฟฟ้าจากเกาหลีใต้คือ Incheon Transit Corporation ซื้อเอกสารฯ ด้วย ต่างจากครั้งที่ 1 ซึ่งเข้าไม่ได้
เป็นที่น่าสังเกตว่าการประมูลครั้งที่ 2 บริษัทรับเหมาเข้าร่วมประมูลได้ยากกว่าครั้งที่ 1 เนื่องจากมีการปรับแก้คุณสมบัติ ทำให้เข้าประมูลได้ยากขึ้น ส่งผลให้ในโลกนี้มีบริษัทรับเหมาที่มีคุณสมบัติครบแค่ 2 บริษัทเท่านั้น ได้แก่ บริษัท ช. การช่าง จำกัด (มหาชน) หรือ CK และบริษัท อิตาเลียนไทย ดีเวล๊อปเมนต์ จำกัด (มหาชน) หรือ ITD ส่วนบริษัทรับเหมาอื่นจะต้องรวมตัวกันเพื่อทำให้มีคุณสมบัติครบ
ซึ่งไม่ง่าย เพราะ รฟม. กำหนดไว้ว่า “โดยผู้รับเหมาต้องเป็นนิติบุคคลไทยรายเดียว หรือกลุ่มนิติบุคคลที่มีนิติบุคคลไทยถือหุ้นรวมกันแล้วไม่น้อยกว่า 51%” ทำให้ผู้รับเหมาต่างชาติบางรายไม่สามารถร่วมยื่นข้อเสนอได้ ต่างจากการประมูลครั้งที่ 1 ซึ่งเปิดกว้างคุณสมบัติของบริษัทรับเหมามากกว่า
ด้วยเหตุนี้ จึงมีผู้เข้าประมูลแค่ 2 ราย เท่านั้น ซึ่งทั้ง 2 รายนี้มีชื่อตรงกับที่ผมเคยโพสต์ไว้ก่อนแล้ว ดังนี้
(1) บริษัท ทางด่วนและรถไฟฟ้ากรุงเทพ จำกัด (มหาชน) หรือ BEM ร่วมกับ บริษัท ช.การช่าง จำกัด (มหาชน) หรือ CK และ
(2) บริษัท อิตาเลียนไทย ดีเวล๊อปเมนต์ จำกัด (มหาชน) หรือ ITD ร่วมกับ Incheon Transit Corporation จากเกาหลีใต้
3. เหตุใด BTS “ผู้เดินรถไฟฟ้ารายแรกของไทย” จึงไม่เข้าประมูล ?
ผมเคยโพสต์ไว้แล้วว่าบริษัท ระบบขนส่งมวลชนกรุงเทพ จำกัด (มหาชน) หรือ BTS “ผู้เดินรถไฟฟ้ารายแรกของไทย” คงหาบริษัทรับเหมามาร่วมประมูลได้ยาก เนื่องจากบริษัท ซิโน–ไทย เอ็นจีเนียริ่ง แอนด์ คอนสตรัคชั่น จำกัด (มหาชน) หรือ STEC ซึ่งเคยมีคุณสมบัติครบและได้ร่วมประมูลกับบีทีเอสในการประมูลครั้งที่ 1 แต่กลับมีคุณสมบัติไม่ครบในการประมูลครั้งที่ 2 เพราะมีการปรับแก้คุณสมบัติของบริษัทรับเหมาให้เข้าร่วมประมูลได้ยากขึ้น
BTS จะเชิญชวนให้ ITD ซึ่งเป็นบริษัทรับเหมาที่มีคุณสมบัติครบมาร่วมประมูลก็ไม่ได้ เพราะ ITD ได้ร่วมกับบริษัทเดินรถไฟฟ้าจากเกาหลีใต้คือ Incheon Transit Corporation แล้ว
ด้วยเหตุนี้ จึงน่าคิดว่าหากในการประมูลครั้งที่ 2 นี้ ไม่เปิดโอกาสให้บริษัทเดินรถไฟฟ้าจากต่างประเทศสามารถเข้าร่วมประมูลได้ด้วย ก็จะมีบริษัทเดินรถไฟฟ้าเพียง 2 ราย ได้แก่ BEM และ BTS เท่านั้น เมื่อ BEM ยื่นประมูลร่วมกับ CK ก็จะเหลือบริษัทเดินรถไฟฟ้าเพียงรายเดียวคือ BTS ถามว่า ITD จะยินดีเข้าร่วมประมูลกับ BTS หรือไม่ ? ถ้าไม่ ก็จะเหลือบริษัทยื่นประมูลแค่รายเดียว คือ BEM + CK แล้ว รฟม. จะทำอย่างไร ?
4. รฟม. จะดันต่อได้แค่ไหน ?
หาก รฟม. สามารถดำเนินการประมูลจนได้เอกชนที่มาร่วมลงทุน มีการลงนามในสัญญาเสร็จเรียบร้อยก่อนที่ศาลปกครองสูงสุดจะมีคำพิพากษาลงมา และหากต่อมาศาลปกครองสูงสุดมีคำพิพากษายืนตามศาลปกครองกลาง
นั่นคือ เพิกถอนการยกเลิกการประมูลครั้งที่ 1 ทำให้การประมูลครั้งที่ 1 ยังคงมีอยู่ แล้วการประมูลครั้งที่ 2 จะชอบด้วยกฎหมายหรือไม่ ? หากไม่ชอบ รฟม. จะต้องกลับมาดำเนินการประมูลครั้งที่ 1 ให้จบกระบวนการหรือไม่ ? ประเด็นนี้จะต้องติดตาม !
“การไม่รอฟังผลคำพิพากษาของศาลปกครองสูงสุดโดยปราศจากมูลเหตุที่จะอ้างได้ตามกฎหมายนั้น ย่อมเป็นการเพิ่มความเสี่ยงที่จะนำมาสู่ความผิดพลาดที่อาจเกิดขึ้นได้ เพราะไม่มีใครจะทราบได้ว่าคำพิพากษาของศาลปกครองสูงสุดจะพิพากษาว่าอย่างไร แล้วเหตุใดจึงต้องรีบเร่งจัดประมูลในครั้งที่ 2 โดยไม่รอฟังคำพิพากษาของศาลปกครองสูงสุดเสียก่อน ประเด็นสำคัญข้อนี้ ประชาชนที่ติดตามเรื่องนี้อยู่ต่างตั้งข้อสงสัยและข้อกังขา ต้องการฟังคำชี้แจงจากผู้มีส่วนเกี่ยวข้องให้สิ้นสงสัย”
5. ความเสียหายที่เกิดขึ้น ใครจะรับผิดชอบ ?
ถึงเวลานี้ การเปิดให้บริการรถไฟฟ้าสายสีส้มล่าช้าไปจากกำหนดการเดิมประมาณ 2 ปีแล้ว สำนักงานสภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ หรือ สภาพัฒน์ ได้ประเมินค่าเสียโอกาสทางด้านเศรษฐกิจจากการประหยัดเวลาการเดินทาง การประหยัดค่าใช้จ่ายในการใช้ยานพาหนะ และการลดมลพิษ คิดเป็นมูลค่าประมาณ 4.6 หมื่นล้านบาท/ปี ถึงเวลานี้ โครงการนี้ล่าช้าไปแล้ว 2 ปี ทำให้เกิดความสูญเสียทางด้านเศรษฐกิจไปแล้วประมาณ 9.2 หมื่นล้านบาท
ถามว่า ความสูญเสียอันใหญ่หลวงนี้ ใครจะรับผิดชอบ ?
หมายเหตุ : ข้อสงสัยดังกล่าวข้างต้นจึงเป็นข้อกังขาที่ผมและประชาชนทุกคนชอบที่จะต้องขอคำชี้แจงให้สิ้นสงสัยจากหน่วยงานที่รับผิดชอบโดยตรง ทั้งนี้ก็เพื่อปกป้องผลประโยชน์ของประเทศชาติและประชาชน ด้วยเจตนาที่จะให้ประชาชนได้รับประโยชน์จากโครงการนี้อย่างเต็มที่ โดยปราศจากข้อสงสัยใดๆ ทั้งสิ้นเท่านั้นเอง