ค่าไฟขึ้นเป็น 4.72 บาทต่อหน่วยงวด ก.ย.-ธ.ค. เพราะอะไร คำนวณยังไง อ่านเลย

30 ก.ค. 2565 | 02:17 น.
อัปเดตล่าสุด :30 ก.ค. 2565 | 09:17 น.

ค่าไฟขึ้นเป็น 4.72 บาทต่อหน่วยงวด ก.ย.-ธ.ค. เพราะอะไร คำนวณยังไง อ่านเลยที่นี่มีคำตอบ หลัง กกพ. เตรียมประกาศค่าเอฟทีงวดสุดท้ายของปี 65

ค่าไฟขึ้นเป็น 4.72 บาทต่อหน่วย งวดเดือน ก.ย.-ธ.ค. เพราะอะไร เป้นคำถามที่กำลังได้รับความสนใจจากประชาชน

 

หลังจากที่มีกระแสข่าวหลุดออกมาก่อนที่คณะกรรมการกำกับกิจการพลังงาน (กกพ.) จะประกาศอัตราค่าไฟฟ้าผันแปร หรือค่าเอฟที (FT) งวดสุดท้ายของปีนี้

 

"ฐานเศรษฐกิจ" จะพาไปไขคำตอบ ให้คลายสงสัยเกี่ยวกับประเด็นเรื่องค่าไฟดังกล่าว

 

เมื่อวันพุธที่ 27 ก.ค. 65 ได้มีการประชุมคณะกรรมการ(บอร์ด) กำกับกิจการพลังงาน(กกพ.) เพื่อพิจารณาค่าเอฟทีรอบสุดท้ายของงวดเดือน ก.ย.-ธ.ค. 65 

 

ทั้งนี้ มีการรายข่าวว่า ที่ประชุมมีมติให้ปรับค่าไฟฟ้างวด ก.ย.-ธ.ค. เป็น 4.72 บาทต่อหน่วย จากงวดปัจจุบันเดือนพ.ค.-ส.ค.อยู่ที่ ประมาณ 3.79 บาทต่อหน่วย ซึ่งเป็นอัตราค่าไฟฟ้าสูงสุดเป็นประวัติการณ์อีกครั้ง 

สำหรับการปรับขึ้นค่าไฟเป็น 4.72 บาทต่อหน่วยนั้น  มาจากการปรับขึ้นค่าเอฟที 68.66 สตางค์ต่อหน่วย มาอยู่ที่ 93.43 สตางค์ต่อหน่วย โดย กกพ.ให้เหตุผลว่าเป็นต้นทุนที่แท้จริงตามราคาเชื้อเพลิงผลิตไฟฟ้าที่ปรับสูงขึ้น และเมื่อรวมกับค่าเอฟทีงวดปัจจุบันที่เก็บอยู่ 24.77 สตางค์ต่อหน่วย 

 

จะส่งผลให้ค่าเอฟทีรวมในงวดเดือนก.ย.-ธ.ค.2565 จะอยู่ที่ 93.43 สตางค์ต่อหน่วย ซึ่งบวกกับค่าไฟฟ้าฐานประมาณ 3.79 บาทต่อหน่วย จะส่งผลให้ค่าไฟฟ้าโดยรวมที่ประชาชนต้องจ่ายอยู่ที่ 4.72 บาทต่อหน่วยดังกล่าว 

 

ค่าไฟขึ้นเป็น 4.72 บาทต่อหน่วยงวด ก.ย.-ธ.ค. เพราะอะไร

 

อย่างไรก็ดี แนวทางดังกล่าวนี้จะยังไม่ชำระหนี้คืนให้การไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย (กฟผ.) ซึ่งคาดว่าสิ้นเดือน ส.ค.2565 จะขึ้นมาอยู่ที่ 109,672 ล้านบาท จากเดิมถึงสิ้นเม.ย.2565 โดย กฟผ.มีภาระหนี้ที่แบกรับค่าไฟแทนประชาชน 83,010 ล้านบาท 

 

ซึ่งทาง กฟผ.ได้ทำหนังสือมายัง กกพ. เพื่อเสนอความเห็นด้วยกับแนวทางนี้ โดยมองว่าเพื่อลดผลกระทบผู้ใช้ไฟฟ้า ทาง กฟผ.จะแบกรับแทนผู้ใช้ไฟฟ้าไปก่อน 109,672 ล้านบาท และจะนำไปบริหารจัดการเรียกเก็บภายในปี 2566 ต่อไป 
 

ที่ผ่านมาสำนักงานกกพ. ได้เปิดรับฟังความเห็นประกอบด้วย 3 แนวทาง ประกอบด้วย 

 

  • ค่าเอฟที อยู่ที่ 93.43 สตางค์ต่อหน่วย รวมกับจำนวนเงินที่ทยอยคืน กฟผ. ที่อัตรา 45.70 สตางค์ต่อหน่วย ทำให้ค่าเอฟที รวมเป็น 139.13 สตางค์ต่อหน่วย และส่งผลให้ราคาค่าไฟฟ้าโดยรวมที่ประชาชนต้องจ่ายอยู่ที่ 5.17 บาทต่อหน่วย กรณีนี้จะส่งผลให้คืนเงิน กฟผ. ได้ส่วนหนึ่ง และยังเหลือที่ต้องส่งคืนอีก 56,581 ล้านบาท โดยจะคืนเงิน กฟผ. ครบ 83,010 ล้านบาทภายใน 1 ปี

 

  • ค่าเอฟที อยู่ที่ 93.43 สตางค์ต่อหน่วย รวมกับเงินที่ทยอยคืน กฟผ. ที่อัตราน้อยลงที่ 22.85 สตางค์ต่อหน่วย ทำให้ค่าเอฟที รวมเป็น 116.28 สตางค์ต่อหน่วย ส่งผลให้ราคาค่าไฟฟ้าโดยรวมที่ประชาชนต้องจ่ายอยู่ที่ 4.95 บาทต่อหน่วย กรณีนี้จะส่งผลให้คืนเงิน กฟผ. ได้ช้าลง โดยกฟผ.จะได้รับเงินคืนครบภายใน 2 ปี

 

  • เป็นแนวทางที่ผู้ใช้ไฟ ได้รับผลกระทบน้อยที่สุด คือ ค่าเอฟที อยู่ที่ 93.43 สตางค์ต่อหน่วย โดยยังไม่คืนหนี้กฟผ. 83,010 ล้านบาท ทำให้ราคาค่าไฟฟ้าโดยรวมที่ประชาชนต้องจ่ายอยู่ที่ 4.72 บาทต่อหน่วย

 

อย่างไรก็ตาม การประกาศค่าเอฟทีงวดเดือน ก.ย.-ธ.ค. ได้ถูกเลื่อนออกไปอย่างไม่มีกำหนด  จากเดิมที่จะประกาศวันที่ 1 ส.ค. ที่จะถึงนี้