“พิสิฐ ลี้อาธรรม” ชี้ไทยกินบุญเก่า ต้องเร่งแก้วิกฤต หวั่นตามรอยศรีลังกา

01 ส.ค. 2565 | 10:50 น.
อัปเดตล่าสุด :01 ส.ค. 2565 | 18:17 น.

“พิสิฐ ลี้อาธรรม” ชี้ไทยกินบุญเก่า ถ้าไม่ได้ทำอะไรให้ดี อาจเข้าตาจนแบบประเทศศรีลังกาได้ แนะทางออก ต้องแก้ด้วยคุณภาพ ไม่ใช่แก้ด้วยปริมาณ การทำงานภาครัฐต้องทำให้โปร่งใส

นายพิสิฐ ลี้อาธรรม ประธานนโยบายพรรคประชาธิปัตย์ เปิดเผยในงานสัมมนา Thailand Survival ไทยจะรอดอย่างไรในวิกฤตโลก หัวข้อเศรษฐกิจไทยจะก้าวผ่านอย่างไร ว่า ต้องยอมรับว่าปัจจุบันประเทศไทยกำลังกินบุญเก่าในแง่ต่าง ๆ ทั้งตัวเลขบัญชีดุลการชำระเงิน และบัญชีงบประมาณ 

 

เริ่มจากบัญชีดุลการชำระเงินในอดีตประเทศไทยมีตัวเลขดุลการค้า ดุลบัญชีเดินสะพัด เกินดุลมาตลอดปีละ 5-6 แสนล้านบาท แต่ในช่วงครึ่งปีแรกของปี 2565 ดุลการค้าของไทยขาดดุลไป 2 แสนล้านบาท เช่นเดียวกับมีเงินทุนไหลออกในช่วง 2 เดือนที่ผ่านมาประมาณ 5 หมื่นล้านบาท เพราะต่างชาติทยอยนำเงินออกจากตลาดตราสารหนี้

นายพิสิฐ ลี้อาธรรม ประธานนโยบายพรรคประชาธิปัตย์

 

ดังนั้นจึงทำให้ดุลเดินสะพัดจึงติดลบตั้งแต่ปีที่แล้ว เพราะราคาน้ำมันเพิ่มสูงขึ้น และจำนวนนักท่องเที่ยวต่างชาติไม่ได้เดินทางเข้ามาในประเทศ จากที่เคยได้สูงถึง 1.8 ล้านล้านบาท โดยหากนำตัวเลขรายได้จากนักท่องเที่ยวที่ผ่านมา 2 ปี จะทำให้รายได้ประเทศหายไปถึง 3 ล้านล้านบาท เท่ากับงบประมาณประเทศ

 

“ในช่วง 2 ปีที่ผ่านมาประเทศไทยบอบช้ำมาก แต่ก็ต้องยอมรับว่า ประเทศไทยเก่งมากในการปรับตัวอยู่รอดได้ แม้จะไม่ถึง 100% ก็ตาม โดยดุลบัญชีเดินสะพัดต้องยอมรับว่า จากการส่งออกที่ดี ทำให้ไม่มีปัญหา ขณะที่อีกข้างคือบัญชีงบประมาณ แต่ละปีมีรายได้ตกต่ำปีละ 3 แสนล้านบาท เพราะรายได้ไม่เข้า เก็บภาษีไม่ได้ แถมยังต้องปั๊มเงินไปแก้โควิดอีก 1.5 ล้านล้านบาท ทำให้หนี้สาธารณะต่อจีดีพีพุ่งจาก 40% ไปอยู่ที่กว่า 60% ในตอนนี้”

 
นายพิสิฐ กล่าวว่า ตอนนี้เมื่อดูตัวเลข และตัวเงินที่เกิดขึ้นในปัจจุบัน ก็เห็นได้ชัดว่า ประเทศไทยกำลังกินบุญเก่าอยู่ และถ้าไม่ได้ทำอะไรให้ดีก็อาจทำให้เข้าตาจนแบบประเทศศรีลังกาได้ ทั้งหมดนี้คือปัญหาที่รออยู่ข้างหน้า และแนวทางแก้ไขต้องแก้ด้วยคุณภาพ ไม่ใช่แก้ด้วยปริมาณคือตัวเลข เพราะอดีตเรามีเงิน และมีคนมาทำงาน แต่ตอนนี้ไม่มีแล้ว

 

นอกจากนี้ในเรื่องของการแก้ปัญหาทางด้านการเงินนั้น ตอนนี้มีการนำเสนอเสนอกฎหมายเข้าที่ประชุมสภาผู้แทนราษฎร ให้ธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) มีส่วนเข้ามาชี้แจงในต่อที่ประชุมสภา เพื่อเป็นกระบอกเสียงให้ประชาชนทั่วประเทศเข้าใจการเงินมากขึ้น ด้วย

 

ขณะที่การทำงานภาครัฐต้องทำให้โปร่งใส โดยที่ผ่านมารัฐบาลเบียดบังเงินที่อยู่กับเกษตรกร เช่น ธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์การเกษตร (ธกส.) มีเงินรัฐบาลตกค้างกว่า 8 แสนล้าน รวมทั้งธนาคารออมสิน ที่รัฐบาลมีเงินค้างอีกกว่า 4 หมื่นล้านบาท ทั้งหมดนี้รัฐบาลต้องหาทางเอาเงินมาคืน เพื่อให้ธกส.เอาไปช่วยเกษตรกร และให้ออมสิน เอาเงินมาคืนช่วยผู้ประกอบการ SME ต่อไป