นายวรภพ วิริยะโรจน์ ทีมเศรษฐกิจ พรรคก้าวไกล กล่าวในงานสัมมนา Thailand Survival ไทย…จะรอดอย่างไรในวิกฤติโลก ในหัวข้อ เศรษฐกิจไทยจะก้าวผ่านอย่างไร ว่า เรามองเรื่องนี้ไว้ทั้งหมด 4 ประเด็นที่ไทยมีความจำเป็นเร่งด่วนที่จะต้องเปลี่ยนแปลงแนวนโยบายจากเดิม ประกอบด้วย 1.การยกระดับสวัสดิการที่สร้างเศรษฐกิจ เพราะสวัสดิการเป็นสิ่งจำเป็นสำหรับไทย แต่ที่ผ่านมามุ่งเน้นสวัสดิการที่ใช้แล้วหมดไปสมควรจะเปลี่ยนเข้ามาเป็นสวัสดิการที่สร้างเศรษฐกิจมากขึ้น เช่น โครงการคนละครึ่ง ต้องยอมรับว่าโครการนี้ไม่ใช่นโยบายที่ไม่ดี เพราะเฟสแรกที่ออกมามีผลตอบรับที่ดีมาก มีการจูงใจเปลี่ยนผู้คนมาใช้เทคโนโลยีมากขึ้น แต่เมื่อมีเฟสที่ 2-เฟส 5 วงเงินราว 2 แสนล้านบาท พิสูจน์แล้วว่าสวัสดิการแบบนี้สามารถพาประเทศไทยไปไกลกว่านี้ไม่ได้ ควรเพิ่มสวัสดิการที่สร้างเศรษฐกิจไปด้วยมากขึ้น เช่น หากภาครัฐช่วยอุดหนุนค่าผ่อนบ้านให้กับผู้มีรายได้น้อย ประมาณ 10,000-20,000 บาท มีโอกาสเป็นเจ้าของบ้านได้มากขึ้น ซึ่งการเป็นเจ้าของบ้านถือเป็นสวัสดิการ ทำให้มีชีวิตที่มั่นคงมากขึ้นทั้งตนเองและครอบครัว รวมถึงหากมองบ้านเป็นสินทรัพย์การเกษียณอย่างหนึ่ง เพราะปัจจุบันบ้านสามารถเปลี่ยนแปลงเป็นบำนาญได้โดยสินเชื่อที่อยู่อาศัยสำหรับผู้สูงอายุ (Reverse Mortgage) ดังนั้นไม่ว่าจะเป็นเงินออมเพื่อการเกษียณทั้งหมด ไม่ว่าจะเป็นกองทุนรวมเพื่อการเลี้ยงชีพ (RMF), กองทุนสำรองเลี้ยงชีพ (Provident Fund), ประกันสังคม สามารถถอนออกมาเพื่อดาวน์บ้านได้ ทำให้เกิดความต้องการภาคเศรษฐกิจแบบที่ไม่เคยเกิดขึ้นมาก่อน ช่วยสร้างสวัสดิการให้กับ 100,000 ครอบครัว คิดเป็น 1%ของ GDP จากเดิมที่เติบโตเพียง 3%
2.การส่งเสริมระบบเศรษฐกิจ SMEs มากขึ้น เนื่องจากแนวนโยบายที่ผ่านมาของไทยละเลยการให้ความสำคัญกับเอสเอ็มอีน้อยไป ปัจจุบันสัดส่วนของเอสเอ็มอีอยู่ที่ 35% หากเทียบกับระบบเศรษฐกิจที่พัฒนาแล้วอยู่ที่ 50% อีกทั้งเอสเอ็มอีเป็นกลไกที่สำคัญกับระบบเศรษฐกิจมาก ซึ่งจะทำให้เกิดการแข่งขันการสร้างนวัตกรรมเพิ่มประสิทธิภาพให้กับระบบเศรษฐกิจ ช่วยแข่งขันกับตลาดโลกได้ เช่น หวยเอสเอ็มอี ที่มีการซื้อผ่านแอพพลิเคชั่นเป๋าตัง โดยทุกๆ 500 บาท สามารถนำไปแลกสลากได้ 1 ใบต่องวด จะช่วยสร้างแรงจูงใจสนับสนุนเอสเอ็มอีของผู้บริโภคอย่างกว้างขวาง ซึ่งเป็นมาตรการที่ถาวรและเป็นการใช้งบประมาณเพียงนิดเดียวของโครงการคนละครึ่งเท่านั้น รวมทั้งภาคธุรกิจซื้อสินค้าบริโภคกลุ่มเอสเอ็มอีเพิ่มสามารถหักภาษีค่าใช้จ่ายได้ ถือเป็นการสร้างแรงจูงใจให้ภาคธุรกิจหันมาสนับสนุนเอสเอ็มอีในซับพลายเชนมากขึ้น ทำให้เปลี่ยนเป็นระบบเศรษฐกิจกินแบ่งในซับพลายเชน
นายวรภพ กล่าวต่อว่า 3. การปลดล็อคอุปสรรคระบบเศรษฐกิจ เช่น การยกเลิกกฎหมายที่ซ้ำซ้อน โดยภาคเอกชนทราบดีว่าไทยมีกฎหมายที่ซ้ำซ้อนและไม่จำเป็นค่อนข้างมาก ทำให้เกิดผลเสียตามมาจากการเกิดส่วยในระบบเศรษฐกิจ ดังนั้นจึงมีการเรียกร้องให้แก้ไขกฎหมายครั้งใหญ่ ซึ่งมีการศึกษามาแล้ว แต่ยังไม่มีผลบังคับใช้ อีกทั้งมีกฎหมายออกมาที่ระบุว่าภาครัฐเป็นคนประเมินผลสัมฤทธิ์ของกฎหมายตนเอง เชื่อว่าคงไม่ได้รับการแก้ไข แต่ควรปรับเปลี่ยนให้เอกชนเป็นผู้ชี้รายละเอียดแทนภาครัฐว่ากฎหมายใดที่ซ้ำซ้อนและไม่จำเป็น โดยให้ภาครัฐเป็นผู้ปกป้องกฎหมายนั้นๆว่ามีประโยชน์ต่อสาธารณะมากกว่าต้นทุนในการบังคับใช้หรือไม่
“สำหรับกฎหมายที่มีความซ้ำซ้อน เช่น กฎหมายแรงงานต่างด้าวที่มีการรายงานตัวทุกๆ 90 วัน ในเมื่อมีการรายงานตัวผ่านระบบประกันสังคมอยู่แล้ว หากปลดล็อคระเบียบกฎหมายดังกล่าว ทั้งขั้นตอนดำเนินการและงบประมาณผ่านประกันสังคมที่ง่ายขึ้น จะช่วยปลดล็อคระบบเศรษฐกิจไทยได้มหาศาลและยุติการผูกขาดโดยรัฐ”
ส่วนประเด็นสุดท้าย 4.การพัฒนาทรัพยากรมนุษย์ ทุกธุรกิจหรือองค์กรจะรุ่งหรือร่วงอยู่ที่ทรัพยากรมนุษย์ ประเทศไทยก็เช่นเดียวกัน ที่ผ่านมาทราบว่าสำนักงานคณะกรรมการส่งเสริมการลงทุน (บีโอไอ) ยอมรับถึงข้อจำกัดที่สำคัญในการดึงดูดนักลงทุนไม่ใช่สิทธิประโยชน์ แต่คือทรัพยากรมนุษย์ ปัจจุบันหลายองค์กรหาผู้ที่มีทักษาะการทำงานยากมากขึ้น ขณะเดียวกันผู้ที่ตกงานคือผู้ที่จบปริญญา สะท้อนว่าภาคการศึกษาควรมีการเปลี่ยนแปลง จากเดิมรัฐสนับสนุนเงินตามจำนวนนักเรียนหากมีสิทธิได้เรียน แต่ในอนาคตควรเปลี่ยนให้ภาคการศึกษาเชื่อมกับภาคเอกชนมากขึ้น เพื่อสามารถพัฒนาทรัพยากรมนุษย์ที่สอดคล้องกับระบบเศรษฐกิจมากขึ้น เช่น หากภาครัฐสนับสนุนสหกิจศึกษาเพิ่มขึ้นในการให้เรียนและทำงานไปพร้อมกัน โดยภาครัฐช่วยและภาคเอกชนเป็นผู้ว่าจ้าง เมื่อเรียนจบจะทำให้นักเรียนมีงานทำแน่นอน ทำให้มีทรัพยากรมนุษย์ตอบโจทย์กับระบบเศรษฐกิจในสายวิชาชีพ มีทักษะที่สอดคล้องกับระบบเศรษฐกิจ ซึ่งเป็นขั้นแรกที่จะเชื่อมภาคการศึกษาและระบบเศรษฐกิจด้วยกัน ทั้งนี้ในอนาคตขั้นตอนต่อไปคือการเชื่อมระบบเศรษฐกิจการวิจัยนวัตกรรมร่วมกับเอกชนมากขึ้น ทำให้ประเทศไทยสามารถหลุดพ้นจากกับดักรายได้ปานกลาง
“สิ่งสำคัญที่มีความจำเป็นในตอนนี้ คือ การออกมาตรการระยะสั้น หากเอกชนจ้างงานเพิ่ม โดยภาครัฐต้องช่วยจ้าง ซึ่งเป็นการกระตุ้นเศรษฐกิจที่เร็วที่สุดและสามารถทำได้ เพราะมีข้อมูลผ่านระบบประกันสังคมอยู่แล้ว”
นายวรภพ กล่าวต่อว่า เราไม่สามารถผลักดันดิจิทัลอีโคโนมีหรือดาต้าอีโคโนมีไปไกลกว่านี้ได้ ถ้ายังขาด KPI ซึ่งจะต้องมีมาตรฐานกลางในการแลกเปลี่ยนข้อมูลซึ่งกันและกันระหว่างภาครัฐกับภาครัฐหรือภาครัฐกับภาคเอกชน ถือเป็นปัญหาต้นตอที่มีการพูดถึงไทยแลนด์ 4.0 ที่ไม่เกิดขึ้นเพราะสิ่งเหล่านี้ไม่เกิดขึ้นในหน่วยงานภาครัฐ เมื่อมีการเปิดมาตรฐาน KPI เกิดขึ้นแล้ว สามารถดำเนินการผ่านระบบแพลตฟอร์มออนไลน์ของภาครัฐ (E-Service) ได้ ซึ่งจะทำให้เกิดนวัตกรรมทางการเงินเพิ่มขึ้นจากการใช้เทคโนโลยีเข้ามาช่วยแก้ปัญหา
“ด้านปัญหาค่าแรงขั้นต่ำควรมีการปรับขึ้น เพราะเราไม่ควรปล่อยให้ภาระค่าใช้จ่ายที่เกิดขึ้นจากเงินเฟ้อ ให้ลูกจ้างเป็นผู้รับภาระเพียงฝ่ายเดียว ขณะเดียวกันสิ่งที่ผู้ประกอบการไม่อยากเห็นมากที่สุด คือการกระโดดของค่าแรงขั้นต่ำ ควรกลับมาคุยกันว่าค่าแรงควรขึ้นตามเงินเฟ้อและมีกติกาที่ชัดเจน ซึ่งจะเป็นธรรมต่อทุกฝ่าย รวมทั้งต้องดูเอสเอ็มอี ในการนำค่าใช้จ่ายค่าแรงหักภาษีเพิ่มด้วย ซึ่งจะช่วยแบ่งเบาผู้ที่อ่อนแอที่สุดคือเอสเอ็มอี”
ทั้งนี้การปรับโครงสร้างหนี้ควรเพิ่มสิทธิ์ลูกหนี้สามารถเจรจาการปรับโครงสร้างหนี้กระจุกกับเจ้าหนี้ทุกรายพร้อมกัน ซึ่งจะต้องแก้ไขในพ.ร.บ.ล้มละลาย และเพิ่มงบประมาณให้กับบรรษัทประกันสินเชื่ออุตสาหกรรมขนาดย่อม (บสย.) ในการช่วยค้ำประกันหนี้เสียให้กับสถาบันทางการเงินมากขึ้น เพื่อให้สถาบันทางการเงินสามารถปล่อยกู้กับเอสเอ็มอีได้ รวมทั้งการเพิ่มข้อมูลในระบบทางการเงิน โดยสถาบันการเงินจะปล่อยสินเชื่อให้กับเอสเอ็มอีได้ หากมีข้อมูลระบบบริการจัดทำและนำส่งข้อมูลใบกำกับภาษีอิเล็กทรอนิกส์และใบรับอิเล็กทรอนิกส์ (e-Tax invoice) เพื่อดำเนินการในรูปแบบ Digital Factoring ซึ่งเป็นกลไกสำคัญที่บังคับให้ผู้ประกอบการรายใหญ่ทั้งหมดเข้าระบบ e-Tax invoice ที่จะช่วยให้เอสเอ็มอีสามารถดำเนินการดังกล่าวได้