ผู้สื่อข่าวรายงานว่า เมื่อเร็ว ๆ นี้ที่ห้องประชุมตอบแทนคุณแผ่นดิน ชั้น 2 ท่าอากาศยานแม่ฟ้าหลวงเชียงราย นายนิตินัย ศิริสมรรถการ กรรมการผู้อำนวยการใหญ่ บริษัท ท่าอากาศยานไทย จำกัด (มหาชน) หรือ ทอท. พร้อมคณะผู้บริหาร แถลงโครง การ “ทะเลบินได้” ร่วมกับ นายเอนก ใจชื่น สหกรณ์จังหวัดเชียงราย นางสาวจารุวรรณ สกุลสอน ผู้ประสานงานกลุ่มสหกรณ์ประมงภาคใต้ และหน่วยงานองค์กรที่เกี่ยวข้องทั้งภาครัฐและเอกชน
โครงการทะเลบินได้ เป็นความร่วมมือระหว่างกรมส่งเสริมสหกรณ์ กระทรวงเกษตรและสหกรณ์การเกษตร กับเกษตรกรโดยผ่านสหกรณ์การเกษตรต่างๆในพื้นที่ กับ ทอท. บริษัท ยูนิเวอร์แซล แอร์คาร์โก โซลูชั่น จำกัด (UACS) และสายการบินไทยเวียตเจ็ทแอร์ เพื่อขนส่งขนสินค้าสัตว์นํ้าทะเลของกลุ่มชาวประมงชายฝั่งขึ้นมาที่ภาคเหนือ เพื่อเป็นการช่วยเหลือเกษตรกร ทำให้ให้ผู้บริโภคทางภาคเหนือได้รับประทานอาหารทะเสดๆ จากทางภาคใต้
โดยเที่ยวบินนำร่องได้นำสินค้าอาหารทะเลสดๆ เช่น กุ้งมังกร และสัตว์นํ้าทะเล นํ้าหนักรวมประมาณ 3,000 กิโลกรัม ขึ้นเครื่องจากท่าอากาศยานภูเก็ต ลงเครื่องที่ท่าอากาศยานแม่ฟ้าหลวงเชียงราย โดยมีสำนักงานสหกรณ์จังหวัดเชียงราย เป็นผู้ประสานความร่วมมือไปยังสหกรณ์จังหวัดชมรมร้านอาหารจังหวัด สมาคมท่องเที่ยวจังหวัด ใน 5 จังหวัดภาคเหนือตอนบน คือ จังหวัดเชียงราย พะเยา ลำปาง เชียงใหม่และจังหวัดลำพูน ให้ช่วยกระจายสินค้าไปสู่ผู้บริโภค ที่มีความต้อง การบริโภคอาหารทะเลสด ๆ
นายนิตินัย ศิริสมรรถการ กรรมการผู้อำนวยการใหญ่ ทอท. กล่าวว่า โครงการลักษณะแบบนี้เป็นโครงการที่ดี เป็นการส่งเสริมให้มีการแลกเปลี่ยนสินค้าข้ามภาค ระหว่างภาคเหนือกับภาคใต้และหากเป็นไปได้ก็จะมีโครงการลักษณะเดียวกันนี้กับทางภาคอื่นด้วย อาทิ ภาคใต้กับอีสาน เป็นต้นเป็นการสร้างความเข้มแข็งให้กับภาคการผลิตและภาคอุตสาหกรรมในการขนส่งสินค้าอาหารสดทางอากาศ ให้ถึงมือผู้บริโภคได้เร็วที่สุด
ทั้งนี้ ทอท. เห็นศักยภาพของท่าอากาศแม่ฟ้าหลวงเชียงรายที่มีความพร้อมในทุกด้าน ทั้งมีสายการบินให้บริการบินข้ามภาคที่สำคัญที่สุดจังหวัดเชียงรายมีความได้เปรียบทางภูมิศาสตร์ที่ตั้ง เนื่องจากเป็นประตูเศรษฐกิจที่สำคัญ ซึ่งสามารถติดต่อค้าขายเชื่อมโยงกับประเทศเพื่อนบ้านได้ถึง 2 ประเทศ คือ สปป.ลาว และสาธารณรัฐแห่งสหภาพเมียนมา และต่อเนื่องไปถึงมณฑลทางตอนใต้ของประเทศจีนได้อีกด้วย
ที่ผ่านมา ทอท.มีนโยบายที่เน้นการขนส่งคนมาโดยตลอด แต่ว่าจากนี้เป็นต้นไป ทอท.จะทำการบุกตลาดการขนส่งสินค้าทางอากาศให้มากขึ้นกว่าเดิม และได้จัดตั้งบริษัทลูกขึ้นมารับผิดชอบการขนส่งทางสินค้าอากาศแล้ว
ด้านนายอเนก ชื่นใจ สหกรณ์จังหวัดเชียงราย เปิดเผยว่า ช่วงวิกฤติโควิด-19 มีพืชผลทางการเกษตรหลายชนิด ที่ผลิตออกมาแล้วล้นตลาดไปจนถึงขายไม่ได้ กระทรวงเกษตรฯพยายามหาทางช่วยเหลือ โดยผ่านสหกรณ์กลุ่มต่างๆ ให้เป็นผู้รวบรวมผลผลิตคุณภาพเกรดเอ เช่น ที่จังหวัดพะเยาได้รวบรวมลิ้นจี่ ส่งขึ้นเครื่องไปลงภูเก็ต ที่จังหวัดเชียงรายรวบรวมสับปะรดภูแล-นางแล ส่งขึ้นเครื่องลงไปที่หาดใหญ่ จ.สงขลา
เร็วๆ นี้ คาดว่าจะต้องโครงการส้มโอเวียงแก่นบินได้ ขนส้มโอเวียงแก่น ขึ้นเครื่องไปลงที่ท่าอากาศยานภูเก็ตและสงขลาเช่นกัน เนื่องจากปีนี้มีผลผลิตจำนวนมาก ต้องเร่งกระจายสินค้าให้ได้มากที่สุด ทดแทนการส่งออกไปประเทศจีนที่ทำได้ลดลงจากวิกฤตโควิด-19
สอดคล้องกับ นางสาวจารุวรรณ สกุลสอน ผู้ประสานงานกลุ่มสหกรณ์ประมงภาคใต้ ที่บอกว่า ผู้ประกอบการประมงชายฝั่ง ก่อนโควิด-19 ภาคใต้มีนักท่องเที่ยวมาก ทำให้ผลผลิตที่มีแทบจะไม่พอต่อความต้องการแต่เมื่อเจอวิกฤติิควิด-19 สินค้าที่ได้จากการเพาะเลี้ยงประมงชายฝั่ง ก็ประสบปัญหาเรื่องของการตลาด
การแลกเปลี่ยนสินค้าระหว่างภาคเป็นการช่วยเหลือซึ่งกันและกัน ต้องขอบคุณภาครัฐที่ช่วยประสาน รวมถึงการอนุเคราะห์จาก ทอท. บริษัทขนส่งสินค้าทางอากาศ และสายการบิน โดยล็อตแรกคิดค่าขนส่งไม่สูงมากนัก เชื่อว่าผู้บริโภคชาวเหนือจะเข้าถึงสินค้าอาหารทะเลสด ที่กลุ่มสหกรณ์ประมงภาคใต้จัดนำมาส่งให้
ด้านนาวาอากาศตรีสมชนก เทียมเทียบรัตน์ ผู้อำนวยการท่าอากาศยานแม่ฟ้าหลวงเชียงราย ระบุว่า ทอท.มีนโยบายสนับสนุนให้ท่าอากาศยานแม่ฟ้าหลวงเชียงราย เป็นศูนย์กลาง (Hub) การขนส่งสินค้าภาคการเกษตรทางอากาศ ซึ่งจะทำให้เชียงรายเป็นศูนย์กลางของ Emerging Markets (ระบบเศรษฐกิจของตลาดเกิดใหม่) ของประเทศไทยหรือของภาคเหนือ
การขนส่งสินค้าทางอากาศจะช่วยยกระดับราคาของสินค้าให้สูงขึ้น โดยผู้บริโภคได้สินค้าที่สดใหม่ จากภาคเหนือลงไปภาคใต้ หรือจากภาคใต้ขึ้นมาภาค เหนือในเวลาไม่กี่ชั่วโมง แต่ว่าอยู่ในราคาที่เชื่อว่าผู้บริโภคชาวไทยจับต้องได้
“ทอท.มั่นใจว่าท่าอากาศ ยานแม่ฟ้าหลวงเชียงราย จะร่วมช่วยเหลือเกษตรกรและผู้บริโภค และยินดีที่จะเป็นกลจักรสำคัญเพื่อนำไปสู่ความสำเร็จ” ผู้อำนวยการท่าอากาศยานแม่ฟ้าหลวงเชียงราย ระบุ
ชัยณรงค์ สีนาเมือง/รายงาน
หน้า 10 หนังสือพิมพ์ฐานเศรษฐกิจ ปีที่ 42 ฉบับที่ 3,706 วันที่ 4-6 สิงหาคม พ.ศ.2565