“ประมงพื้นบ้าน” ตาม มาตรา 5 แห่งพระราชกำหนดการประมง พ.ศ. 2558 หมายความว่า การทำการประมงในเขตทะเลชายฝั่งไม่ว่าจะใช้เรือประมง หรือใช้เครื่องมือโดยไม่ใช้เรือประมง ทั้งนี้ ที่มิใช่เป็นประมงพาณิชย์ ส่วน “ประมงพาณิชย์” หมายความว่า การทำการประมงโดยใช้เรือประมงที่มีขนาดตั้งแต่สิบตันกรอสขึ้นไป หรือเรือประมงที่ใช้เครื่องยนต์มีกำลังแรงม้าถึงขนาดที่รัฐมนตรีประกาศกำหนด ซึ่งทุก 2 ปี รอบการประมงจะต้องมาขอรับใบอนุญาตทำการประมง แต่ประมงพื้นบ้านไม่ต้องขออนุญาต แต่ล่าสุดมีความเคลื่อนไหวจากกรมประมงว่าจะมีการออกใบอนุญาตทำการประมงพื้นบ้านที่ปัจจุบันมีกว่า 5.1 หมื่นลำ ในเร็ว ๆ นี้
นายพัฒนพงศ์ ชูแสง ผู้อำนวยการกองบริหารจัดการทรัพยากรและกำหนดมาตรการ กรมประมง เผยกับ “ฐานเศรษฐกิจ” ว่า เมื่อวันที่ 26 กรกฎาคม ที่ผ่านมา ได้มีการประชุมเจ้าหน้าที่กองกฎหมาย เจ้าหน้าที่กองวิจัยและพัฒนาประมงทะเล และเจ้าหน้าที่กลุ่มทะเบียนและอนุญาตทำการประมงที่เกี่ยวข้องที่ได้เข้าร่วมฝึกอบรมหลักสูตรสำหรับเจ้าหน้าที่ผู้ดูแลระบบ โครงการระบบการออกใบอนุญาตทำการประมงพื้นบ้านที่มีกำหนดจะคลอดในเร็ว ๆ นี้
“ในหลักการเรือประมงพื้นบ้านที่จะได้รับใบอนุญาตต้องเป็นคนไทย เป็นเรือพื้นบ้านขนาดต่ำกว่า 10 ตันกรอส ซึ่งในรายละเอียดกำลังหารือกันอยู่โดยเฉพาะกลุ่มของสมาคม, องค์กร เกี่ยวข้องกับประมงพื้นบ้าน 22 หรือ 23 จังหวัด (กทม.) ซึ่งในส่วนของเรื่องของเครื่องมือทำประมงอาจมีบางส่วนที่เป็นประเภทเดียวกับเรือประมงพาณิชย์ อาทิ อวนติดตา อวนลอย เป็นต้น”
ทั้งนี้ยกเว้น 7 เครื่องมือ ตามประกาศของกระทรวงเกษตรและสหกรณกำหนด ได้แก่ อวนลากคู่, อวนลากแผ่นตะเฆ่, อวนลากคานถ่าง, อวนล้อมจับ (มีสายมาน) อวนล้อมจับปลากะตัก, คราด ทุกชนิดประกอบเรือกล เรือประกอบเครื่องกำเนิดไฟฟ้า (เรือปั่นไฟ) ไม่ว่าจะเป็นเรือขนาดไหน หากใช้เครื่องมือทำการประมงข้างต้นให้ถือเป็นประมงพาณิชย์ ส่วนเครื่องมืออื่นที่ไม่ได้กำหนด จะมีการแบ่งตามขนาดของเรือ เช่น ใช้เครื่องมือ เบ็ดเรือออกทำประมง ด้วยเรือขนาด 10 ตันกรอส ขึ้นไปก็จัดเป็นประมงพาณิชย์ เป็นต้น
สำหรับการออกใบอนุญาตทำการประมงพื้นบ้าน กรมประมงจะต้องประกาศว่ามีเครื่องมือประมงอะไรบ้างที่ใช้ในประมงพื้นบ้าน ชนิดใด ขนาดใด ใครใช้ต้องขออนุญาต แต่ถ้ากรมประมงไม่ประกาศก็ไม่ต้องขออนุญาต หรือขออนุญาตการมีเรือ ส่วนทำประมงที่ไม่มีเรือก็ไม่ต้องขออนุญาต เป็นต้น ทั้งนี้หากมีข้อกำหนดออกมาแล้วถ้าไม่ปฏิบัติตามจะมีโทษร้ายแรง ซึ่งกฎหมายไม่ได้แยกว่าเป็นเรือประมงพื้นบ้านหรือพาณิชย์ ดังนั้นจึงจำเป็นที่จะต้องทำอย่างรอบคอบเพื่อไม่ให้กระทบกับชาวบ้าน
ด้านนายสะมะแอ เจะมูดอ นายกสมาคมสมาพันธ์ชาวประมงพื้นบ้านแห่งประเทศไทย กล่าวว่า เป็นหนึ่งในข้อเรียกร้องของสมาคมสมาพันธ์ชาวประมงพื้นบ้านฯ อยู่แล้วที่ต้องการทำให้ถูกต้อง เหมือนเราไปเรียกร้องให้อีกฝั่งหนึ่ง (ประมงพาณิชย์) ทำให้ถูกต้อง แต่กลายเป็นว่าเราเองก็ไม่ถูกต้องตามกฎหมาย จึงเป็นสิ่งที่อยากจะทำให้ถูกต้อง เพราะเวลากำหนดออกเป็นกฎหมายแล้วแก้ยาก
ดังนั้น อยากจะเสนอให้ขึ้นทะเบียนแบบครอบคลุมเครื่องมือ ไม่ต้องแยกรายชนิด เพื่อความสะดวกชาวประมงในการจับสัตว์น้ำ และสิ่งที่เป็นข้อกังวลก็คือ ประมงพื้นบ้านห้ามทำการประมงนอกเขตทะเลชายฝั่ง ทั้งนี้ให้อธิบดีสามารถที่จะกำหนด อนุญาตให้ทำการประมงได้ เป็นกรณีพิเศษ
แหล่งข่าวจากกรรมการในคณะกรรมการนโยบายการประมงแห่งชาติ เผยว่า จากที่ประเทศไทยต้องปฏิบัติตามกฎหมายสหรัฐอเมริกา ว่าด้วยการนำเข้าสินค้าสัตว์น้ำเพื่อคุ้มครองสัตว์ทะเลที่เลี้ยงลูกด้วยนม (Marine Mammal Protection Act : MMPA ) MMPA ที่จะมีผลบังคับใช้ในปี 2566 ซึ่งทางกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ได้มีการดำเนินการให้สอดรับกับกฎหมายดังกล่าวมาอย่างต่อเนื่อง ทำให้มั่นใจได้ว่าไทยสามารถปฏิบัติตามได้อย่างครบถ้วน
ทั้งนี้ สหรัฐฯเป็นประเทศคู่ค้าสินค้าสัตว์น้ำและผลิตภัณฑ์สัตว์น้ำอันดับ 1 ของไทย มีมูลค่าสูงถึง 3.99 หมื่นล้านบาท มี 16 เครื่องมือ ในบัญชี List of Foreign Fisheries 2020 : LOFF ถือว่ามีความเสี่ยง แบ่งเป็น 3 กลุ่ม คือ กลุ่มที่ 1.คาดการณ์ว่าอาจจะผ่านเกณฑ์ ประกอบด้วย 5 ชนิดเครื่องมือ ได้แก่ 1. เบ็ดมือ 2. อวนรุนเคย 3. อวนลากคานถ่าง 4. ลอบปลา และ 5 ลอบหมึกหอม
กลุ่มที่ 2 เครื่องมือที่มีแนวโน้มสูงที่จะไม่ผ่านเกณฑ์ ได้แก่ 1. อวนติดตา เนื่องจากมีรายงานสัตว์ทะเลเลี้ยงลูกด้วยนมตายเกินเกณฑ์ที่กำหนด และ 2. ลอบหมึกสาย มีรายงานการตายเกินเกณฑ์เช่นเดียวกัน และกลุ่มที่ 3 ยังเป็นที่ก้ำกึ่งว่าจะผ่านเกณฑ์หรือไม่ด้วยลักษณะของเครื่องมือ ได้แก่ 1. อวนล้อมจับปลากะตัก 2.อวนล้อมจับ 3. อวนลากแผ่นตะเฆ่ 4. อวนลากคู่ 5.ลอบปลาทรายแดง 6. เบ็ดราว 7. อวนลอยสามชั้น 8. ลอบปู และ 9.อวนลาก อย่างไรก็ดี แต่ผลสุดท้ายจะเป็นประการใดขึ้นอยู่กับการประเมินของสหรัฐฯตามข้อมูลที่รายงานไปในระบบ
หน้า 9 หนังสือพิมพ์ฐานเศรษฐกิจ ฉบับที่ 3,806 วันที่ 4-6 สิงหาคม 2565